หลายคนอาจจะมองว่าภาษีเงินได้ส่วนบุคคลเป็นเรื่องไกลตัว เป็นแค่ “หน้าที่พลเมือง” ที่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือเจ้าของธุรกิจ ภาษีเป็นเรื่องที่ต้องทำปีละครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือน ก็ยิ่งไม่ต้องห่วงอะไร เพราะนายจ้างช่วยคำนวณหักภาษีให้เรียบร้อย ถึงกำหนดก็แค่ยื่นแบบ ภงด. (แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ส่วนบุคคล) ให้สรรพากรเป็นการจบหน้าที่ประจำปีไป 

และคนส่วนใหญ่จะวางแผนแค่ค่าลดหย่อนภาษีรายการใหญ่ๆ เช่น การซื้อ RMF (กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ) หรือ SSF (กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว) หรือการซื้อประกัน แต่มองข้ามโอกาสประหยัดภาษีจากการบริจาคไป

เริ่มต้นด้วยการ…ทำความเข้าใจหลักการคำนวณภาษีของสรรพากร

หลักการที่ 1 – ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำนวณจากรายได้ หลังหักค่าลดหย่อน ซึ่งรวมเงินบริจาคด้วย ยิ่งมีค่าลดหย่อนมาก ยิ่งหักภาษีได้มาก 

หลังหักค่าลดหย่อนต่างๆ ที่เราคุ้นเคยไปแล้วจากรายได้รวม เรายังสามารถหักเงินบริจาคได้อีกไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อน โดยเงินบริจาคนี้จะต้องเป็นเงินบริจาคให้มูลนิธิ หรือองค์กร ที่สรรพากรให้ใช้เงินบริจาคหักภาษีได้ เราสามารถตรวจสอบรายชื่อองค์กรสาธารณะกุศลได้จาก website ของสรรพากร https://www.rd.go.th/29157.html (มูลนิธิยุวพัฒน์ ก็เป็นหนึ่งในมูลนิธิที่เงินบริจาคสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้)

 

หลักการที่ 2 – อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได ยิ่งรายได้มาก ยิ่งเสียภาษีเป็น % ต่อรายได้ที่สูงขึ้น

แปลง่ายๆ คือ ยิ่งรายได้มาก เงินบริจาคทุกบาทจะได้หักภาษีเป็น % ที่สูงขึ้น 

ยิ่งผู้ที่มีรายได้สูงๆ อยากจะบอกว่า บริจาคกันนะครับ ทุกครั้งที่คุณบริจาคเหมือนมีโปรส่วนลดในตัว เช่น ถ้าคุณมีรายได้สูง หลักแสนขึ้นไป หลังหักค่าลดหย่อนต่างๆ เต็มที่แล้ว รายได้เพื่อคำนวณภาษีของคุณทั้งปีจะยังเกิน 5 แสนบาท ส่วนที่เกิน 5 แสนจะยังเสียภาษีในขั้น 15% การบริจาคจะเป็นตัวช่วยคุณได้อย่างมาก ตัวอย่างเช่น บริจาคส่งเด็กเรียนสายอาชีพ ปีละ 14,000 บาท จะได้ลดหย่อน 15% มาในรูปเงินคืนภาษี 2,100 บาท หรือเหมือนเราจ่ายเงินบริจาคจริงๆ เหลือ 11,900 บาท

มาดูเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการวางแผนบริจาค
เพื่อลดหย่อนภาษี ให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

1) บริจาคให้หักภาษีได้ 

บริจาคให้กับมูลนิธิ หรือองค์กรที่อยู่ในรายชื่อสรรพากร ตามที่แนะนำข้างต้น จะช่วยให้เรานำเงินบริจาคไปหักภาษีได้  การทำบุญมีทางเลือกหลากหลายมากกว่าแค่การให้วัด เราสามารถบริจาคเพื่อทำบุญแล้วแต่ความสนใจของแต่ละคน มีทั้งเรื่องให้การศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส ดูแลผู้พิการ ผู้ป่วยยากไร้ รักษาป่าและสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งคนรักสัตว์ ก็มีทางบริจาคช่วยตั้งแต่เพื่อนตัวใหญ่อย่างช้าง จนถึงเพื่อนตัวเล็กอย่างหมาแมว

2) เก็บหลักฐานการบริจาคให้ครบ 

การยื่นแบบภาษีต้องมีหลักฐานการบริจาคให้ครบ สมัยก่อนเราอาจจะต้องเก็บใบเสร็จการบริจาคข้ามปีเพื่อยื่นภาษีในปีถัดไป เดี๋ยวนี้สรรพากรมีบริการ e-donation ที่ช่วยให้เราบริจาคแบบ online โดยกรอกเลขบัตรประชาชนให้องค์กรหรือมูลนิธิที่คุณบริจาค หรือบริจาคผ่าน mobile banking app ธนาคารไหนก็ได้ จากนั้นหลักฐานการบริจาคจะถูกส่งไปเก็บที่ฐานข้อมูลของสรรพากร เมื่อเรายื่นแบบเสียภาษีประจำปี ข้อมูลการบริจาคของเราก็จะถูกดึงมาใช้ทันที ไม่ต้องวุ่นวายในการเก็บหลักฐานหรือเก็บใบเสร็จต่างๆ และเราสามารถตรวจสอบรายการบริจาคผ่าน e-donation ของเราได้ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมงผ่านเว็บไซต์  http://edonation.rd.go.th/donate/Index_InfoS.jsp (ต้องสมัครยื่นแบบเสียภาษี ผ่าน internet ก่อน)

3) การบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า 

หลายคนยังไม่รู้ว่ามีมูลนิธิ หรือองค์กรหลายแห่ง ที่สามารถนำเงินบริจาคไปลดหย่อนได้ถึงสองเท่าของเงินบริจาค เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาลรัฐ (บริจาคตรงให้โรงพยาบาล ไม่ใช่มูลนิธิของโรงพยาบาล) รวมทั้งหน่วยงานอีกหลากหลาย เราสามารถตรวจสอบรายชื่อได้จาก website ของสรรพากร

ตัวอย่างเช่น บริจาค 1 พันบาท แต่นำไปลดหย่อนได้ 2 พันบาท จากตัวอย่างข้างต้นที่ผู้บริจาคมีเงินเดือนหลักแสน เสียภาษีขั้นสูงสุด 15% จะสามารถได้คืนภาษีถึง 30%

บริจาคผ่านปันบุญ (e-Donation) ช่องทางบริจาค
ที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริจาค โดยไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาค
ช่วยให้ผู้บริจาคได้รับเงินคืนภาษีได้รวดเร็วขึ้น

ปันบุญ punboon.org เป็น website ที่รวบรวมมูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศลหลากหลายไว้ให้เราเลือกบริจาคตามความสนใจของแต่ละคนได้อย่างสะดวก มีแยกรายชื่อหน่วยงานที่รับบริจาคและลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า รวมถึงมูลนิธิที่มีบริการ e-donation ให้อย่างชัดเจน สามารถบริจาคแบบ online ได้ ไม่ว่าจะบริจาคผ่าน QR Code หรือ mobile banking application ธนาคารที่เราสะดวก หรือใช้บัตรเครดิต

ชวนทุกคนลองใช้เทคนิคที่แนะนำ
วางแผนการบริจาค เพื่อหักลดหย่อนภาษี

ชวนทุกคนทำบุญส่งท้ายปีเพื่อต้อนรับปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ ด้วยการบริจาคทุนการศึกษาให้กับเด็กที่ขาดโอกาสได้เรียนหนังสือต่อ ทั้งยังได้มอบอนาคตที่สดใสให้กับเด็กๆ แถมได้ผลเป็นเงินคืนภาษีในปีถัดไป และยังช่วยสร้างสังคมไทยให้แข็งแรงขึ้นอีกด้วย

เรื่องโดย : คุณเสนธิป ศรีไพพรรณ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคาร ttb
ผู้บริจาคมูลนิธิยุวพัฒน์ต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปี