ในร่างกายของมนุษย์มีองค์ประกอบที่ซับซ้อนมากที่สุด ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์หลายคนได้พยายามหาคำตอบมาเป็นเวลาหลายร้อยปี แต่ทว่ามีเพียงบางข้อเท่านั้นที่เพิ่งมีการค้นพบคำตอบ ร่างกายของคนเราประกอบไปด้วยหลายล้านล้านเซลล์มาประกอบกัน จนก่อเกิดเป็นอวัยวะ ระบบ จนครบองค์ประกอบทั้งหมด 32 อย่าง และเรามักจะใช้อวัยวะของเราทำกิจวัตรประจำวันหลายๆ อย่าง เป็นไปตามกลไกอัตโนมัติของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นยกมือตอบคำถามในชั้นเรียน, ผูกเชือกรองเท้าก่อนไปวิ่งออกกำลังกาย หรือการเพ่งหน้าจอมองมือถือในขณะที่มือกำลังพิมพ์ข้อความส่งหาเพื่อนและครอบครัว

ในปัจจุบันโทรศัพท์มือถือได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา พูดได้เลยว่าโทรศัพท์มือถือเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ของเราไปแล้ว เราใช้โทรศัพท์มือถือในการทำงาน, อัพเดตข่าวสารออนไลน์ ฯลฯ เพียงแค่ใช้อวัยวะอย่าง “มือ” สไลด์หน้าจอ หรือการใช้ “ปาก” ในการออกเสียงให้โทรศัพท์มือถือหาข้อมูลที่เราต้องการ ทำให้ทุกๆ คนสามารถบรรลุจุดประสงค์ในการใช้งานได้อย่างง่ายดาย

เราทุกคนก็คือผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือในทุกๆ วัน ทั้งในเรื่องการทำงาน หรือเพื่อความผ่อนคลายโดยการเข้าโซเชียลมีเดีย เพื่อดูคลิปวิดีโอบนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น วิดีโอสั้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวการ์ตูนที่ดึงความสนใจได้เป็นอย่างดี ชื่อคลิปว่า Mr. Different สร้างโดย Aryasb Feiz ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่งที่เอา “มือ” ล้วงกระเป๋ากางเกงตลอดเวลา ไม่ว่าเขาจะไปที่ไหนหรือเห็นใครทำอะไรก็ตาม มือคู่นั้นก็จะอยู่ในกระเป๋ากางเกงของเขาเสมอ จนวันหนึ่งระหว่างที่เขารอข้ามถนนอยู่นั้น ได้มีหญิงสูงอายุคนหนึ่งเดินเข้ามาและเธอคนนี้นี่เองที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของชายคนนี้ได้ เขาได้ค้นพบว่า “มือ” ของเขานั้นสามารถทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งการช่วยเหลือผู้คนที่กำลังเดือดร้อน, เข้าร่วมกิจกรรมสันทาการเพื่อส่งมอบความสุขให้กับคนอื่น, การลงชื่อเป็นจิตอาสาเก็บขยะบนชายหาด หรือการบริจาคเลือด

จะเห็นได้ว่าคนๆ หนึ่งสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอีกคนได้โดยไม่ต้องมีพละกำลังมหาศาลหรือบินได้อย่างเช่นฮีโร่ในหนัง แต่การกระทำเล็กๆ นี้ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนอื่นได้อย่างมหาศาลมากกว่าที่คิดเอาไว้ โดยในช่วงท้ายของวิดีโอ เมื่อผู้ชายคนนี้ได้เห็นถึงข้อดีในการได้ช่วยเหลือผู้อื่นโดยที่ไม่หวังผลตอบแทนแล้ว เขายังต้องการให้คนอื่นที่เคยเป็นเหมือนเขาได้เห็นถึงข้อดีในการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน

เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและส่งมอบพลังแห่งการช่วยเหลือนี้ให้กับคนอื่นๆ และสามารถทำได้ง่ายๆ แม้ว่าจะอยู่ที่บ้าน, บนรถเมล์ หรือขณะที่กำลังพักผ่อนอยู่ชายทะเล แค่มีอินเตอร์เน็ตก็สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้มากขึ้นแล้ว

“Be My Eyes” คือชื่อแอพพลิเคชั่น ที่สามารถบ่งบอกได้อย่างชัดเจนถึงสิ่งที่จะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ นั่นก็คือ “ดวงตา” แอพพลิเคชั่นนี้ได้รับรางวัลมากมาย ถูกก่อตั้งโดย Hans Jørgen  ชาวเดนมาร์ก แต่ตัวของเขาเองนั้นเป็นผู้พิการทางสายตา แน่นอนว่าเขาสามารถเข้าใจความรู้สึกของผู้พิการทางสายตาได้เป็นอย่างดี โดยแนวคิดของแอพพลิเคชั่นนี้มีเป้าหมาย คือ การเชื่อมต่อระหว่างผู้ที่มีความพิการทางสายตากับอาสาสมัครที่มีสายตาปกติทั่วโลก

การใช้งานของแอพพลิเคชั่นตัวนี้ไม่มีความซับซ้อน เมื่อดาวน์โหลดและลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ทางแอพจะมีการให้เราทดลองใช้งานเมื่อมีสายเรียกจากผู้พิการทางสายตา และหากเราไม่สามารถรับสายผู้ที่ขอความช่วยเหลือได้นั้น ปลายสายจะถูกตอบรับโดยผู้ที่สะดวกที่จะรับสายในขณะนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าหากเราไม่ได้รับสายแล้วจะทำให้ผู้ที่อยู่ปลายสายตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากหรือไม่   และเนื่องจาก Be My Eye เป็นแอพพลิเคชั่นที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างอาสาสมัครกับผู้ที่มีปัญหาทางสายตาได้ทั่วโลก ทางแอพพลิเคชั่นจึงได้มีฟังก์ชันในการเลือกภาษาที่ 1 ซึ่งเป็นภาษาที่เราถนัดที่สุด และยังสามารถเลือกภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากภาษาที่เราใช้ได้มากกว่า 1 ภาษาอีกด้วย โดยในตอนแรกที่แอพพลิเคชั่นนี้เปิดตัวสามารถใช้ได้กับระบบ iOS เท่านั้น แต่ในปัจจุบันทาง Be My Eyes ได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาเพื่อให้แอพรองรับกับระบบ Andriod ได้เช่นกัน อีกทั้งแอพพลิเคชั่นตัวนี้ได้มีการร่วมมือกับบริษัทต่างๆ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้ผู้พิการทางสายตาได้เข้าถึงการใช้งานผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นมากยิ่งขึ้น

คุณ Hans Jørgen ได้เล่าถึงความเป็นมาของ Be My Eyes ได้อย่างน่าสนใจในรายการ TED talk โดยเริ่มต้นด้วยคำถามว่า “คุณเคยคิดอาสาที่จะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นกว่านี้ซักนิดไหม?” ซึ่งหลายคนอยากที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น แต่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะไม่มีเวลา ในขณะที่เขากำลังยืนพูดอยู่นั้น ไฟในห้องสตูดิโอก็ดับลง เพื่อให้ผู้ฟังที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้นได้เข้าใจและสัมผัสได้ถึงปัญหาของผู้พิการทางสายตา โดยสมมุติว่าเมื่อเราไม่สามารถมองเห็นอะไรได้เลย แต่เราจำเป็นจะต้องทำอาหารอะไรง่ายๆ สักอย่าง แน่นอนว่ามันคงจะเป็นเรื่องง่าย หากเรามีสายตาปกติ เรามองเห็นวันที่หมดอายุบนอาหารกระป๋องนั้นได้ แต่สำหรับผู้พิการทางสายตานั้นกลับเป็นปัญหามากกว่านั้น ผู้พิการทางสายตาบางคนอาจจะเดินไปหาเพื่อนบ้านเพื่อให้ช่วยอ่านวันหมดอายุหรือให้ช่วยเปิดฝากระป๋อง ซึ่งสถานการณ์ที่ต้องการความช่วยเหลือสั้นๆ นี้ สามารถเกิดได้ทุกเมื่อกับผู้พิการทางสายตา นี่จึงเป็นการจุดประกายความคิดของ Hans Jørgen  ที่ใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อระหว่างผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือและอาสาสมัครทั่วทุกมุมโลกที่เพียงแค่ใช้เวลาสั้นๆ ในการขอและให้ความช่วยเหลือระหว่างกันและกัน

การให้ความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ นี้ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง ทั้งผู้ให้และผู้รับ เว็บไซต์ bemyeyes.com ได้รวบรวมหลายเรื่องราวความรู้สึกดีๆ ที่แอพพลิเคชั่นนี้ได้ให้แก่พวกเขา อย่าง Janie อาสาสมัครจากนิวซีแลนด์ที่มักจะได้รับคำขอโทษจากปลายสายเสมอ เพราะคิดว่ารบกวนเวลานอนของเธอเมื่อได้ยินสำเนียงอังกฤษของ Janie  เพราะความแตกต่างของเวลาในแต่ละประเทศ แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นเวลา 9 โมงเช้าในประเทศที่ Janie อยู่ เธอจึงยินดีที่จะรับสายและพร้อมช่วยเหลือปลายสายอยู่เสมอ เธอเล่าให้ฟังว่า เธอเต็มใจอย่างมากที่จะช่วยปลายสายอ่านข้อความบนหน้าจอคอมพิวเตอร์, อธิบายข้อความบนผลิตภัณฑ์อาหาร หรือแม้กระทั่งการช่วยปลายสายแต่งตัว เธอเล่าว่าถึงแม้เธอจะไม่ได้มีความรู้เรื่องวงการแฟชั่นเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยเธอก็ได้ช่วยเลือกสี หรือบอกข้อแตกต่างของเสื้อผ้าแต่ละชิ้นให้กับปลายสายได้ อาสาสมัคร Janie ได้กล่าวว่า Be My Eyes เป็นสิ่งที่ง่ายและสะดวก ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายช่วยกันก้าวผ่านอุปสรรคเล็กๆ ในชีวิตประจำวันได้

ประสบการณ์การใช้งานของแอพนี้ได้ถูกเล่าผ่าน Krissy ผู้ที่สูญเสียการมองเห็นตั้งแต่แรกเกิด เธอเป็นนักศึกษาจากฟิลิปปินส์ผู้สามารถคว้าปริญญาโทจากประเทศออสเตรเลียได้สำเร็จโดยได้แอพ Be My Eyes เป็นผู้ช่วยคนสำคัญของเธอ  เช่น การซักด้วยเครื่องซักผ้านั้นเป็นเรื่องง่ายสำหรับนักศึกษาคนอื่น แต่ไม่ใช่กับ Krissy เพราะก่อนการซักผ้าทุกคนจะต้องรูดบัตรนักเรียนเพื่อยืนยันการจ่ายเงิน โดยเครื่องรูดบัตรจะมีการแสดงหน้าจอเมื่อมีการจ่ายเงินเสร็จสมบูรณ์ Krissy จึงต้องใช้ Be  My Eyes ทุกครั้งเมื่อต้องซักผ้า นอกจากนี้เธอได้ใช้แอพนี้ในการเดินไปยังสถานที่ประจำของเธอเพื่อที่จะได้ทราบถึงสภาพทางเดินระหว่างที่เธอเดินไปยังที่นั้น เธอบอกว่า Be My Eyes พิเศษจากเครื่องมือและอุปกรณ์เทคโนโลยีอื่นๆ เพราะสามารถโต้ตอบกับมนุษย์จริงๆ ได้ และถึงแม้เธอจะกลับฟิลิปปินส์ไปแล้ว เธอก็จะไม่หยุดใช้แอพตัวนี้เพราะมันคือส่วนหนึ่งของชีวิตและทำให้เธอได้รู้จักกับความอิสระที่แท้จริง

การช่วยเหลือผู้อื่นเริ่มต้นจากตัวของเราเอง ซึ่งในปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือและผู้ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือได้เข้าหากันได้ง่ายยิ่งขึ้น

เรื่อง : ศิริพรรณ รัตนะอำพร
ข้อมูลบางส่วน : .https://www.bemyeyes.com/
https://.www.youtube.com/watch?v=qLGNj-xrgvY&t=11s
ภาพประกอบ : https://www.pinterest.com