ช่วงชีวิตวัยรุ่นวัยเรียนหลายๆ คน จะต้องมีการเปลี่ยนชั้นเรียน เปลี่ยนห้องเรียน ย้ายสายการเรียน หรือแม้กระทั่งต้องย้ายโรงเรียนเพื่อความสะดวกในการเดินทาง หรือเพื่อเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้น้องๆ วัยเรียนต้องพบเจอผู้คนใหม่ๆ รวมไปถึงสภาพสังคมที่ไม่คุ้นชิน สิ่งเหล่านี้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่ของใครหลายๆคน โดยเฉพาะน้องๆ “วัยเรียน”

จากกิจกรรมอาสาสมัครของมูลนิธิยุวพัฒน์ (พี่เลี้ยงอาสาฟังน้องคุย ชวนน้องคิด และกิจกรรมอาสาตอบจดหมาย) ทำให้ได้ทราบว่าเด็กวัยเรียนจะเป็นกังวลเมื่อต้องทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่รู้ว่าจะคุยอะไรดี, เป็นคนคุยไม่เก่ง, เพื่อนอาจจะไม่สนใจเรื่องที่เราคุย ฯลฯ ความกังวลต่างๆ นี้ยิ่งทำให้วัยรุ่นมีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะเริ่มต้นในการสร้างมิตรภาพใหม่ๆ ขึ้นมา

จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน เมื่อตอนที่เป็นนักเรียนมัธยมฯ ได้มีโอกาสไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศหนึ่ง ต้องย้ายไปอยู่ในสังคมใหม่ที่พูดคนละภาษา อยู่ในโรงเรียนที่ไม่มีเด็กไทยแม้แต่คนเดียว และไม่มีใครรู้จักเราเลยสักคน ยังจำความรู้สึกวันแรกได้ดี วันที่ได้ก้าวเข้าไปในโรงเรียน มีคำถามมากมายวนเวียนอยู่ในหัว เช่นว่า เราจะเรียนรู้เรื่องไหม? เราจะต้องทำอะไรบ้าง? แต่สิ่งที่กังวลใจมากที่สุด คือ เราจะมีเพื่อนมั้ย? สำหรับวัยนี้เพื่อนค่อนข้างสำคัญมากๆ เพราะจะต้องทำกิจกรรมร่วมกัน, พูดคุยแชร์เรื่องราวต่างๆ ให้กันฟัง, ไปเที่ยวด้วยกันหลังเลิกเรียน เป็นต้น

จะเริ่มต้นทำความรู้จัก…อย่างไร?

เริ่มต้นด้วย…รอยยิ้มพิมพ์ใจ

ประเทศไทย คือ สยามเมืองยิ้ม แน่นอนว่า “รอยยิ้ม” อยู่ในสายเลือดของเราทุกคน การยิ้มเป็นการแสดงออกถึงความเป็นมิตรที่ไม่ต้องใช้เงินตราแต่มีคุณค่ามหาศาล เป็นประตูที่เปิดไปสู่บทสนทนาในเรื่องต่างๆ ได้ เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างมิตรภาพดีๆ ยิ่งเวลาที่เรายิ้มตอนมีความสุขจะมีสารในร่างกายหลั่งออกมาเรียกว่า เอนดอร์ฟิน หรือเรียกว่า สารแห่งความสุข ทำให้เราอารมณ์แจ่มใส คลายความกังวล เกิดความผ่อนคลาย คนที่เรายิ้มให้ก็จะได้รับความสุขไปด้วย

สารพันหัวข้อ…สัพเพเหระ

เมื่อยิ้มให้แล้วจะคุยเรื่องอะไรดีล่ะ? หลากหลายเรื่องราวที่จะสามารถนำขึ้นมาเป็นหัวข้อบทสนทนา ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการเรียน งานอดิเรก เพลง ศิลปินที่ชื่นชอบ กิจกรรมหลังเลิกเรียน หรือจะคุยในสิ่งที่เพื่อนสนใจอยู่ก็ได้เพื่อที่จะต่อประเด็นในการสนทนา ถ้าหากเรากับเพื่อนใหม่พูดคุยไปในทิศทางเดียวกัน มีสิ่งที่สนใจคล้ายกันแล้ว ก็จะเป็นเรื่องง่ายที่จะสานสัมพันธ์ต่อ หากเราเป็นคนเก็บตัว ให้เริ่มทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก่อน เช่น ทักทายใครสักคนและคุยกันเป็นการส่วนตัวดู ฝึกทักษะการเข้าสังคมง่ายๆ ก่อนที่จะลองทำอะไรยากๆ เมื่อได้ทำแล้ว ความสำเร็จจากสิ่งเล็กๆ จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้เราลองทำสิ่งอื่นๆ ต่อไปได้

ข้อควรระมัดระวังในการสนทนา
ในการสนทนาพยายามเลี่ยงประเด็นที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง เช่น การเมือง ศาสนา เชื้อชาติ สีผิว สำเนียงภาษา รูปร่างหน้าตา เป็นต้น

เข้าร่วมชมรมต่างๆ

การเข้าร่วมทำกิจกรรมในชมรมที่เราชอบนั้นก็เป็นหนทางเริ่มต้นในการรู้จักเพื่อนใหม่ๆ เพราะคนที่มาเข้าชมรมก็มีความสนใจเหมือนกับเราอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ง่ายมากในการทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่คนใหม่ๆ ตอนนั้นผู้เขียนเลือกเข้าชมรมภาษาอังกฤษ เพราะต้องการที่จะพัฒนาเรื่องภาษาของตัวเอง ได้พบเพื่อนต่างชาติ ต่างภาษา หลายคนที่มาเข้าร่วมชมรมนี้ ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ได้เรียนรู้ภาษาต่างชาติที่นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ และก็เป็นเพื่อนที่ออกไปทำกิจกรรมร่วมกันหลังเลิกเรียนอีกด้วย นอกจากกิจกรรมภาษาต่างประเทศก็ได้เข้าร่วมชมรมวิชาคณิตศาสตร์อีกด้วย เพราะต้องการจะเรียนรู้เรื่องสูตรคณิตศาสตร์ต่างๆ ที่ยังไม่เคยได้เรียน แต่ชมรมนี้นักเรียนไม่ค่อยได้พูดคุยกันมากนัก เพราะส่วนใหญ่จะเคร่งเครียดกับการคำนวณสูตรต่างๆ และเคล็ดลับวิธีการหาคำตอบให้เร็วยิ่งขึ้น แต่เพื่อนใหม่ที่ได้ทำความรู้จัก คือ คุณครูที่เป็นหัวหน้าชมรมที่เป็นผู้อธิบายโจทย์และวิธีการหาคำตอบในรูปแบบต่างๆ ให้ทุกๆ ครั้งที่เราเกิดความสงสัยหรือไม่เข้าใจโจทย์ ก็เลยทำให้เราได้พูดคุยกันมากขึ้นนั่นเอง

กิจกรรมหลังเลิกเรียน

ลองชวนเพื่อนๆ ไปทำกิจกรรมอื่นๆ หลังเลิกเรียน เพื่อเป็นการคลายเครียดและทำความรู้จักกับเพื่อนให้มากขึ้น เช่น ชวนเพื่อนไปเป็นจิตอาสาจัดหนังสือที่ห้องสมุด ไปออกกำลังกายเรียกเหงื่อ เล่นกีฬา หรือจะนัดติวหนังสือด้วยกัน การติวหนังสือกับเพื่อนๆ ไม่ได้แค่มาเพื่อทบทวนบทเรียนหรือพูดคุยอย่างสนุกสนานเท่านั้น แต่ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ในเรื่องอื่นๆ ที่เรายังไม่รู้อีกด้วย

เป็นตัวของตัวเอง

เป็นการปล่อยให้บุคลิกภาพของเราได้เฉิดฉาย อย่ากลัวที่จะแสดงความเห็นส่วนตัว “เราจะไม่เป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเรา”​ หากปกติแล้วเราเป็นคนขี้อายหรือเก็บตัว ฝึกใช้ด้านลึกลับของตัวเราเองให้เกิดประโยชน์ดูบ้างสักครั้ง เช่น ลองทำตัวเป็นมิตรและเปิดเผยตัวตนบางส่วนกับคนอื่นก่อน หากมีเพื่อนที่สนใจเพราะมีบางอย่างที่เข้ากันได้ เขาจะพยายามเข้าใกล้เพื่อทำความรู้จักเราให้มากขึ้นเอง

มนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เหมือนกันทุกคน
อย่าไปตามคนอื่น เป็นตัวของตัวเองคือสิ่งที่ดีที่สุด

ความ “เป็นตัวของตัวเอง” คือ การที่เราเกิดความมั่นใจในตัวเองได้จริงๆ เชื่อว่าตัวเรานั้นมีความชำนาญ หรือรู้จักสิ่งนั้นๆ อย่างถ่องแท้แล้ว เพราะฉะนั้นการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ จะทำให้เรามีความมั่นใจในทักษะของตัวเองมากขึ้น และเมื่อเรามั่นใจมากขึ้น สิ่งที่เราจะแสดงออกไป ก็จะออกไปพร้อมความมั่นใจ ผนวกกับความเป็นตัวเรา…

การสร้างมิตรภาพนั้นสามารถทำได้หลายวิธีโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นวิธีใดวิธีหนึ่งเท่านั้น ทุกคนสามารถไปปรับใช้ในแนวทางที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ที่สำคัญ คือ การสร้างมิตรภาพใหม่ๆ ต้องเริ่มต้นทำให้เกิดขึ้นด้วยตัวเราเองก่อน

เรื่อง : ศิริพรรณ รัตนะอำพร
ภาพประกอบ : https://www.pinterest.com