ผ่านไป 17 ปี ภาพยนตร์คอมมาดี้วัยรุ่นสุดฮิตเรื่อง “Mean Girls” ที่ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2004 โดยมีชื่อไทยว่า ‘มีนเกิลส์ ก๊วนสาวซ่าส์วีนซะไม่มี’ คงไม่มีใครไม่รู้จักเรื่อง Mean girls เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงหนังวัยรุ่นดาษดื่นทั่วไป ที่มีตัวละครเล่นไปตามบทเหมือนหนังวัยรุ่นเรื่องอื่นๆ แต่เนื้อเรื่องได้ตีแผ่วัฒนธรรมทางสังคมของวัยรุ่น (High School) ที่ตีแผ่ออกมาได้อย่างน่าติดตามและยังเป็นที่พูดถึงกันอยู่ทุกวันนี้ เพราะเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมอย่างล้นหลาม และแจ้งเกิด 4 สาว คือ Lindsay Lohan, Rachel McAdams, Lacey Chabert และ Amanda Seyfried จนกลายเป็นดาราดังจนถึงทุกวันนี้  ดังระเบิดถึงขนาดที่อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามาได้ทวิตข้อความผ่าน Twitter ส่วนตัวของเขา “Bo, stop trying to make fetch happen.” ซึ่งเป็นวลีที่ “เกร็ตเชน วีนเนอร์ส” (Gretchen Wieners) หนึ่งในตัวละครหลักมักพูดอยู่บ่อยๆ จึงทำให้ต้องหยิบเรื่องนี้มาวิเคราะห์เรื่องราวของวัยรุ่นกัน

เรื่องราวของ “Mean Girls”

หนังเปิดเรื่องมาด้วยสาวน้อยหน้าตาจิ้มลิ้มผมแดง ‘เคดี้ ฮารอน’ (Cady Heron) อาศัยอยู่ที่แอฟริกามาตั้งแต่เด็กมากว่า 15 ปี เคดี้ไม่เคยไปโรงเรียนจริงๆ มาก่อน ทั้งชีวิตของเธอได้รับการศึกษาแบบ Homeschool มาโดยตลอด และด้วยงานใหม่ของผู้เป็นแม่ทำให้ทั้งครอบครัวต้องมาตั้งรกรากอยู่ที่อเมริกา และทำให้เคดี้จะได้ไปเรียนมัธยมปลายเป็นครั้งแรกในโรงเรียนจริงๆ สักที เคดี้ต้องเรียนรู้และพยายามปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสังคมของที่นี่ แต่วันแรกของเธอที่โรงเรียนนั้น จบด้วยการต้องไปกินอาหารกลางวันในห้องน้ำคนเดียว 

สมาชิกกลุ่ม The plastics มีหัวหน้าแก๊งสุดสวย สาวป๊อปประจำโรงเรียน บ้านรวย ผมสีบลอนด์ ที่มาพร้อมมกับรูปร่างสุดเพอร์เฟค แต่การสื่อสารและการกระทำนั้นช่างร้ายเหลือทน เธอชื่อว่า ‘เรจิน่า จอร์จ’ (Regina George) และแน่นอนเมื่อมีหัวหน้าแก๊งก็ต้องมีลูกสมุน ‘เกร็ตเชน วีนเนอร์ส’ (Gretchen Wieners) สาววัยรุ่นผมหยักศก บ้านมีฐานะ และ ‘คาเร็น สมิธ’(Karen Smith) สาวที่ชอบแต่งหน้าจัด ผมสีบลอนด์น้ำตาลและชอบทำอะไรที่ดูไม่ฉลาดเอาเสียเลย

เรื่องราวเริ่มสนุกขึ้น เมื่อเจนิสและเดเนียลให้เคดี้ไปตีสนิทกับกลุ่มสาวฮ็อตเพื่อที่จะทำลายแก๊งค์นี้ เริ่มแรกเคดี้ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเพื่อนสองคนนี้ถึงอยากทำให้สมาชิกกลุ่มนี้แตกหักกัน เธอจึงเล่นละครตีเนียนไปเรื่อยๆ จนเธอตัดสินใจเข้ากลุ่มสาวพลาสติกหน้าสวยแต่สมองกลวง เพื่อวางแผนทำลายและแก้แค้นสาวแสบแก๊งนี้

แต่แล้ววันหนึ่งเคดี้ได้ตกหลุมรักเข้าอย่างจังกับหนุ่มหน้าใส ‘แอรอน ซามูลเอลส์’ (Aaron Samuels) เธอได้เล่าเรื่องราวความรักนี้ให้กับสองลูกสมุนของเรจจิน่า จอร์จ ฟัง และพบว่าแอรอน คือแฟนเก่าของเรจิน่า ด้วยความใสซื่อ เคดี้คิดว่าเรจิน่าจะช่วยให้เธอกับแอรอนใกล้ชิดกัน แต่เปล่าเลย…เรจิน่ากลับไปขอคบกับแอรอนอีกครั้ง ทำให้เคดี้โกรธแค้น เธอเปลี่ยนไปไม่ใช่คนเดิม ร้ายกว่าที่ใครคิด และเรื่องราวการเอาคืนสุดอลหม่านจึงเกิดขึ้นทันที

ตัวหนังถ่ายทอดเรื่องราวให้เห็นว่า การใช้ชีวิตผ่านตัวละครในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องหนักหนาสาหัส และพยายามปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมใหม่ การตกเป็นเหยื่อของสงครามจิตวิทยากับกฎเกณฑ์สมอ้างขึ้นเองทางสังคม ที่วัยรุ่นในยุคปัจจุบันทั้งหลายอาจจะได้เผชิญ ถึงแม้ว่าเรื่องราวของหนังจะเกิดใน North Shore High School แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตัวละครนั้น ไม่ได้มีแค่ในโรงเรียนอเมริกันเพียงอย่างเดียว แต่สะท้อนให้เห็นว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกประเทศ ทั่วโลก

8 บทเรียน ชวนวิเคราะห์จากภาพยนตร์ “Mean Girls”

บทเรียนที่ 1 แบ่งพรรคแบ่งพวก และแบ่งแยกชนชั้น

ฉากที่เจนิสอธิบายถึงการแบ่งกลุ่มในการเลือกที่นั่งโต๊ะอาหารกลางวัน ที่มีทั้งกลุ่มนักกีฬา, กลุ่มคนรวย เริ๊ด เชิด หยิ่งแบบผู้ดี, กลุ่มเด็กเรียนชาวเอเชียน, กลุ่มเด็กเจ๋งๆ ชาวเอเชียน, กลุ่มแอฟริกัน-อเมริกันที่ไม่เป็นมิตร, กลุ่มคลั่งผอม, กลุ่มติดแฟน, กลุ่มพลาสติก (ศัลยกรรม) ฯลฯ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่ไม่ได้มีแค่ในโรงเรียนเท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้ไปถึงสังคมทุกกลุ่ม ออฟฟิศ องค์กรที่เราอยู่กันจริงๆ อีกด้วย

ในชีวิตจริงเราอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเราเองก็แบ่งแยกคนอื่นๆ ให้อยู่ตามกลุ่มจากการตัดสินของเรา เพียงเพราะเราคิดว่าเขาหรือเธอน่าจะเป็นคนประเภทนั้นประเภทนี้ อาทิ กลุ่มนั้นเลือกกินแต่ผักต้องเป็นคนรักสุขภาพ, กลุ่มนี้ชวนกันไปฟิตเนตต้องเป็นกลุ่มรักการออกกำลังกาย, กลุ่มโน้นชอบเล่นเกมส์ กลุ่มนี้ชอบกินหมูกะทะ ชาบู เป็นต้น เฉกเช่นเดียวกับที่เรจิน่าที่คิดว่าพวกนักเรียนที่เข้าชมรมคณิตศาสตร์เป็นพวกเด็กเรียนน่าเบื่อและไม่น่าคบ

บทเรียนที่ 2 ความรักทำให้คนตาบอด

ประโยคที่กล่าวทีไรก็รู้สึกเชยทุกที แต่มันคือความจริงตลอดกาล เมื่อเคดี้ยอมแกล้งสอบตกวิชาคณิตศาสตร์เพื่อเรียกร้องความสนใจจากแอรอน ชายหนุ่มที่เธอใจละลายเมื่อเห็นหน้าครั้งแรก ทั้งที่เคดี้มีความสามารถเป็นเลิศและรักในวิชานี้อย่างมาก แต่ยอมแกล้งโง่เพื่อจะให้แอรอนมาติววิชานี้ให้ หากดูหนังไปสักระยะจะพบว่าแอรอนก็มีใจให้เคดี้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่เพราะความใกล้ชิดเวลาที่เขาสอนวิชาเลขให้แก่เธอหรือการที่เคดี้ได้อยู่ในแก๊งสาวฮ็อต แต่เหตุผลที่เชาชอบเธอเป็นเพราะความสดใส รอยยิ้มที่เป็นมิตร ความเป็นตัวของตัวเองของเคดี้ และนี่คือสิ่งที่ทำให้เขาชอบเคดี้จากหัวใจ

บทเรียนที่ 3 คำพูดส่งผลกระทบมากกว่าที่คิด

หนังเฉลยว่าสาวป๊อปปูล่าประจำโรงเรียน เรจิน่า เคยเป็นเพื่อนกับเจนิสสาวติสแตกเมื่อวัยเด็ก ทั้งคู่มีเรื่องผิดใจกันเล็กน้อย แต่เรจิน่ากลับเอาไปป่าวประกาศกับนักเรียนคนอื่นว่าเจนิสเป็นพวกรักเพศเดียวกัน (หญิงรักหญิง) ทำให้เพื่อนคนอื่นไม่คบเจนิส คำกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริงนี้คงได้ทำร้ายจิตใจเจนิสอย่างแสนสาหัส เจนิสหยุดเรียนไปและเมื่อกลับมาเรียนเธอได้เปลี่ยนรูปลักษณ์ไปเป็นคนละคน

ไม่เพียงแต่สิ่งที่เรจิน่าทำกับเพื่อนสนิท (เคน) เคดี้ได้กล่าวหาว่าครูประจำวิชาคณิตศาสตร์เป็นคนค้ายา การกล่าวหานี้เกิดขึ้นโดยเธอเขียนระบายลงในหนังสือรวมคำนินทาสุดเผ็ดร้อน และมันก็หลุดไปถึงมือตำรวจ ทำให้ครูที่หวังดีต่อเคดี้โดนสอบสวน เคดี้ไม่ได้ตั้งใจให้เรื่องราวเลยเถิดไปถึงเพียงนี้ เธอทำไปเพียงเพราะอารมณ์ทั้งสิ้น ขาดการคิดไตร่ตรองถึงผลที่จะตามมา

บทเรียนที่ 4 ครอบครัวคือพื้นฐานที่สำคัญ

เหตุที่ เรจิน่า จอร์จ มีพฤติกรรมเช่นนี้เหตุสำคัญมาจากการเลี้ยงดู คุณแม่ของเรจิน่าที่หน้าตาและทรงผมเป๊ะอยู่เสมอ เธอดูเหมือนคุณแม่หัวสมัยใหม่ทั่วไป แต่หากสังเกตดีๆ จะพบว่าคุณแม่คนนี้เลี้ยงลูกแบบตามใจ แม้ว่าเรจิน่าทำในสิ่งที่ผิด แม่ของเธอกลับไม่ว่ากล่าวตักเตือนหรือแนะนำถึงผลการกระทำใดๆ เลย แต่กลับเห็นดีเห็นงามไปด้วย รวมไปถึงน้องสาววัยกำลังน่ารักของเรจิน่า วัย 7 ขวบ ที่เธอได้ดูหนังแนวผู้ใหญ่ มีสาวๆ นุ่งน้อยห่มน้อยเดินอยู่บนชายหาด คุณแม่ของเธอไม่มีการห้ามปรามหรือชี้แนะอะไร เมื่อมีฉากที่สาวๆ เหล่านั้นเลิกเสื้อขึ้น น้องสาวของเรจิน่าได้เลียนแบบด้วยความไม่รู้ว่าเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือไม่ ถ้าวิเคราะห์เนื้อหาในส่วนนี้ให้ดี จะเห็นว่ารากฐานและพฤติกรรมของเด็กมักจะได้รับอิทธิพลอย่างมากมาจากการเลี้ยงดูของที่บ้าน สิ่งที่ผู้ปกครองต้องตระหนักให้ดี คือ การสร้างภูมิคุ้มกัน และแนะนำให้เด็กได้รู้จักคิด วิเคราะห์ ชวนหาเหตุผล เพื่อให้เด็กตัดสินใจได้เองว่าสิ่งไหนทำได้หรือทำไม่ได้

บทเรียนที่ 5 การเยาะเย้ย ไม่มีใครได้ประโยชน์

ฉากที่เคดี้ไปแข่งขันตอบปัญหาทางคณิตศาสตร์ เธอเห็นว่าผู้หญิงคนเดียวในทีมของฝั่งตรงข้ามหน้าตาไม่น่ารักเอาเสียเลย เสียงในหัวของเคดี้พูดมาเป็นระยะเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของอีกฝ่าย ทั้งขนคิ้วที่หนาเตอะ ทั้งเสื้อผ้าสุดเฉิ่มที่ดูไร้รสนิยม แต่แล้วเธอก็ตระหนักว่าการเหยียดหยันฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ทำให้เธอชนะการแข่งขันในครั้งนี้ แต่เป็นทักษะด้านสติปัญญาของแต่ละฝ่ายที่มี ที่จะสามารถเอาชนะกันได้ในการแข่งขัน

“Calling somebody else fat won’t make you any skinner.
Calling someone stupid doesn’t make you any smarter”

“การที่เราว่าใครบางคนอ้วน ไม่ได้ทำให้เราผอมขึ้น
การหาว่าคนอื่นโง่ก็ไม่ได้ทำให้เราฉลาดขึ้นเลยแม้แต่น้อย”

หากย้อนมองดูตัวเอง เราอาจจะเผลอไปวิจารณ์คนอื่นโดยไม่ทันได้คิดไตร่ตรอง และหากเราใช้เวลาสักนิด ลองพิจารณาดูว่ามีประโยชน์อะไรที่เราได้จากการกระทำแบบนี้…คำตอบคือไม่มีเลย ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย การกระทำนี้กำลังดึงเราไปสู่ด้านมืด อีกทั้งการทำแบบนี้บ่อยๆ อาจกลายเป็นความเคยชิน คิดว่าสิ่งที่ผิดเป็นสิ่งที่ถูกและกลายเป็นนิสัยที่ทำให้ผู้อื่นไม่สบายใจเมื่อต้องอยู่ร่วมกันกับเรา

บทเรียนที่  6 การล่วงละเมิดทางเพศ ความจริงที่ไม่ควรมองข้าม

ครูสอนวิชาพละในหนังได้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนักเรียนของตัวเอง แต่ด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิของเด็กนักเรียนทำให้ไม่รู้ว่านี่คือการล่วงละเมิด พวกเธอยังตบตีกันเองเสียด้วยซ้ำเมื่อรู้ว่าครูสอนวิชาพละคนนี้แอบคบพวกเธอทั้งสองคนในเวลาเดียวกัน หนังได้หยิบจับประเด็นที่เป็นจุดบอดที่สามารถเกิดขึ้นได้ในโรงเรียน มาเป็นประเด็นที่ใครหลายคนไม่อยากพูดถึง แต่มันสามารถเกิดได้กับสังคมในโรงเรียนไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ถือได้ว่าตัวหนังสามารถถ่ายทอดมุมมองออกมาได้อย่างดี ที่จะช่วยให้ผู้ปกครอง บุคลากรในโรงเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาตระหนักกับเรื่องนี้ โดยท้ายที่สุดแล้ว ครูพละก็ดับอนาคตทางหน้าที่การงานของตัวเองไปทันที

บทเรียนที่ 7 คำว่า “ขอโทษ” คำพูดง่ายๆ ที่พูดออกไปเมื่อไหร่เหมือนยกภูเขาออกจากอก

หลายครั้งที่เราทำอะไรผิดไป ภายในใจของเราลึกๆ แล้วก็รู้สึกผิด แต่การจะเดินไปขอโทษคนๆ นั้น ก็ช่างดูเป็นเรื่องที่ยากเย็นเสียเหลือเกิน ฉากที่เคดี้ไปที่บ้านของเรจิน่าพร้อมช่อดอกไม้ช่อโต เพื่อที่จะขอโทษกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่เมื่อได้ยินเสียงกรีดร้องดังลั่นบ้านของเรจิน่าแล้ว ทำให้เธอตัดสินใจเดินกลับไป อีกทั้งตอนที่คุณครูให้นักเรียนหญิงทุกคนยืนต่อแถวเพื่อระบายความในใจพร้อมกล่าวคำขอโทษกับเพื่อนๆ ถึงสิ่งที่ตนเองอาจจะเผลอพูดหรือกระทำให้เพื่อนเสียช้ำน้ำใจ เคดี้กลับปฏิเสธที่จะกล่าวคำขอโทษ

จะเห็นว่าเคดี้ไม่ได้หยิ่งโอหังที่จะกล่าวคำๆ นี้ แต่เป็นเพราะความรู้สึกกลัวที่เมื่อกล่าวออกไปแล้วผู้คนรอบตัวเธออาจไม่ให้อภัยกับสิ่งที่เธอได้ก่อไว้ และท้ายที่สุดเธอก็ได้รวบรวมความกล้า กล่าวคำขอโทษกับเพื่อนๆ กลางงานเต้นรำ ทั้งที่ตัวเธอเองก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เธอทำลงไปจะได้รับการให้อภัยหรือไม่ แต่แล้วเธอก็รู้สึกเหมือนได้ยกภูเขาออกจากอก และเพื่อนๆ ก็พร้อมให้อภัยเธอเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ เรจิน่า จอร์จ

บทเรียนที่ 8 ทุกคนมีจุดเด่นของตัวเอง

ในช่วงท้ายของเรื่องเคดี้เองก็ได้ตระหนักว่าทุกคนมีความสวยงามอยู่ในตัวเอง เคดี้กล่าวชมความสวยงามที่ทุกคนมีอยู่ในตัวจริงๆ เธอพบว่า ‘มงกุฎงานพรอม’ สิ่งที่ทุกคนถวิลหาอยากได้มาครอบครองจริงๆ แล้ว มันเป็นเพียงแต่มงกุฏพลาสติกเท่านั้น เธอได้หักมงกุฎออกเป็นส่วนๆ แล้วแบ่งให้กับทุกคนเพราะเห็นแล้วว่าทุกคนมีส่วนดีงามอยู่ในตัวไม่ใช่เพียงเพราะรูปลักษณ์ภายนอก ทุกคนจึงสมควรได้มัน

หลายครั้งหลายคราที่เรามักมองเห็นข้อด้อยของคนอื่น ทำให้เรามองไม่เห็นข้อดีของอีกฝ่ายและของตนเองเพราะความคิดที่เป็นด้านลบ การมองในที่นี้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เราต้องมองผ่านการกระทำ มองผ่านจิตใจของพวกเขา เราจึงจะรู้สึกผ่านหัวใจได้ว่าทุกคนมีข้อดีและความงามอยู่ในตัวอย่างแท้จริง

หนังเรื่อง Mean girls ด้วยทุนสร้างเพียง 17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่สร้างรายได้ได้ถึง 130 ล้านดอลล่าสหรัฐฯ ไม่ใช่เพียงเพราะนักแสดงขวัญใจวัยรุ่นหรือการเข้าถึงบทบาทหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นเพราะตัวหนังได้ตีแตกถึงสังคม เสียดสีบริบทของผู้คนผ่านโรงเรียนมัธยมและตัวละครเหล่านี้ เนื้อหาของหนังชวนน่าติดตามพร้อมด้วยบทพูดที่กระแทกเสียดแทงใจ ถ้าจะหาหัวข้อดีๆ สักเรื่องที่เกี่ยวกับวัยรุ่นมาวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์กัน หนังเรื่องนี้คือหนังอีกเรื่องที่แม้จะสามารถดูได้อย่างสบายๆ แต่เนื้อหาสาระและประเด็นต่างๆ นั้นมีอยู่ในหนังอย่างมากมายเลยทีเดียว

เรื่อง : ศิริพรรณ รัตนะอำพร
รูปภาพประกอบ : ภาพยนตร์ Mean Girls