Site icon มูลนิธิยุวพัฒน์

เล่าเรื่องนักเรียนทุน : จาก “เด็กสายอาชีพ” สู่ “สายไลฟ์สด” TikTok “พอร์ช” กับเส้นทางชีวิตที่กลายเป็น “ภูมิคุ้มกัน”

ในวันที่เด็กหลายคนยังไม่รู้ว่าจบ ม.3 จะไปต่อทางไหน กันทรากร วงศ์สิงห์ หรือ พอร์ช กลับรู้แน่ชัดว่า “ถ้าไม่มีทุนก็ไม่มีสิทธิ์ได้เรียนต่อ” ขณะนั้นพอร์ชเรียนอยู่ที่โรงเรียนหนองกรุงศรีวิทยาคม จ.กาฬสินธุ์ ช่วง ม.3 แม่เริ่มส่งเสียไม่ไหว รายได้ในครอบครัวไม่พอ ครูที่โรงเรียนจึงแนะนำให้เขียนเรียงความสมัครขอทุนกับมูลนิธิยุวพัฒน์ พอร์ชตอบรับทันทีและเขียนเรียงความส่งไปด้วยความหวังเดียว “ขอแค่ได้เรียนต่อ”

พอร์ชเป็นคนแรกของโรงเรียนที่สมัครขอทุนยุวพัฒน์และก็ได้รับการสนับสนุนในฐานะ “นักเรียนทุนสายอาชีพ”

“ตั้งแต่ได้รับทุนก็แบ่งเบาภาระแม่ได้มาก แบ่งใช้รายวัน เพราะผมเห็นค่าของการศึกษาเสมอ เพราะการเรียนเป็นใบเบิกทางให้ชีวิต แม้จะอยากเรียนสายสามัญ อยากเป็นหมอ เป็นครู แต่มีแค่ทางเดียวให้เลือกตอนนั้น คือ การเรียนสายอาชีพ”

พอร์ชเลือกสายอาชีพ สาขาการโรงแรม ไม่ใช่เพราะง่าย แต่เขามองเห็นโอกาสของสายอาชีพที่น่าจะเป็นลู่ทางให้ได้ทำงานเร็วที่สุด โดยหวังว่าจะทำให้ได้เป็นพนักงานบริการบนเครื่องบินตามที่ฝันไว้ เมื่อได้เข้าไปเรียน ได้เรียนแบบเจาะลึกมากขึ้น เช่น ได้เรียนเรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหาร เรียนเรื่องการปูเตียง ได้เรียนรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการโรงแรม ที่สำคัญทำให้ได้เรียนรู้ทักษะที่ใช้ได้จริงๆ ในชีวิตเมื่อต้องไปฝึกงาน

การฝึกงานครั้งแรกที่ร้าน KFC กลายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต พอร์ชเล่าย้อนไปในช่วงที่ฝึกงานและต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยเงินเพียง 1,000 บาทจากแม่ โดยต้องเช่าห้องพักร่วมกับเพื่อน 3 คน แต่เมื่อเพื่อนทยอยกลับบ้าน พอร์ชต้องแบกรับค่าเช่า 5,000 – 6,000 บาทต่อเดือน ด้วยเงินเดือนเพียง 8,000 – 9,000 บาท ความยากลำบากนี้ไม่ได้ทำให้เขาถอดใจ แต่กลับเป็นบทเรียนที่สอนให้รู้ “ค่าของเงิน”

“แม้ได้ฝึกงานไม่ตรงกับที่เรียน แต่ก็ถือว่าเป็นงานบริการที่ชอบอยู่แล้ว ซึ่งการฝึกงานครั้งนั้น พิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจและอดทนของตัวเอง ตั้งแต่ที่เพื่อนกลับบ้านแล้วแต่ตัวเองยังไม่กลับ และต้องอยู่อย่างประหยัด เงิน 8 บาทสำหรับค่ารถเมล์ยังต้องเก็บไว้ หรือเลือกเดินแทน การขึ้น MRT ที่ราคา 15 บาท เพราะว่าแพงมาก”

ชีวิตของพอร์ชเริ่มเปลี่ยนเมื่อพบกับร้านเครื่องประดับใกล้ๆ กับที่ฝึกทำงาน จุดเริ่มต้นคือการรับหิ้วสินค้า ซึ่งช่วงนั้นถือว่าอาชีพนี้เป็นที่นิยมมาก

“วันแรกที่รับคิว ได้ 300 บาท ซึ่งเกินค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับด้วยซ้ำ จาก 300 บาท กลายเป็น 500, 1,000, และในที่สุดถึง 10,000 บาท

แต่ความสำเร็จนี้ก็มาพร้อมกับการทำงานหนัก ต้องตื่นเช้ามาก่อนห้างเปิด ทำงานจนห้างปิด รับหิ้วสินค้า บางครั้งทำงานเสร็จจะไม่พักเบรก ในหนึ่งชั่วโมงพอร์ชจะต้องไปรับหิ้วสินค้า จนในที่สุดก็ได้เป็นคนช่วยแนะนำสินค้า ดูแลลูกค้า ระหว่างนั้นก็ยังรับงานแต่งหน้าควบคู่ไปด้วย

จากฝึกงาน ก็เริ่มทำงานจริง จนสนิทกับเจ้าของร้าน ในที่สุดก็กลายเป็นคนช่วยแนะนำสินค้า ช่วยดูแลลูกค้า ระหว่างนั้นก็รับงานแต่งหน้าควบคู่ไปด้วย เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ ทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัวและทางบ้านด้วย เรียกได้ว่าทำงานอย่างเดียว ไม่ได้ใช้ชีวิตหรือไปเที่ยวแบบคนอื่นในวัยเดียวกัน

หลังจากทำงานในร้านเครื่องประดับมา 6 – 7 ปี พอร์ชได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการศึกษาสายอาชีพเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เขามี “ภูมิคุ้มกัน” ในการใช้ชีวิต

การเรียนสายอาชีพ และการได้ฝึกงานทำให้มีประสบการณ์ สร้างภูมิคุ้มกันได้เมื่อต้องเข้าสังคม ต้องคุยกับลูกค้า มีแรงกดดันทั้งจากลูกค้า หัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน”

เมื่อถึงจุดที่งานเงียบลง วันนี้พอร์ชได้ปรับตัวสู่โลกใหม่ด้วยการเป็น ฟรีแลนซ์ รับงานแต่งหน้าและการเป็น ไลฟ์สดใน TikTok  เขาเล่าว่าเริ่มไลฟ์สดวันแรกได้เงิน 100 บาท และต้องไลฟ์ 4 – 8 ชั่วโมงต่อวัน เริ่มจากไม่มีคนดู จนวันนี้ได้วันละ 500 – 1,000 บาท

เขาต้องฝึกพูด ฝึกเอนเตอร์เทน จนเริ่มมีคนติดตาม สิ่งนี้สะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลง แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของการศึกษาสายอาชีพ ที่ไม่ได้จำกัดให้อยู่แค่ในกรอบเดิม แต่เปิดโอกาสให้ปรับตัวตามยุคสมัย

“ตอนแรกไม่คิดจะทำอาชีพนี้ เพราะเราคิดว่ายากมาก การไลฟ์สดหน้ากล้องต้องคุยคนเดียว หรือต้องตอบคำถามผู้ติดตาม ต้องเอ็นเตอร์เทน แต่วันนี้ก็ทำได้แล้ว เพราะไม่มีทางไหนให้เลือกมาก

ปัจจุบัน พอร์ชมีโอกาสได้กลับไปเป็นวิทยากรให้กับน้องๆ ที่โรงเรียนเดิม เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและแบ่งปันประสบการณ์ เขาพยายามทำให้น้องๆ เห็นภาพว่าสายอาชีพตอบโจทย์กับตลาดแรงงาน ดีต่อมุมมองของการใช้ชีวิต เปิดโอกาสและต่อยอดได้อีกมาก

“คุณครูเชิญให้ไปพูดเป็นวิทยากรที่โรงเรียนเดิม ได้เล่าประสบการณ์ให้รุ่นน้องฟัง แต่สิ่งที่เจอคือ เด็ก ม.3 หลายคนยังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อดี ผมก็เล่าให้ฟังหมดเลยว่าสายอาชีพต่อยอดได้มากกว่าที่คิด ไม่ได้จบแล้วต้องเป็นพนักงานร้านอาหารอย่างเดียว

พอร์ชมองว่า เด็กต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อยไม่มีโอกาสได้เห็นความหลากหลายของอาชีพเหมือนกับเด็กในเมือง หลายคนเติบโตมากับภาพจำแบบเดิมๆ อย่างครู พ่อแม่ที่ทำไร่ทำสวน หรือพี่ที่เลี้ยงไก่ ทำให้ยากจะจินตนาการถึงเส้นทางชีวิตอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม

เขาแนะนำว่า สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกเรียนสายไหน การมองหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริงๆ คือจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เพราะเข้าใจดีว่าการเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ พอร์ชจึงอยากเป็นหนึ่งในคนที่ช่วย “ส่งต่อ” มุมมองใหม่ให้กับน้องๆ โดยเฉพาะคนที่ยังไม่มีโอกาสเห็นโลกกว้าง

การได้กลับไปพูดคุยที่โรงเรียนเดิม เล่าประสบการณ์ชีวิตให้รุ่นน้องฟัง สะท้อนให้เห็นว่า “ทุนการศึกษา” ไม่ได้แค่ช่วยให้เรียนจบ แต่ยังเปิดโอกาสให้เขาได้กลับมาเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นต่อไปด้วย

Exit mobile version