เมื่อพูดถึงการแนะแนวในโรงเรียน หลายคนอาจนึกถึงบทบาทของครูที่ให้คำปรึกษาและช่วยนักเรียนค้นหาเส้นทางการศึกษาต่อ แต่สำหรับ “ครูยุ้ย อัญชลี ระดมแสง” การได้เข้าร่วมกิจกรรมครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ กับ a-chieve กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การสอนวิชาชีววิทยาของเธอมีชีวิตชีวาและนักเรียนมีส่วนร่วมกับการสอนของเธอมากขึ้น
ครูยุ้ย – อัญชลี ระดมแสง
ครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ รุ่นที่ 1 : โดย a-chieve (ปี 2561)
ครูยุ้ยได้เล่าถึงประสบการณ์จากการได้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ รุ่นที่ 1 โดย a-chieve หนึ่งใน 9 เครื่องมือสร้างโอกาส ภายใต้โครงการร้อยพลังการศึกษา ซึ่งในตอนนั้นครูยุ้ยได้รับหน้าที่ดูแลงานแนะแนว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูยุ้ยได้เรียนรู้และนำกระบวนการแนะแนวมาปรับใช้กับการสอนวิชาชีววิทยาจนถึงวันนี้ แม้ในปัจจุบันครูยุ้ยได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ และไม่ได้ดูแลงานแนะแนวแล้วก็ตาม แม้จะเสียดายหน้าที่นี้ แต่สิ่งที่ครูยุ้ยได้เรียนรู้มาก็ช่วยเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนและวิธีดูแลนักเรียน ซึ่งเธอไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้และทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักคิดและกระบวนการแนะแนวมาปรับใช้ จนทำให้มีหลายคนมาทักและสอบถามว่า… เธอเหมือนครูแนะแนว ใช้กระบวนการแนะแนวกับวิชาชีววิทยาอย่างไร? ครูยุ้ยให้เหตุผลว่า…จากวันแรกที่ได้เจอกับ a-chieve เมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเส้นทางอาชีพครูของเธอ ครูยุ้ยต้องทำงานกับตัวเองเยอะมาก เธอได้ทดลองนำกระบวนการที่ได้เรียนรู้มาใช้กับนักเรียนและผลที่เกิดขึ้นก็ดีมากขึ้นจริง ๆ เธอเล่าอย่างภูมิใจถึงการนำกระบวนการแนะแนวที่ได้รับมาใช้ในการเรียนการสอน
โดยครูยุ้ยเริ่มจากวิธีการง่าย ๆ เช่น เปลี่ยนชื่อสิ่งของจากกระบวนการของทาง a-chieve ที่ให้มาในแผนการสอนแนะแนว มาเป็นชื่อของสารต่าง ๆ ในวิชาชีววิทยา ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนเปลี่ยนไป นักเรียนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น และเข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น ตัวครูยุ้ยก็เข้าใจนักเรียนมากขึ้น ทำให้เธอสามารถต่อยอดการวางแผนการสอนง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้ ครูยุ้ยยังย้ำถึงความสำคัญของการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ให้กับนักเรียน ไม่ใช่ต้องมีเฉพาะแค่ในห้องแนะแนวเท่านั้น แต่กระบวนการเหล่านี้สามารถขยายไปยังวิชาการอื่น ๆ ได้ด้วย การสร้างบรรยากาศที่นักเรียนรู้สึกปลอดภัยในการแสดงออกและให้พวกเขามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ได้ เป็นสิ่งที่ครูยุ้ยให้ความสำคัญมากที่สุด
สำหรับการจัดสรรเวลาและจัดการหน้าที่ในโรงเรียนก็เป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญที่ครูยุ้ยได้เรียนรู้ ครูยุ้ยตระหนักถึงความจำเป็นในการปฏิเสธงานพิเศษที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน เพื่อจะได้ทุ่มเทเวลาให้กับการเตรียมบทเรียนและดูแลนักเรียนอย่างเต็มที่ เธอกล่าวว่า…“เราต้องกล้าปฏิเสธงานที่ไม่จำเป็น เพื่อให้มีเวลาสำหรับการสอนจริงๆ” เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ครูยุ้ยแนะนำให้ครูคนอื่นๆ ที่มีภาระงานมาก ๆ ลองพิจารณาใช้วิธีนี้เช่นกัน อาจจะดูเป็นไปได้ยากเพราะไม่ว่ายุคสมัยไหนอาชีพครูมักจะมีงานล้นมืออยู่เสมอ แต่เพราะว่าครูยุ้ยมีประสบการณ์เรื่องนี้มาแล้ว ทำให้เข้าใจระบบ เข้าใจงาน เข้าใจครูที่อยากสั่งสมผลงานและประสบการณ์ต่าง ๆ แต่สิ่งที่ครูยุ้ยเห็นมาตลอด คือ ทุก ๆ งานจะดำเนินต่อไปได้ด้วยกลไกบางอย่างในโรงเรียน
อีกหนึ่งเคล็ดลับของครูยุ้ยในการจัดการกับนักเรียน คือ ช่วงนอกเวลาเรียน เธอขอให้นักเรียนถามคำถามในกลุ่มแชทรวม แทนการทักข้อความส่วนตัว ทำให้การตอบคำถามเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและนักเรียนทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน “ครูยุ้ยจะไม่ตอบแชทส่วนตัวกับเด็กๆ ถ้าคำถามเป็นเรื่องงานหรือเรื่องเรียน เพราะทำให้ครูเสียเวลามากเพื่อจะตอบคำถามซ้ำ ๆ การถามในกลุ่มแชทรวมจะช่วยให้นักเรียนทุก ๆ คนได้เรียนรู้และเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน”
สุดท้าย ครูยุ้ยก็เล่าถึงความประทับใจที่เคยได้ขึ้นเวทีไปบรรยายกระบวนการ Check-in, Check-out ที่จะทำให้คุณครูเข้าใจนักเรียนมากขึ้น ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากครูที่เข้าไปร่วมฟัง “สำหรับครูยุ้ยเชื่อว่ายังมีคุณครูอีกหลายท่านไม่เคยเจอกระบวนการแบบนี้ จริง ๆ แล้วก็เหมือนการสอนที่มี ขั้นนำ-ขั้นสอน-ขั้นสรุป แค่เราใส่ใจในความพร้อมของจิตใจนักเรียนให้มากขึ้น ครูจะเห็นแนวทางไปต่อได้เอง”
ประสบการณ์ของครูยุ้ยยืนยันว่า การแนะแนวไม่ใช่เพียงแค่การให้คำปรึกษา แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเยาวชนให้เติบโตไปอย่างมั่นคง การสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและการเรียนรู้ที่มีความหมายจะช่วยให้นักเรียนสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่