จากผลการศึกษาโดยสถาบันสถิติขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) พบว่า ทั่วโลกมีเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก โดยมีเด็กในวัยประถมศึกษา 64 ล้านคน ในวัยมัธยมศึกษาตอนต้น 61 ล้านคน และในวัยมัธยมศึกษาตอนปลาย 138 ล้านคน ที่ไม่ได้รับการศึกษาที่พวกเขาควรจะได้รับ ซึ่งภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ประเทศไทยตั้งอยู่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีจำนวนของเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษามากที่สุด (ผลการสำรวจเมื่อสิ้นปีการศึกษา 2560) โดยสาเหตุที่อาจเป็นได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเพราะไม่ได้รับการศึกษาตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะอยู่ห่างไกลจากพื้นที่โรงเรียน ได้รับการศึกษาแล้วแต่ต้องออกกลางคันเพื่อช่วยที่บ้านทำงานหารายได้ หรือเพราะคิดว่าเรียนไม่ไหว ไม่ชอบสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียนก็ตาม

เครดิตภาพจาก : https://www.posttoday.com/social/general/251260

ในกรณีที่เด็กๆ ต้องออกนอกระบบการศึกษาเพราะฐานะของครอบครัวไม่ดี ถึงแม้ว่าการตัดสินใจเข้าสู่ตลาดแรงงานเต็มตัวแทนการได้รับการศึกษาอาจจะทำให้เกิดรายได้และช่วยประหยัดค่าเทอมและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องได้ก็จริง แต่ด้วยความที่ไม่มีวุฒิหรือมีวุฒิการศึกษาไม่สูงจึงทำให้งานที่หาได้และรายได้ที่ได้มาไม่มั่นคงและยั่งยืนเท่าไรนัก

หากอยู่ในระบบการศึกษาจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ย่อมมีผลดีในระยะยาวมากกว่าทั้งในแง่ฐานะทางเศรษฐกิจและการพัฒนาตนเอง เพราะสิ่งนี้สามารถทำให้เราเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานมากขึ้นได้เพราะคุณสมบัติเบื้องต้นของเราเพียงพอที่จะสมัครงานได้มากมายหลายตำแหน่ง และงานที่เป็นตัวเลือกก็จะครอบคลุมช่วงเงินเดือนเริ่มต้นที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ UNESCO เกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความยากจนและการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งพบว่า ถ้าผู้ใหญ่ทุกคนได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นอีกคนละ 2 ปีหรือจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาทุกคน จะทำให้คนกว่า 60 ล้านคนหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้ เพราะพวกเขาจะมีรายได้เพิ่มขึ้นและส่งผลให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ระดับการศึกษามีความสัมพันธ์กับเงินเดือนของผู้สมัครงาน โดยเฉลี่ยแล้ว หากสำเร็จการศึกษาในระดับการศึกษาสูงเท่าไร เงินเดือนเริ่มต้นก็สูงเท่านั้น และแน่นอนว่าเมื่อเรามีเงินเดือนที่เป็นรายได้สูงขึ้นก็ทำให้เราสามารถหาซื้อสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้นเช่นกัน โดยเห็นได้จาก Chart ด้านล่างจะเห็นว่า ยิ่งระดับการศึกษาสูงขึ้นเท่าไร สัดส่วนประชากรที่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนต่ำกว่าเส้นความยากจนก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น

ตารางแสดงสัดส่วนคนจนเมื่อวัดรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค (เฉพาะประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป)
จำแนกตามระดับการศึกษา ปี พ.ศ. 2550 – 2560

ที่มา : ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลผลโดย สำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

หมายเหตุ :
1.ไม่ได้นำการศึกษาอื่นๆ ประกอบด้วย หลักสูตรที่ไม่ได้วุฒิการศึกษา (เช่น การศึกษาปอเนาะ) การศึกษาที่เทียบระดับไม่ได้ (เช่น อิสลามศึกษาแผนกวิชาศาสนาอิสลาม) มาคำนวณรวมด้วย
2.สัดส่วนคนจน คำนวณจากจำนวนประชากรที่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนต่ำกว่าเส้นความยากจน (ซึ่งเป็นระดับรายจ่ายซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต) หารด้วย จำนวนประชากรทั้งหมด คูณด้วย 100

นอกจากนี้ เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานที่หลายๆ คนอาจมองข้ามไป คือ การพัฒนาระบบอัตโนมัติ (Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เทคโนโลยีสองสิ่งนี้คือตัวแปรสำคัญในอัตราการจ้างงานของมนุษย์ โดยทั้งสองอย่างนี้จะเริ่มเข้ามาแทนที่มนุษย์ในงานที่เน้นการใช้แรงงานซึ่งไม่บังคับว่าผู้สมัครต้องมีวุฒิการศึกษา เช่น งานคนขับรถ กรณีศึกษาคือกรณีของบริษัท Uber และ Lyft บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีการคมนาคม ทั้งสองบริษัทกำลังดำเนินการทำให้ไอเดียยานพาหนะไร้คนขับเป็นจริงขึ้นมา เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ทางบริษัทต้องจ่ายแก่คนขับได้ถึง 3 ใน 4 ส่วนต่อการรับงาน 1 เที่ยว หรือกรณีของบริษัท Alibaba บริษัทผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซของจีน ที่กำลังพัฒนาหุ่นยนต์ส่งของระยะไกล G Plus ที่ส่งได้ทั้งของทั่วไปหรืออาหารที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิระหว่างทางอย่างดี

ส่วนในกรณีของเด็กๆ ที่ไม่อยากไปโรงเรียนด้วยปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับฐานะทางเศรษฐกิจ เช่น ทะเลาะกับกลุ่มเพื่อน เรียนไม่รู้เรื่อง คิดว่าการเรียนไม่จำเป็น “ก็คนดังอย่าง มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Facebook ที่ออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันยังประสบความสำเร็จจนกลายเป็นมหาเศรษฐีได้เลยนี่” แต่ว่า มาร์ค ซักเคอร์เบิร์กเรียนไม่จบก็จริง แต่ไม่ใช่ว่าเขาออกจากมหาวิทยาลัยเพราะเรียนไม่ไหว เป็นเพราะเขามีความรู้และความสามารถพร้อมแล้ว รวมถึงรู้จักตัวเองเป็นอย่างดีว่าชอบอะไรแล้วตั้งใจจะทำอะไรให้สำเร็จ จึงตัดสินใจไม่เรียนต่อ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นแบบซักเคอร์เบิร์กได้ โดยทั่วไปเด็กและเยาวชนยังคงต้องการโรงเรียน/มหาวิทยาลัยในการพัฒนาตนเองทั้งในด้านทักษะความรู้และการใช้ชีวิตในอนาคตอยู่ โรงเรียน/มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่สุด เต็มไปด้วยแหล่งข้อมูลที่บรรจุความรู้ที่คนก่อนๆ รวบรวมเอาไว้แล้ว และเพื่อที่จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง เราจำเป็นต้องเรียนว่าอ่านอย่างไร จดโน้ต ถ่ายทอดต่อ และใช้ข้อมูลเหล่านั้นกับโลกที่เราเป็นอยู่ได้อย่างไร

นอกจากความรู้ที่ได้จากชั้นเรียนแล้ว โรงเรียนยังทำให้เราเข้าใจความหมายของมิตรภาพ เราต้องใช้เวลาอย่างน้อย 12 ปี (ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ในโรงเรียน รู้จักเพื่อนตั้งแต่สูงเท่าเอวคุณครูจนสูงกว่าคุณครูไปแล้ว การเติบโตขึ้นในช่วง 12 ปีนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกคนต้องเผชิญกับความอ่อนไหว อารมณ์ที่เปลี่ยนไปตามกลไกร่างกาย ความยากขึ้นของบทเรียน ความสับสนในทางเลือกเรียนต่อ และความกลัวในความไม่แน่นอนของอนาคต โรงเรียนคือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเติบโตในช่วงนี้ เช่น นอกจากการทำโจทย์วิชาคณิตศาสตร์จะสอนวิธีที่ถูกต้องในการแก้โจทย์แล้ว การบ้านชิ้นนี้ยังสอนให้เรารู้ว่าทุกปัญหามีทางออกแล้วพยายามแก้ปัญหาจนกว่าจะเจอทางออกให้ได้ โดยไม่สามารถวิ่งหนีปัญหาได้เหมือนชีวิตจริง

เมื่อเราเจอความท้าทายก็มีเพื่อนที่เผชิญสิ่งเดียวกันไปพร้อมๆ กัน เข้าใจกันได้อย่างง่ายดาย มีเพื่อนที่คอยอยู่ข้างกันเวลาลำบาก เวลาต้องปั่นรายงานไม่กี่ชั่วโมงก่อนส่งหรือต้องซ้อมนำเสนองานหน้าชั้นเรียน เวลาลืมว่ามีการบ้านก็มีเพื่อนคอยเตือน แล้วยังมีคุณครูคอยให้การสนับสนุนเราตลอดทางด้วย หนึ่งในความรู้สึกที่ดีที่สุดคือ การมีใครคนหนึ่งที่คอยให้การสนับสนุนเราและเชื่อในตัวเรา และโรงเรียนก็เป็นสถานที่หนึ่งที่มีโอกาสเจอความรู้สึกนี้ได้มากที่สุด นอกชั้นเรียนก็ยังมีกิจกรรมชมรมที่ให้โอกาสเด็กในการทำอะไรหลายอย่างที่ทำไม่ได้ที่บ้าน ไม่ว่าจะเพราะไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีพื้นที่ หรือไม่มีเวลา เช่น ชมรมดนตรีสากลและชมรมกีฬาต่างๆ ที่ทางโรงเรียนจัดหาอุปกรณ์ไว้ให้หมดแล้ว แถมได้เรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่มีผลได้ผลเสียน้อย ไม่มีการสอบมาทำให้รู้สึกกดดัน ทำให้ช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายจากการต้องอยู่กับบทเรียนยากๆ ทั้งวันได้

ส่วนมหาวิทยาลัยก็เป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมที่มีการแข่งขันสูงของวัยทำงานด้วย เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์รวมผู้คนหลากหลายความสนใจหลากหลายแนวคิดไว้ด้วยกัน การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยจึงสร้าง Connection (เครือข่ายคนรู้จัก) ให้กับนักศึกษาไปด้วย หลายคนอาจรู้จักทฤษฎีโลกใบเล็กหรือ Six Degrees of Separation ที่ว่า คนบนโลกใบนี้เชื่อมโยงถึงกันหมด ไม่ว่าจะสุ่มคน 2 คนบนโลกที่พื้นเพแตกต่างกันแค่ไหน ทั้ง 2 คนก็สามารถรู้จักกันได้โดยผ่านคนที่รู้จักกันเชื่อมเป็นทอดๆ ไม่เกิน 6 ช่วง สิ่งนี้เองที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการหางานหรือความก้าวหน้าทางอาชีพของคนคนหนึ่งในอนาคต ยิ่งรู้จักคนเยอะ โอกาสที่จะมีใครสังเกตเห็นความสามารถของเราก็เยอะตาม

เว็บไซต์ LinkedIn ก็เคยสำรวจเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลที่ทำให้รู้จักงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันเมื่อปี 2559 ผลการสำรวจจากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนประมาณ 3,000 คน พบว่า กว่า 85% ของผู้ตอบแบบสำรวจรู้จักและได้งานที่ทำอยู่ผ่านคนรู้จัก แต่แน่นอนว่า Connection ไม่สามารถการันตีความสำเร็จได้ และ Connection จะไม่มีประโยชน์ใดๆ หากเราไม่มีความสามารถหรือทักษะที่คู่ควรกับโอกาสตรงนั้น

การเรียนไม่เคยเป็นเรื่องง่าย ทั้งๆ ที่ตั้งใจฟังในห้องเรียน ให้เพื่อนช่วยติว อ่านหนังสือจนดึกดื่น แต่ทำไมคะแนนสอบออกมาถึงไม่เป็นตามใจหวังสักที จนท้อแท้ และคิดว่าเราไม่ฉลาด ความคิดยอมแพ้แบบนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายมากๆ ในสังคมโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่มีการแข่งขันสูงและมีผลกระทบต่ออนาคตอย่างมาก ผู้เขียนเองก็เคยเป็นนักเรียนคนหนึ่งที่ท้อแท้กับการเรียนวิชาที่ตัวเองไม่ถนัดมากๆ ผู้เขียนเคยสอบฟิสิกส์ได้ที่โหล่ของนักเรียนสายวิทย์-คณิตฯ ทั้งหมดในระดับชั้น ได้คะแนนแค่ 2/40 คะแนน ทั้งๆ ที่ตั้งใจอ่านสอบและท่องสูตร เกรดฟิสิกส์เทอมนั้นก็ได้แค่ 1.9 เรียกว่าเป็นครั้งแรกที่รู้สึกเหมือนโนบิตะ เพื่อนรักโดราเอมอนที่คิดว่าตัวเองไม่ได้เรื่องแล้วหมดกำลังใจจะพยายามต่อไป แล้วสุดท้ายผู้เขียนผ่านช่วงเวลาตรงนั้นมาได้อย่างไรกัน?

ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อตัวเองก่อน อย่าคิดว่าเราโง่ ทำไม่ได้หรอก อย่าโทษตัวเอง ทุกคนต่างก็มีสิ่งที่ไม่ถนัดกันทั้งนั้น แต่ที่สำคัญ คือ เราจะพยายามพัฒนาตัวเองในการทำสิ่งไม่ถนัดหรือเปล่า สถิติที่โหล่ของผู้เขียนก็ถือเป็นบทเรียน ผู้เขียนได้จดจำไว้เลยว่า “นี่คือจุดที่ต่ำที่สุดและจะไม่มีวันไปต่ำกว่านั้นอีก ต่อไปนี้จะมีแต่ขาขึ้น” เราจะเปลี่ยนทัศนคติใหม่กับกับวิชาฟิสิกส์และจะพยายามหาส่วนที่ชอบในวิชานี้ ถึงจะมีเพียงนิดหน่อยก็ยังดี ซึ่งก็พบว่าบทเรียนเรื่องดาราศาสตร์เป็นเรื่องที่เราชอบมากๆ และทำตั้งใจเรียน อยากให้ถึงบทเรียนนั้นเร็วๆ ผู้เขียนได้ตั้งใจอ่านหนังสือทบทวนหลายรอบมากขึ้น ลองทำโจทย์ยากๆ ที่ถ้าทำไม่ได้ก็ให้เพื่อนช่วยสอน หรือไม่ก็ถามอาจารย์หลังเลิกเรียน และผู้เขียนก็โชคดีมากที่มีพ่อแม่และคุณครูคอยให้กำลังใจว่า “ทำได้เสมอ” จนถึงเทอมสุดท้ายของ ม.6 ผู้เขียนไม่เคยได้ที่โหล่อีกเลยและได้เกรดฟิสิกส์เทอมสุดท้ายถึง 3.5

ชีวิตอาจเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คำถามที่ว่า งานที่เราจะได้ทำตอนเรียนจบจะคุ้มค่ากับเวลาเป็นสิบปีในระบบการศึกษาหรือไม่ ก็อาจจะผุดขึ้นมาหลายครั้งและนั่งครุ่นคิดกับเรื่องอนาคตตัวเองอยู่บ่อยๆ คำตอบของคำถามนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและความพยายามของเราในปัจจุบันที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางอนาคต การศึกษาช่วยเตรียมเราให้พร้อมด้วยการเพิ่มความรู้ เติมความสามารถ สอนทักษะสังคม รวมถึงสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นต่ออนาคตของเรา และไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับโอกาสนี้ เนื่องจากต้องแลกกับค่าใช้จ่ายและเวลามากมาย ในเมื่อเราได้รับโอกาสนี้แล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด เห็นคุณค่าของโอกาสตรงนี้ ไม่ท้อถอยเมื่อเจอกับความผิดหวัง เพราะสุดท้ายถ้าเราพยายามที่สุดแล้วก็ไม่มีอะไรต้องเสียดายหรือเสียใจ