สำหรับเมืองไทยแล้วแน่นอนว่าเป็นพื้นที่ ที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติอย่างเกิดประโยชน์ที่สุด การทำเกษตรกรรม จึงถือเป็นอีกแหล่งรายได้หลักของประเทศมายาวนาน แม้ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ส่วนมากจะเลือกเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ รวมถึงเลือกทำงานประเภทอื่นๆ มากขึ้น
แต่ความจริงที่ว่า…การเกษตรของไทยกำลังจะหายไป เพราะคนรุ่นใหม่สนใจน้อยลง นั่นอาจไม่ใช่ทั้งหมด เพราะยังมีตัวอย่างที่จะทำให้ทุกคนเห็นว่าการเกษตรนั้นมีคุณค่า ผ่านเรื่องราวของ 2 นักเรียนทุน ที่เลือกเรียนสายอาชีพ สาขาเกษตรกรรม ด้วย “ใจรัก”

หนูใฝ่ฝันว่าเรียนจบแล้วจะเป็นเกษตรกรค่ะ หนูอยากเรียนเกษตรมาก เพราะคิดว่าจบออกไปจะมีโอกาสสร้างอาชีพ อีกอย่างหนูอยากมีธุรกิจของตัวเอง อยากเอาความรู้มาพัฒนาพื้นที่ไร่ที่บ้านด้วยค่ะ

ไม่เพียงแค่คำพูดสั้นๆ ที่สรุปเรื่องราวตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปี ในการเรียนรู้เรื่องเกษตรกรรม ของ “น้องแพรว วิมลรัตน์” นักเรียนทุนสายอาชีพ ชั้น ปวช.3 สาขาเกษตรศาสตร์

แววตาและน้ำเสียงที่มุ่งมั่นทำให้ยิ่งเข้าใจได้ว่า “เกษตรกรรม” จะต้องมีดีอะไรสักอย่างที่ทำให้เธอพยายามเพื่อให้ได้เข้าไปเรียนในสายนี้ด้วยการขอทุนการศึกษาสายอาชีพจากมูลนิธิยุวพัฒน์

เด็กที่มาจากครอบครัวเกษตรกร แน่นอนว่าต้องคุ้นชินอยู่บ้างกับการทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เช่นเดียวกับน้องแพรว ห้องเรียนแรกของเธอ คือ “นาข้าว”

เธอเล่าให้ฟังว่า…ตั้งแต่อนุบาลย่าจะสอนให้ ดำนา เกี่ยวข้าว ปลูกพืชผักนานาพันธุ์ พอเข้าเรียนชั้นประถม โรงเรียนก็เริ่มสอนวิชาเกษตรด้วย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะครอบครัวของเธอเป็นเกษตรกร มีรายได้หลักจากการทำไร่ ทำสวน และทำนาปลูกข้าว ทำให้เธอยิ่งผูกพันกับการเกษตรและอยากเรียนสาขานี้ตั้งแต่ยังเด็ก

“ปู่กับย่าบอกว่าทำเกษตรแล้วดี โตไปจะได้กลับมาพัฒนาไร่ นา ของที่บ้าน มีวิชาติดตัวไม่อดตายเพราะปลูกผักกินได้ ดำนาเกี่ยวข้าวได้”

เธอตัดสินใจเลือกเรียนสายอาชีพ สาขาเกษตรศาสตร์ แน่นอนเพราะใจรัก ส่วนหนึ่งเพราะคิดว่าสายอาชีพมีโอกาสหางานง่าย ได้ทำงานเร็วขึ้น มากไปกว่านั้นคือได้ประสบการณ์จากการได้ลงมือทำจริง ทำให้รู้เป้าหมายของตัวเองชัดเจนขึ้น นั่นคือ การเป็น “เกษตรกร”

หนูอยากเอาความรู้ที่เรียนมาพัฒนาพื้นที่ไร่นาของตัวเองที่ปล่อยไว้ไม่ได้ทำอะไร อยากปลูกผักไร้สารพิษ ทำพืชไร่ พืชสวน หรือการเพาะชำ ในรูปแบบของเกษตรผสมผสาน

เด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่ใช่เกษตรกรก็มีอยู่ไม่น้อย แต่บ่อยครั้งก็พบว่าเด็กหลายคนค้นพบตัวตนในวิถีของการทำเกษตร ซึ่งนำไปสู่อาชีพในที่สุด

เช่นเดียวกับ “น้องเบนซ์” อารียา อดีตนักเรียนทุนสายอาชีพ จังหวัดชุมพร อีกแค่หนึ่งปีเท่านั้น เธอก็จะเรียนจบ ปวส. สาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แผนกวิชาประมงแล้ว แม้ตอนนี้เธอจะเป็นอดีตนักเรียนทุน แต่ก็ไม่เคยลืมว่า…ที่มีโอกาสได้เรียนเป็นเพราะความช่วยเหลือจากทุกคนในสังคม ซึ่งเธอยังหวังใจว่าอยากให้น้องๆ รุ่นหลังที่ได้รับทุนสายอาชีพตั้งใจเรียนเพื่อจะได้มีอนาคตตามแบบฉบับที่ใฝ่ฝันเช่นเดียวกับเธอ ที่ฝันว่าอยากมีธุรกิจส่วนตัวอย่าง “ฟาร์มเลี้ยงปลานิล”

อยากเลี้ยงปลานิลค่ะ เพราะเป็นปลาที่นิยมและมีความต้องการของตลาด อีกอย่างปลานิลเลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนทาน ที่หนูมาเรียนประมงก็จะเอาความรู้ไปทำธุรกิจบ่อปลาเป็นของตัวเองค่ะ

น้องเบนซ์เล่าให้ฟังว่าที่เลือกเรียนสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็เพราะว่าตอนเป็นเด็กพ่อและเเม่ชอบพาเธอลงเรือ ไปหาปลาทำให้ผูกพันกับวิถีธรรมชาติและสัตว์น้ำ

“หนูเลือกเรียนสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพราะรู้สึกผูกพัน การเรียนสายอาชีพจบมามีงานรองรับ และค่าใช้จ่ายก็ ไม่แพง ลดภาระครอบครัวลงไปได้เยอะที่สำคัญเลยคือหนูอยากจะนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาประกอบธุรกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ค่ะ”

ตอนนี้น้องเบนซ์กำลังเปิดประสบการณ์แรกด้วยการเป็นเด็ก “ฝึกงาน” ในฟาร์มเลี้ยงปลาแห่งหนึ่ง เธอบอกว่าในช่วงแรก หน้าที่หลักๆ ก็คือดูแลบ่อกุ้ง ให้อาหาร และทำความสะอาดบ่อ เธอรู้สึกสนุก ตื่นเต้น ทำให้ทุกวันคือ “วันแห่งการเรียนรู้” ที่เธอจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุดเพื่อนำไปต่อยอดให้กับธุรกิจฟาร์มเลี้ยงปลานิลที่เธอฝันและตั้งใจอยากจะทำให้สำเร็จ

นี่คือเรื่องราวของ 2 นักเรียนทุนสายอาชีพ ที่มีจุดร่วมเดียวกันก็คือ การได้เรียนเกษตรกรรม ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริง และต้องการพัฒนาท้องถิ่นด้วยวิถีเกษตรกรรม

ชวนพี่ๆ ในสายอาชีพต่างๆ ร่วมให้โอกาสน้องๆ 250 คน ที่กำลังจะขึ้นชั้น ปวช.3 ในปีการศึกษา 2564 นี้ ได้มีโอกาสเรียนจบ ยังมีเด็กๆ อีกหลายคนที่มีความฝันจะได้เรียนต่อ แต่กลับต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด ครอบครัวขาดรายได้มีเงินไม่เพียงพอให้เรียนต่อ…เหลืออีกแค่หนึ่งชั้นปีเท่านั้น พวกเขาก็จะได้รับ “วุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)” ที่จะช่วยเปิดทางให้น้องๆ ได้หางานทำ ได้สร้างอาชีพ ได้เปลี่ยนชีวิตของน้องๆ และครอบครัวให้ดีขึ้นได้

ร่วมบริจาคในแคมเปญ “The Big Give” การให้อาชีพ คือ การให้ที่ยิ่งใหญ่ ผ่านเทใจดอทคอม หรือบริจาคทุนการศึกษาแบบต่อเนื่อง เดือนละ 1,200 บาท หรือ ปีละ 14,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียน ค่าเดินทาง และค่าอาหารต่อน้อง 1 คน