หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 ผ่อนคลายลง กิจกรรมและอีเว้นท์ต่างๆ ก็เริ่มกลับมาในรอบหลายๆ เดือน และกิจกรรม Pen Pal Day ครั้งที่ 7 ที่ถูกเลื่อนไปตั้งแต่เดือนมีนาคมก็ได้กลับมาจัดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจัดไปเมื่อวันเสาร์ ที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา กิจกรรมในครั้งนี้มีเหล่าอาสามาเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 27 คน ตอบจดหมายได้จำนวน 258 ฉบับ หลังการทำกิจกรรมแล้ว อาสาทุกคนก็ได้ร่วมกันถอดบทเรียน บอกเล่าเกี่ยวกับกิจกรรมครั้งนี้ที่อาสาทำอะไรได้ดี สิ่งที่อาสาอยากพัฒนา และความประทับใจในการมาตอบจดหมายน้อง เราจึงชวนหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม เฟิรส์ ศิรภัสสร จำปา มาพูดคุยและเล่าบรรยากาศของการได้ทำกิจกรรมตอบจดหมายน้องในครั้งนี้

ศิรภัสสร จำปา (เฟิร์ส)
ปัจจุบัน : กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 สาขาการจัดการงานออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
—————————————————

ความรู้สึกที่ได้มาร่วมงานอาสาตอบจดหมายในวันนี้

ประทับใจมากๆ อยากให้เพิ่มเวลาเขียนตอบจดหมายให้มากกว่านี้ อยากให้ทุกคนมาช่วยกัน เฟิร์สเชื่อว่าทุกคนที่สนใจงานอาสาตอบจดหมายทุกคนมีมุมมอง มีพลังบวกมาเยอะมากๆ และพร้อมจะส่งต่อไปให้น้องๆ อยู่แล้ว

เล่าประสบการณ์งานอาสาที่เคยทำมา

ก่อนหน้านี้เฟิร์สก็ทำอาสามาเยอะ ส่วนใหญ่จะทำกับน้องๆ เยาวชน เช่น ไปวาดรูปให้น้องๆ สอนวาดรูป แนะนำเรื่องศิลปะ ฯลฯ เคยไปทำอาสาในงานนิทรรศการที่ชะอำ ได้เจอเด็กๆ ด้วย ตอนแรกไม่ได้คิดเลยว่าจะได้เจอพวกเขา เพราะมีหน่วยงานพาน้องๆ มาชมงาน เป็นน้องๆ จากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นโรงเรียนที่มีตำรวจ 1 คนเป็นคุณครูสอนเด็กหลายๆ คนและหลากหลายเชื้อชาติ และกลุ่มน้องๆ ที่เราได้ดูแลเป็นน้องๆ ที่มาไกลมากๆ แต่ว่าน้องๆ อยู่ในอำเภอชะอำแต่ไม่เคยเห็นทะเลเลย น้องๆ บอกว่าออกเดินทางตั้งแต่ตี 1 มาถึงตัวเมืองชะอำ 9 โมง เพราะพวกเขาอยู่บนเขาสุดขอบชายแดน ไกลจากที่นี่มาก พวกเขาเดินทางมาไกลเพื่อมาดูงาน มาทัศนศึกษา มาดูทะเล เรารู้สึกว่าทำไมมันยากมากสำหรับพวกเขา รู้สึกทำไมแค่เห็นทะเลน้องๆ ก็พากันวิ่งกันกรี๊ดกร๊าดดีใจกันมากขนาดนั้น วันนั้นมีทั้งเด็กจากโรงเรียนในพื้นที่และเด็กจากโรงเรียนชายแดนที่มาร่วมกิจกรรม เราเห็นช่องว่างของโอกาสชัดเจนมากๆ เลย รวมทั้งวิธีการวางตัว วิธีการแสดงออก วิธีการสื่อสาร ทำไมถึงต่างกันมากขนาดนั้น ทั้งๆ ที่พวกเขาอายุเท่าๆ กัน เรียนระดับชั้นเดียวกัน บางคนเห็นทะเลหยิบโทรศัพท์ถ่ายรูปได้เลย แต่น้องๆ จากชายแดนต้องวิ่งมาหาครูของเขา หรือมาขอพี่ๆ Staff ให้ถ่ายรูปให้หน่อย ถ่ายรูปให้แล้วน้องๆ จะได้รูปกันยังไง น้องๆ ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีอีเมล เราต้องขออีเมลคุณครูเพื่อส่งรูปไปให้น้องๆ จุดนี้ทำให้เราได้เห็นถึงความลำบาก ความไม่เท่าเทียมกัน ก็เลยถามน้องๆ ด้วยว่าชีวิตเขามีความสุขมั้ย พวกเขาตอบว่ามีความสุขมากๆ เขามีความสุขกับการได้ดูแลต้นไม้ มีความสุขที่ได้ช่วยพ่อแม่กวาดบ้านถูบ้าน มีความสุขที่ได้วิ่งเล่น เขามีความสุขของเขาจริงๆ และพวกเขาไม่ได้มองว่าสิ่งที่เขามีอยู่มันเป็นความทุกข์หรือเป็นปัญหา แต่ทำให้เราเองรับรู้ว่าปัญหาที่น้องๆ กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้มันคือ การศึกษาและโอกาสที่ดี เข้าไปไม่ถึงพวกเขาเลย

พวกเขาไม่ได้มองว่าสิ่งที่เขามีอยู่มันเป็นความทุกข์หรือเป็นปัญหา แต่ทำให้เราเองรับรู้ว่าปัญหาที่น้องๆ กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้มันคือ การศึกษาและโอกาสที่ดี เข้าไปไม่ถึงพวกเขาเลย

การได้ทำงานอาสาทำให้เข้าใจปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนมากขึ้น

มันเป็นเรื่องที่เศร้ามาก เราเองเป็นคนกรุงเทพฯ ครอบครัวพอกำลัง Support ได้บ้างในบางอย่าง แต่ก็มีโอกาสอีกหลายๆ อย่างที่มาไม่ถึงเราหรือเราเองก็เอื้อมไม่ถึง ทำให้เรา Fail กับชีวิตเหมือนกัน แต่พอได้เห็นชีวิตของน้องๆ ที่พวกเขาไม่มีโอกาสแม้แต่จะเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ทำให้เราตระหนักว่า ตัวเรามีแรง มีกำลัง เรามีความคิดที่ดี เรามีทางเลือกที่มากกว่า ถ้ามีหลายๆ คนมาช่วยกัน หลายๆ คนมาช่วยกันขับเคลื่อน สังคมของเราคงจะดีขึ้นได้มากกว่านี้ การมาทำงานอาสาในครั้งนี้ก็เหมือนกัน เราได้เจอพี่ๆ อาสาหลายๆ คน ทุกคนมีศักยภาพมากมาย บางคนมีความสามารถด้านจิตวิทยา บางคนมีใจที่ยิ่งใหญ่อยากมาช่วยเหลือมากมาย บางคนนั่งรถมาไกลมากเพื่อมาตอบจดหมาย มาให้กำลังใจน้องๆ พี่ๆ อาสาทุกคนที่มาในวันนี้ตั้งใจกันจริงๆ ดีใจที่ทุกคนมาช่วยกันขับเคลื่อน มาช่วยกันทำให้เด็กขาดโอกาสอีกหลายๆ คนได้ไปต่อ

เหตุผลที่มาสมัครงานอาสากับมูลนิธิยุวพัฒน์

เฟิร์สติดตามเพจของมูลนิธิยุวพัฒน์ไว้อยู่แล้ว และเคยส่งผลงานศิลปะเข้ามาประกวดที่มูลนิธิฯ ด้วย และเฟิร์สก็เข้าเว็บไซต์ยุวพัฒน์บ่อยๆ เห็นว่ามูลนิธิฯ เปิดรับสมัครอาสาตอบจดหมายอยู่ ก็เลยสมัครเข้ามาค่ะ ตัวเฟิร์สเองอยากมาเรียนรู้และมาส่งต่อความรู้สึกที่ดีๆ มุมมองดีๆ ให้กับน้องๆ นักเรียนทุน จากประสบการณ์ของเฟิร์สเอง เราเคยสมัครขอทุนและเขาก็ให้เขียนจดหมาย เรายังไม่เข้าใจมุมของคนตอบกลับ เพราะเราแค่เขียนและส่งจากเราฝ่ายเดียวเขาก็ไม่ได้เขียนตอบกลับมาเลย เฟิร์สก็อยากรู้ว่าถ้าเราเป็นคนอ่านจดหมายและเขียนตอบกลับไปหาน้องๆ ที่เขาเขียนมาปรึกษา เราก็อยากรู้ว่าความสามารถของเราจะช่วยอะไรพวกเขาได้บ้าง วันนี้ที่ได้อ่านจดหมายน้องๆ อายุพวกเขาก็ไม่ได้ต่างจากเรามาก ก็ทำให้เราเข้าใจพวกเขาว่าทำไมพวกเขาถึงขอทุน พอมาอ่านจดหมายจริงๆ ทำให้เราสัมผัสได้ว่าพวกเขาต้องการกำลังใจ แต่ว่าน้องๆ เองก็ให้กำลังใจเรากลับมาเหมือนกันนะ

สิ่งที่คาดหวังไว้เมื่อได้เป็นอาสาตอบจดหมาย

ก่อนหน้านี้เฟิร์สคาดหวังว่า…เราอาจจะได้เจอน้องๆ นักเรียนทุนตัวจริงๆ อยากพูดคุย อยากรับรู้ความรู้สึกของคนที่ได้รับโอกาสจากมูลนิธิยุวพัฒน์เป็นยังไง? เพราะเราเองก็เคยได้รับโอกาสจากที่มูลนิธิฯ เหมือนกัน (สมัยเรียนมัธยมฯ เฟิร์สเคยส่งผลงานศิลปะเข้ามาประกวดที่มูลนิธิฯ และได้รับรางวัลภาพผลงานยอดเยี่ยมในปี 2558 หัวข้อ “คนไทยไม่โกง” ในระดับชั้น ม.1 – ม.3 ผลงานในวันนั้นเปิดโอกาสทำให้เฟิร์สค้นหาตัวตนของตัวเองเจอ และได้พัฒนาทักษะด้านศิลปะจนสามารถสอบเข้าในสาขาวิชาที่ตัวเองถนัดได้) เมื่อได้มาทำงานอาสาจริงๆ ก็เป็นไปตามที่เราคาดหวังนะ การอ่านจดหมายของน้องๆ ก็เหมือนการพูดคุยกับน้องจริงๆ แค่เราไม่เห็นหน้ากันแค่นั้นเอง ได้พูดคุยผ่านโปสการ์ดเล็กๆ ก็รู้สึกดีมากๆ แล้ว

ถ้ามีโอกาสได้ไปเจอน้องๆ ที่เราเขียนตอบจดหมายอยากทำอะไร?

ถ้าได้เจอกันก็อยากจะกอด อยากให้กำลังใจ อยากช่วยแนะนำเรื่องการเรียน หรือเรื่องอื่นๆ ที่เราจะช่วยได้ อยากช่วยให้พวกเขาได้ทำในสิ่งที่อยากเป็น คือว่าเฟิร์สได้อ่านจดหมายจากน้องคนหนึ่งเขียนมาว่า อยากเปิดร้านซ่อมรถ แต่ข้างต้นจดหมายเขาเขียนว่าเขาลำบาก ขนาดไปเรียนหนังสือก็เจอห้องเรียนที่มีเก้าอี้ไม่พอนั่ง ทำให้เราเซอร์ไพร์ทมากๆ ว่าจดหมาย 1 ฉบับ สามารถสื่อสารอะไรหลายๆ อย่างได้มากมายขนาดนี้เลยหรอ

จดหมายทุกฉบับที่ได้อ่านในวันนี้ประทับใจฉบับไหนเป็นพิเศษมั้ย?

ประทับใจทุกฉบับเลย ชอบที่น้องเขียนมาบอกข้อมูลตัวเอง ชอบที่น้องเขียนมาบอกว่าอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร แต่บางฉบับน้องไม่ได้บอกอะไร แค่เขียนมาอวยพรพี่ๆ มูลนิธิฯ ให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรง ขอบคุณที่ทำให้เขาได้ทุนก็ทำให้เรารู้สึกดีไปด้วย ถึงน้องไม่ได้เล่าอะไรมากแต่เราก็จะเขียนตอบน้องไปว่า…ถ้ามีอะไรก็ส่งข้อความมาทางมูลนิธิฯ ได้ตลอดเลยนะ ถ้ามีอะไรอยากให้พี่ๆ ช่วยเพิ่มเติมก็มาคุยกันได้ พี่ๆ ทุกคนยินดีรับฟังเสมอ

งานอาสาตอบจดหมายให้อะไรบ้าง?

อย่างแรก คือ ทักษะการสื่อสาร ด้วยโปสการ์ดใบเล็กๆ 1 แผ่น รับรองว่าทุกคนที่มาจะมีคำคม ปรัชญาไปลงโซเชียลได้เลย เพราะเราจะมีสติในการใช้คำ ใช้ตัวอักษร ไตร่ตรองทุกคำที่จะเขียนมากๆ เพราะว่าโปสการ์ดเล็กๆ 1 แผ่น จะทำให้เราได้คิดทบทวนว่าเราสื่อสารตรงประเด็นมั้ย เนื้อหาที่จะเขียนมากไปหรือน้อยไป เพราะมีแค่พื้นที่เล็กๆ ให้เราเขียนลงไป สิ่งที่จะได้อีกหนึ่งอย่าง ก็คือ ถ้ามางานอาสาตอบจดหมายทุกคนจะได้รับพลังบวก พลังงานดีๆ ความคิดดีๆ กลับไป ต้องขอบคุณวันนี้ที่ทำให้รู้สึกว่า ฉันยังเป็นมนุษย์อยู่ โชคดีที่ฉันยังช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้ และทำให้เราเองต้องขยันและสู้ให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้คนอื่นๆ และเด็กๆ ที่ขาดโอกาสให้ได้รับโอกาสที่พวกเขาควรได้รับ เช่น ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน ก็คือการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

อยากบอกอะไรถึงน้องๆ นักเรียนทุนยุวพัฒน์

อย่าน้อยใจตัวเองที่ไม่โชคดีเหมือนคนอื่น การขอทุนการศึกษาก็เป็นความโชคดีอย่างหนึ่งที่ทำเรารู้ว่าตัวเราเองก็มีคุณค่า การที่น้องๆ ขอทุนก็คือการขอโอกาสในการเรียนต่อ เพราะทุกคนต้องการโอกาสกันทั้งนั้น และแสดงความยินดีกับน้องๆ ด้วยนะที่ได้รับโอกาสนี้ ขอให้ตั้งใจเรียน รักษาโอกาสและพัฒนาตัวเองให้มีชีวิตที่ดีขึ้น นี่อาจจะเป็นโอกาสขั้นแรกที่น้องๆ ได้รับ ในวันข้างหน้าก็มีโอกาสอื่นๆ ให้น้องๆ ต่อสู้อีก รักษาและเก็บทุกโอกาสที่เข้ามาให้ดีนะ

ฝากถึงคนที่อยากมาทำงานอาสาเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม

งานอาสา…ไม่ยากเลยค่ะ…รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร ตัวเองสะดวกจะทำอะไร มี 2 อย่างนี้ก็ทำงานอาสาได้แล้ว งานอาสาไม่ได้ใช้เงินเยอะ ถ้าเราถนัดทำกับข้าว ก็มีงานอาสาที่รอให้เราไปช่วยเหลือได้ เช่น ทำกับข้าวให้กับคนไร้บ้าน ฯลฯ แค่พาตัวเองออกมาและรู้ว่าถนัดและอยากทำอะไร ก็ทำได้เลย เพราะมีคนรอรับความช่วยเหลือจากเราอีกเยอะแยะมากมายเลย ไม่ต้องผ่านองค์กร หรือผ่านมูลนิธิฯ ก็ได้ เริ่มต้นที่เราว่าอยากจะหยิบยื่นโอกาสดีๆ ให้กับใคร เพราะคนเหล่านั้นพร้อมจะรับและใช้โอกาสที่เราให้อยู่แล้ว

มูลนิธิฯ ขอขอบคุณอาสาทุกๆ ท่านที่สละเวลามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
และขอบคุณทุกๆ คำแนะนำที่เหล่าอาสาแนะนำมา
เพื่อช่วยให้มูลนิธิฯ นำไปพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขในงานครั้งต่อๆ ไป