“ทุกคนมีเอเวอเรสต์
เป็นของตัวเอง”
– วานดา รุตเคียวิคส์ นักปีนเขาหญิงชาวโปแลนด์ –
เอเวอเรสต์ ภูเขาที่สูงที่สุดในโลก เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในแนวเทือกเขาหิมาลัย อยู่ระหว่างเขตแดนของประเทศเนปาลและเขตปกครองตนเองทิเบต สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยชาวเนปาลเรียกยอดเขาเอเวอเรสต์ว่า “สครมาตา” หมายถึงมารดาแห่งท้องสมุทร ส่วนชาวทิเบตเรียกว่า “โชโมลังมา” หมายถึงมารดาแห่งสวรรค์ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลอยู่ที่ 29,035 ฟุต หรือ 8,848 เมตร และมีคนไทยหลายคนไปพิชิตภูเขาลูกนี้มาแล้ว และหนึ่งในนั้นมี “แพทย์หญิงมัณฑนา ถวิลไพร” หญิงไทยสุดแกร่งคนไทยคนที่ 5 ที่สามารถพิชิตหลังคาโลกแห่งนี้ได้สำเร็จ
จาก… คุณหมอแห่งห้องอีอาร์
ผันตัวมาเป็นนักปีนเขา
แพทย์หญิงมัณฑนา ถวิลไพร หรือ “หมอกุ๊กไก่” เดิมทีเป็นแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน และเวชบำบัดวิกฤตของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ บ่อยครั้งที่ชีวิตการทำงานก็ท้าทายให้เธอต้องกระโดดขึ้นรถฉุกเฉินเพื่อออกไปช่วยผู้ป่วย ซึ่งนั่นเป็นความท้าทายที่ทำให้แพทย์สาวมองเห็นถึงความสนุกของการได้ทำงานช่วยเหลือผู้อื่น หากหมอกุ๊กไก่ไม่ได้ ลางานไปเที่ยว เธอก็คงเป็นหมอที่โหมงานหนักเหมือนคุณหมอคนอื่นๆ ในโรงพยาบาล
และแล้วการเดินทางของการเป็นนักปีนเขาของหมอกุ๊กไก่ก็เริ่มต้นขึ้นจากการลางานไปเที่ยว ความสำเร็จยิ่งใหญ่ครั้งนี้อาจจะมีน้อยคนที่จะสามารถทำได้ เพราะ “ราคา” ที่ต้องจ่ายมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น 8 ปีแห่งการฝึกซ้อม การลาออกจากงาน เงินที่ต้องใช้อย่างมัธยัสถ์ และประตูสู่ความตายที่อยู่ในทุกๆ วินาทีที่อยู่บนเขาเอเวอเรสต์
ครั้งแรกหมอกุ๊กไก่เพียงแค่ต้องการออกไปหากิจกรรมทำ แต่แล้วเป้าหมายที่จะพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ให้ได้ในสักวันก็จุดประกายขึ้นในช่วงใกล้สิ้นปี 2559 “ตอนนั้นเราไปแค่เดินเขาที่เอเวอเรสต์ เบสแคมป์ (Everest Base Camp)” เป็นภูเขาลูกเล็กๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของยอดเขาเอเวอเรสต์ โดยหมอกุ๊กไก่ต้องเดินขึ้นไปถึงความสูง 5,500 เมตรจากระดับน้ำทะเลไปยังค่ายที่พักแรกของผู้ที่หมายมั่นจะปีนเขาเอเวอเรสต์ รู้ตัวอีกที “เฮ้ย เราอยู่ได้ เรายังมีชีวิต ยังไม่ตาย” ความคิดนี้จุดประกายอยู่ในหัวในขณะที่หันหน้าไปเจอยอดเขาเอเวอเรสต์พอดี เป็นโมเมนต์ที่คิดว่า “หรือเราจะปีนเขาเอเวอเรสต์”
“ความต้องการในใจของเรามันแรงมาก
และเรารู้ว่าถ้าไม่อดทนฝึกก็จะทำไม่ได้”
8 ปีกับการเตรียมความพร้อม
เพื่อการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์
ไม่ใช่แค่การมีเป้าหมายอยากพิชิตเขาเอเวอเรสต์เท่านั้น แต่ทุกอย่างคือกระบวนการของการเตรียมตัวเองให้พร้อมรับมือกับทุกสภาวการณ์ที่จะต้องพบเจอระหว่างทางของการพิชิต หมอกุ๊กไก่ไม่รีรอในการเตรียมตัวเองให้พร้อม แม้กำลังปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นหมอก็ตาม และเธอเริ่มต้นจาก…
- สะพายกระเป๋าเป้ใส่น้ำหนัก 16 กิโลกรัม เดินขึ้นลงบันไดในโรงพยาบาลก่อนและหลังเข้างาน
- ถ่วงน้ำหนักที่ข้อเท้ากว่า 3 กิโลกรัม ให้คุ้นชินกับการใส่รองเท้า “แครมปอน” สำหรับปีนภูเขาหิมะ
- ฝึกปีนหน้าผาจำลองในวันหยุด
- ลดกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิต อาทิ การออกไปสังสรรค์กับเพื่อน
- ออมเงิน
เพราะ “ความต้องการในใจของเรามันแรงมากและเรารู้ว่าถ้าไม่อดทนฝึกก็จะทำไม่ได้” จึงเป็นแรงผลักดันให้หมอกุ๊กไก่เลือกที่จะมองว่าการทำหน้าที่รักษาผู้อื่นไม่ใช่อุปสรรคในการพิชิตเป้าหมายที่ตั้งใจเอาไว้
ครั้งแรกของการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์
แต่… กลายเป็นตราบาปของความไม่สำเร็จ
ยอดเขาสูงที่เธอขึ้นไปได้สำเร็จที่แรก คือ อิมชาตเซ (Imja Tse) หรือที่รู้จักในชื่อ ไอส์แลนด์พีก (Island Peak) ในเนปาล ความสูง 6,189 เมตร จากนั้นก็ปีนภูเขาสูงหลายพันเมตรอีกหลายแห่งในหลายประเทศ ก่อนตัดสินใจปีน “มานาสลู” (Manaslu) ในเนปาล ภูเขาสูงที่สุดอันดับ 8 ของโลก (8,163 เมตร) เมื่อปี 2562 การได้ขึ้นยอดเขาสูงเกินแปดพันเมตร ทำให้หมอกุ๊กไก่เชื่อว่า พร้อมแล้วที่จะปีนเอเวอเรสต์
แต่การพยายามพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกครั้งแรกของเธอกลับไม่ประสบความสำเร็จ เพราะพายุหิมะ หมอกุ๊กไก่เล่าว่า “เราขึ้นไปกันที่ประมาณ 8,200 เมตรแต่กลับเจอพายุหิมะ ทีมเชอร์ปาหรือทีมลูกหาบที่นำทางในการปีนเขา เลยบอกว่า “ลงเถอะ ขึ้นแบบนี้ตายแน่” ท้ายที่สุด เมื่อกลับลงมาบริเวณแคมป์ 4 ซึ่งเรียกว่า “ดินแดนแห่งความตาย” (Dead Zone) หมอกุ๊กไก่ก็ยังต้องเผชิญพายุต่อเนื่อง จนเต็นท์ ถุงนอน และเสบียงอาหารปลิวหายไป ยิ่งกดดันให้เธอต้องเลิกล้มความตั้งใจ ทั้งที่อยู่ห่างจากยอดสูงสุดเพียงไม่กี่ร้อยเมตรแล้ว เธอบอกว่า “มันเป็นเหมือนตราบาปในใจ ที่ยอดเขาอยู่ใกล้เรามากแล้วแต่ไม่สามารถไปต่อได้ แต่ถ้าเราดึงดันทำต่อไป เราก็คงจะตายไปแล้ว”
“โอกาสเกิดขึ้นเองไม่ได้
คุณต่างหากที่ต้องสร้างมันขึ้นมา”
– คริส การ์ดเนอร์ –
วันที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จก็มาถึง
ช่วงต้นเดือนเมษายน 2566 หมอกุ๊กไก่ได้เริ่มกระบวนการปรับร่างกายให้เข้ากับการอยู่ในที่สูง เมื่อร่างกายพร้อมแล้วจึงเดินทางไปยังเบสแคมป์เพื่อรอรอบการปีนเอเวอเรสต์เป็นเวลากว่า 20 วัน หมอกุ๊กไก่เจออุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาการป่วยจากการติดไข้หวัด ปัญหาขาดแคลนเชอร์ปา และสิ่งที่น่าหดหู่ที่สุดคือ เธอเห็นนักปีนเขาเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง อาจพูดได้ว่าเรื่องราวที่พบมานั้นแทบไม่ต่างกับภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นถุงนอนกับแผ่นรองนอนที่หายระหว่างการเดินทาง การเดินทางแข่งกับเวลาเพื่อให้ไปถึงแคมป์ที่ 2 (ความสูง 6,492 เมตร) ให้ทันภายใน 4 ชั่วโมง เมื่อไปถึงและพักได้ไม่เท่าไหร่ ทางบริษัทปีนเขาก็วิทยุมาบอกว่า วันพรุ่งนี้ให้ขึ้นไปแคมป์ที่ 3 ต่อทันที และยังต้องไปต่อแคมป์ที่ 4 แต่ในที่สุดเธอก็ปีนมาถึงแคมป์ที่ 4 ตามกำหนด ซึ่งระหว่างทางหมอกุ๊กไก่ก็ได้เห็นคนเอาร่างไร้ชีวิตของนักปีนเขาลงมาจากภูเขาคนแล้วคนเล่า ความรู้สึกตอนนั้นคือ “หรือว่านั่นจะเป็นเราในอนาคต”
เมื่อถึงความสูงที่ 8,400 เมตร หมอกุ๊กไก่ก็ถูกเชอร์ปาทิ้งเพราะไปต่อไม่ไหว ในห้วงเวลาที่เธอรู้สึกว่า “ไม่เหลือใครแล้ว” ทันใดนั้น อัง ริตา เชอร์ปาที่แยกตัวออกไปก่อนหน้านี้เข้ามาหาเธอแล้วบอกว่า “จะช่วยพาปีนเอง” ก่อนช่วยกันขึ้นไปจนถึงจุดที่เรียกว่า “เซาท์ซัมมิท” (8,412 เมตร) ภาพที่เห็นตอนไปถึง “เรามองไปด้านขวา คือ ทิเบต ขอบฟ้ากลายเป็นสีเขียว กระทบกับเมฆ มันคือภาพที่เราอยากเห็นมาตลอดในชีวิต” และยังต้องไปต่อจุดที่เรียกว่า “ฮิลลารี สเต็ป” (Hillary Step) ซึ่งเป็นอุปสรรคสุดท้ายก่อนถึงยอดสูงสุด อัง ริตา ที่ตอนนั้นเริ่มสู้กับสภาพอากาศไม่ไหวแล้ว แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีโชคดี
หมอกุ๊กไก่พบกับเชอร์ปาอีกคนที่ปีนสวนขึ้นมาเธอจึงขอติดตามไปด้วย และด้วยความช่วยเหลือของ สุมาน กุรุง ช่างภาพภูเขาสูงชาวเนปาล ที่ช่วยจูงมือเธอไต่ฮิลลารี สเต็ป ขึ้นไป ในที่สุดหมอกุ๊กไก่ก็ขึ้นไปยืนอยู่ที่ความสูง 8,848 เมตร “สุมานได้พาไปนั่ง แล้วจับเอามือของเราไปแตะที่ยอดเอเวอเรสต์” หมอกุ๊กไก่เล่าย้อนถึงเหตุการณ์เมื่อเวลาราว 8.15 น. ของเช้าวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 และนั่นคือเวลาที่เธอกลายเป็นคนไทยคนที่ 5 ที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จ
เธอร้องไห้ สุมาน ถามเธอว่า “ร้องไห้ทำไม” หมอกุ๊กไก่ตอบกลับไปว่า “มันเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในชีวิต ที่ไม่คิดว่าเราจะทำได้ และวันนี้เราก็ทำได้แล้ว” ความยากลำบาก และความพยายามตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ทำให้ได้เรียนรู้ว่ามันไม่เคยสูญเปล่าเลย ดอกและผลของความสำเร็จทำให้เราอิ่มเอมกับความสำเร็จข้างหน้า จนถึงปัจจุบัน หมอกุ๊กไก่ได้กลายเป็น 1 ใน 5 คนไทยที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จในปี 2566