ปัจจุบันการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ได้กลายมาเป็นตัวเลือกอันดับแรกของใครหลายๆ คน ทั้งสะดวก ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นอกจากนี้สินค้าบนออนไลน์ยังมีราคาย่อมเยา และมีสินค้าให้เลือกสรรมากมายอย่างไม่รู้จบ
อย่างไรก็ตาม การช้อปปิ้งผ่านหน้าจอไม่ได้มีความสะดวกสบายเพียงอย่างเดียว ด้วยความที่ผู้คนหันมานิยมซื้อสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ย่อมทำให้มิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาในโลกอินเตอร์เน็ตมากขึ้นด้วย
สถิติศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ หรือ สพทอ. ได้แสดงให้เห็นว่าในปี 2564 มีผู้ร้องเรียนเฉพาะเรื่องซื้อขายออนไลน์ ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ถึง เดือนสิงหาคม เฉลี่ย 2,221 ครั้งต่อเดือน เมื่อเทียบกับปี 2563 ค่าเฉลี่ยร้องเรียนอยู่ที่ 1,718 ครั้งต่อเดือน การร้องเรียนเรื่องซื้อขายออนไลน์สองพันกว่าครั้งนี้ ทาง สพทอ. แจ้งว่าเป็นสถิติเฉลี่ยต่อเดือนที่สูงที่สุดตั้งแต่เปิดดำเนินการศูนย์ฯ มาตั้งแต่ปี 2558

ยิ่งเทคโนโลยีก้าวล้ำไปข้างหน้ามากเท่าไหร่ เหล่ามิจฉาชีพก็มีกลโกงต่างๆ เพื่อหลอกลวงผู้ใช้บริการมากขึ้น นอกจากเงินที่ต้องเสียให้กับมิจฉาชีพเหล่านี้แล้ว บางครั้งอาจส่งผลให้นักช้อปออนไลน์มีส่วนพัวพันด้านกฎหมาย ที่ร้ายแรงมากที่สุด คือ หากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่สามารถหาทางออกได้ การโดนหลอกลวงก็อาจส่งผลต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะกับเหล่าเยาวชนที่ตกเป็นผู้ถูกกระทำได้ง่าย ตามที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ที่มีเด็กชายวัย 14 ปี เกิดความเครียดที่ถูกมิจฉาชีพโกงเงินค่าซื้อมือถือ และเสียชีวิตจากอาการเส้นเลือดในสมองแตก

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ เมื่อซื้อสินค้าทางออนไลน์

สั่งของแต่ไม่ได้ของ

ปัญหาการสั่งซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า เป็นปัญหาการซื้อของทางออนไลน์ที่มีสถิติร้องเรียนมายังศูนย์รับร้องร้องเรียนปัญหาออนไลน์มากที่สุด คิดเป็น 45% แน่นอนว่าปัญหานี้คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังเสียอารมณ์อีกด้วย

สินค้าไม่เหมือนกับที่ร้านโฆษณา

ตามวลีฮิตที่พูดกันว่า “สินค้าไม่ตรงปก”  ในเมื่อสินค้าที่เราเห็น สวย น่ารัก สีสันสดใส ราคาก็ดี ก็ทำให้อดใจไม่ไหวจนต้องกดสั่งซื้อ แต่เมื่อได้รับสินค้าแล้ว แกะกล่องพัสดุออกมา…ทั้งสีและรูปลักษณ์ผิดเพี้ยนกับสิ่งที่เห็นบนหน้าเว็บไซต์

บางเคสหนักยิ่งกว่า เพราะสั่งของอย่างหนึ่งแต่ได้สินค้าอีกอย่างหนึ่ง ผู้บริโภคบางรายสั่งซื้อโทรศัพท์มือถือ แต่เมื่อสินค้ามาถึงมือกลับกลายเป็นก้อนหิน เป็นขวดน้ำเปล่า หรือบางรายที่สั่งซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ อย่างเช่น เต็นท์สำหรับค้างแรม แต่ได้รับของจำลองขนาดตุ๊กตา เคสเหล่านี้มีให้พบเห็นได้บ่อยตามสื่อต่างๆ

ได้รับสินค้าทั้งๆ ที่ไม่ได้สั่งซื้อ

นี่ไม่ใช่การได้รับของฟรี แต่ต้องเสียเงินทั้งๆ ที่เราไม่ได้สั่งของ เมื่อเหล่ามิจฉาชีพตีเนียนส่งของผ่านบริษัทขนส่งมาถึงบ้าน โดยใช้วิธีการชำระเงินแบบเก็บเงินปลายทาง เหตุการณ์ลักษณะนี้ อาจเกิดขึ้นได้หากนักช้อปทั้งหลายไม่ได้จดจำรายการที่กดสั่งซื้อว่ามีอะไรบ้าง เมื่อพัสดุมาถึงบ้านก็เข้าใจว่าเป็นของที่ตัวเองสั่งซื้อไว้ หรือคนในบ้านเข้าใจว่าเป็นของที่สมาชิกคนใดคนหนึ่งสั่งซื้อไว้ และเซ็นต์ชื่อรับของพร้อมชำระเงินแทนไปเรียบร้อย กว่าจะรู้ตัวว่าพัสดุนี้ไม่มีเจ้าของ ก็สายไปเสียแล้ว

และอันตรายไปกว่านั้น คือ การเซ็นต์รับพัสดุผิดกฎหมาย ที่มิจฉาชีพตีเนียนเป็นผู้ส่ง เมื่อเราเซ็นต์รับของ คนร้ายแกงค์เดียวกัน ก็ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุกเข้ามาเพื่อมารีดไถเงิน โดยการอ้างว่าเราเป็นผู้สั่งซื้อของผิดกฎหมายก็เป็นได้

ยิ่งโลกหมุนไปข้างหน้าเร็วเท่าไหร่ กลโกงในการจ้องจะเอาเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น อย่างกรณี มิจฉาชีพ A ได้หลอก B ว่าตนเองขายมือถือ แต่เมื่อ B จะโอนเงินให้ มิจฉาชีพ A ให้ B โอนไปยังบัญชีของ C ผู้เป็นผู้ค้าขายโทรศัพท์มือถือตัวจริง ทว่า…ในขณะเดียวกัน ผู้ค้า C ก็โดน มิจฉาชีพ A หลอกว่าต้องการซื้อมือถือจากผู้ค้า C และจะโอนเงินมาให้ แต่ในความเป็นจริงนั้น เงินที่โอนเข้าบัญชีเป็นของ B ที่โอนให้

B เสียทั้งเงินและไม่ได้รับสินค้า ผู้ค้า C โดนหลอกขายมือถือและเงินที่ได้มานั้นก็เปล่าประโยชน์ เพราะมาจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ถึงแม้ว่าจะมีผู้ไม่ประสงค์ดีแฝงตัวมากับการซื้อของออนไลน์ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องกับเจอเหตุการณ์อย่างนี้เสมอไป เพราะปัจจุบันการนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราได้รู้เกี่ยวกับกลโกงต่างๆ ของเหล่ามิจฉาชีพ ฉะนั้นมาป้องกันไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ด้วยวิธีการเบื้องต้น ดังนี้

1. ตรวจสอบและเปรียบเทียบราคาสินค้าจากหลายๆ ร้าน

ในยุคออนไลน์ที่อะไรๆ ก็เป็นเรื่องง่าย มีหลายเว็บไซต์ที่ให้บริการในการเปรียบเทียบราคาสินค้าไม่กี่คลิ๊ก การเทียบราคาสินค้าไม่เพียงแต่จะทำให้เราได้สินค้าในราคาที่เราพอใจ แต่ยังทำให้เราเห็นความสมเหตุสมผลของราคาสินค้านั้นๆ หากราคาสินค้าของร้านค้าออนไลน์ร้านไหนที่มีราคาถูกหรือแพงเกินกว่าที่ควรจะเป็น จุดนี้จะทำให้เราได้พิจารณาว่าร้านค้านี้มีความไม่ปกติหรือไม่

2. เลือกซื้อของจาก Official store หรือแพลตฟอร์มที่ไว้ใจได้

Official store ก็คือร้านค้าที่มีการลงทะเบียนและมีอยู่จริง เพียงเปลี่ยนจากหน้าร้านย้ายมาขายบนออนไลน์ หลายๆ แบรนด์ที่มี Official store เป็นของตัวเอง และอยู่บนแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ อย่างเช่น Shoppee, Lazada, Shien ฯลฯ ที่ต้องมีการลงทะเบียนร้านค้าโดยใช้ข้อมูลจริง ซึ่งถ้าหากลูกค้าพบปัญหาในการสั่งซื้อหรือสินค้าที่ได้รับนั้นมีปัญหา ก็สามารถแจ้งปัญหาผ่าน Official store หรือแพลตฟอร์มนั้นๆ ได้ในทันที นอกเหนือจากนั้น ข้อดีของการเลือกซื้อของผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ คือการได้อ่านรีวิวจากผู้ใช้งานจริงก่อน ซึ่งจะช่วยให้เราตัดสินใจก่อนที่จะกดสั่งซื้อได้

3. ตรวจสอบบัญชีผู้โอน

ข้อมูลที่อยู่บนโลกออนไลน์ยากที่จะโดนลบไปเหมือนข้อมูลที่อยู่บนกระดาษ หากเป็นการซื้อของออนไลน์โดยโอนเงินไปให้ผู้ขายที่เป็นปัจเจกบุคคล เราสามารถสืบประวัติของผู้ขายเบื้องต้น โดยนำเลขที่บัญชีหรือชื่อของผู้ขายไปค้นหาบน Google เพื่อที่จะหาประวัติว่าเคยมีคนโพสต์เกี่ยวกับการฉ้อโกงในการซื้อของหรือไม่

หากเป็นร้านค้าออนไลน์ที่มีการสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเอง เราก็สามารถตรวจสอบร้านค้านั้นได้เช่นกัน ว่ามีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกระทรวงพาณิชย์แล้วหรือยัง สามารถศึกษามีวิธีการตรวจสอบ ได้ที่ https://www.taxbugnoms.co/3-items-for-trusted-business/

4. เก็บหลักฐานการโอนเงินไว้เสมอ

เพื่อเป็นการยืนยันว่าเราได้ชำระเงินซื้อสินค้านั้นอย่างถูกต้อง สลิปการโอนหรือแม้กระทั่งข้อความในแชทที่มีการสั่งซื้อสินค้า ถือได้ว่าเป็นข้อมูลสำคัญ โดยเฉพาะชื่อ – นามสกุล, เลขบัญชีของผู้ขาย, เบอร์ติดต่อ ฯลฯ ซึ่งหากมีปัญหาในการสั่งสินค้าขึ้นมา หลักฐานเหล่านี้จะมีประโยชน์ในการดำเนินการทางด้านกฎหมายได้ 

5. ทำลายข้อมูลส่วนตัวบนกล่องพัสดุ

ข้อนี้เป็นอะไรที่หลายคนมองข้าม ทั้งที่จริงแล้ว ชื่อ – นามสกุล, ที่อยู่, เบอร์โทร ถือเป็นข้อมูลส่วนตัวอย่างหนึ่ง หากมีผู้ไม่ประสงค์ดีได้ข้อมูลส่วนนี้ไป อาจส่งผลกระทบในอนาคตได้ เช่น การปลอมแปลงข้อมูล หรือส่งของผิดกฏหมายมาที่บ้านเรา เพราะฉะนั้นแล้ว อย่าลืม! ขีดฆ่าหรือทำลายเพื่อปกปิดข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ก่อนนำกล่องพัสดุไปทิ้ง

โอกาสที่เราจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพจะเกิดขึ้นน้อยมากหากเราใช้ “สติ” เป็นการป้องกันตัวเราเอง ไม่ทำให้เราเสียเงินไปฟรีๆ และยังช่วยป้องกันไม่ให้เราเจ็บใจที่เป็นเครื่องมือของเหล่ามิจฉาชีพ สติจะช่วยให้เรามีเหตุมีผลมากขึ้นในการที่จะซื้อของแต่ละครั้ง เพราะนอกจากจะป้องกันเราจากเหล่าผู้ไม่ประสงค์ดีแล้ว ยังทำให้เราได้พิจารณาว่าสินค้าที่เราจะสั่งซื้อนั้นมีความจำเป็นจริงๆ ไหม

“ซื้อเมื่อจำเป็น” ประโยคนี้ยังใช้ได้อยู่เสมอกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เป็นหลักการพื้นฐานที่ช่วยให้เราคิดแบบมีเหตุผล และเรื่องการออมเงิน

เรื่อง : ศิริพรรณ รัตนะอำพร
ข้อมูลอ้างอิง : https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/1212-OCC-Reveals-10-Online-Frauds.aspx

ภาพประกอบ :
https://www.pinterest.com/
https://www.domestika.org/es/projects
https://www.refinery29.com/en-us/online-shopping-2021-innovations