กริ๊งงงงงงง…เสียงออดเลิกเรียนดังขึ้น นักเรียนหลายๆ คนยิ้มเริงร่าด้วยความดีใจที่จะได้กลับบ้านและจะได้หาซื้อของกินหน้าโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นลูกชิ้นทอด, มันฝรั่งทอดกรอบ, ยำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ปรุงรสได้ตามใจชอบ หรือชานมไข่มุก เพราะขนมหวานกับเด็กๆ เป็นของที่อยู่คู่กันเสมอ เนื่องด้วยเป็นวัยที่ต้องใช้พลังงานสูง อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต และน้ำตาลจากขนมและของกินเหล่านี้ยังช่วยทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาได้ทันทีหลังจากการเรียนอย่างคร่ำเคร่งมาตลอดทั้งวัน เป็นของกินที่หาได้อย่างง่ายดาย 

สำหรับพนักงานออฟฟิศ “กาแฟ” เป็นเครื่องดื่มที่เรียกได้ว่าจำเป็นต้องมีในช่วงเวลาทำงาน เพราะสามารถกระตุ้นสมองได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบัน นอกจากกาแฟประเภทต่างๆ แล้ว “ชานมไข่มุก” ก็เป็นเครื่องดื่มอีกเมนูที่เป็นเมนูยอดฮิต ชานมไข่มุกหลากหลายเมนูรสชาติน่าลิ้มลองมีโปรโมชั่นการตลาดที่น่าดึงดูดใจเป็นอย่างมาก ทั้งการลด แลก แจก แถม หรือสามารถเพิ่มท็อปปิ้งได้ไม่อั้น นอกจากความสดชื่นที่ได้รับ ยังมีเมล็ดไข่มุกนุ่มนิ่มที่ให้ได้เคี้ยวเพลินๆ อีกด้วย

จากผลการสุ่มทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเปิดเผยว่า จากการเก็บตัวอย่างชานมไข่มุก 25 ยี่ห้อ ไซส์แก้วปกติ แบบไม่ใส่น้ำแข็ง ในเดือนพฤษภาคม 2562 พบว่าปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดต่อแก้วอยู่ที่ 4 ช้อนชา และยี่ห้อที่มีน้ำตาลมากที่สุดอยู่ที่ 18.5 ช้อนชา ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำปริมาณน้ำตาลที่ได้รับต่อวัน ไม่ควรเกิน 24 กรัม หรือ 6 ช้อนชา ซึ่งพบว่ามีเพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้น ที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า 24 กรัม

ความหวานเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ

หากบริโภคน้ำตาลมากเกินไปจะเป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ ตั้งแต่ฟันผุ ที่เกิดจากแบคทีเรียในช่องปากเปลี่ยนน้ำตาลให้กลายเป็นกรด ซึ่งจะไปกัดกร่อนสารเคลือบฟัน, โรคอ้วน ที่มาจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินกว่าที่ร่างกายจำเป็น จนกลายเป็นพลังงานส่วนเกิน ร่างกายก็จะเก็บไว้ในรูปแบบของไขมัน นอกจากนี้การบริโภคน้ำตาลที่มากเกินไปสามารถนำเราไปสู่โรคเรื้อรังอื่นๆ ได้อีก เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น จากการสำรวจของกรมอนามัยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าเด็กไทยหลายคนในยุคนี้มีภาวะน้ำหนักเกิน และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีป่วยเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น

นอกจากของปัญหาการบริโภคของหวานเกินกำหนดแล้ว อาหารทอดที่มีกลิ่นหอมเตะจมูกก็มีอันตรายแอบแฝงด้วยเช่นกัน นอกจาก “ความมัน” ที่สะสมอยู่ในอาหารจะก่อให้เกิดโรคต่างๆ ทั้งโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด, คอเลสเตอรอลสูง เป็นต้น น้ำมันที่นำมาใช้ทอดของซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็เป็นตัวอันตราย แต่หลายคนมักมองข้าม เพราะเมื่อน้ำมันผ่านการใช้งานหลายครั้งจะมีคุณสมบัติที่เปลี่ยนไป หากบริโภคเข้าไปจะเกิดสารประกอบที่สะสมในร่างกาย และส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

บริโภคหวานแต่น้อย ร่างกายคนเราต้องการนํ้าตาลในปริมาณ 6 ช้อนชาต่อวัน เนื่องจากการบริโภคนํ้าตาลจำนวนมากจะเป็นการเพิ่มอัตราความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง ฯลฯ

เพื่อพัฒนาการที่ดี…ต้องเริ่มต้นดูแลการบริโภคของเด็กๆ

ความหวานที่แฝงอยู่ในอาหารประจำวัน จากการปรุงรสโดยใช้น้ำตาล การใส่ซอสปรุงรส หรือสารให้ความหวานที่อยู่ในเครื่องดื่ม มีผลการวิจัยจากหลายสำนักชี้ชัดว่าเด็กและวัยรุ่นสามารถเสพติดความหวานได้มากกว่าผู้ใหญ่ และยังส่งผลต่อสมองอีกด้วย โดยงานวิจัยจาก Yale Medical School แสดงให้เห็นว่าน้ำตาลอาจเปลี่ยนสมองของวัยรุ่นที่อยู่ช่วงพัฒนาได้ เนื่องจากความหวานไปกระตุ้นและเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของสมองที่ควบคุมด้านการให้รางวัลและการทำงาน

นอกจากการแนะนำเด็กๆ ให้เห็นถึงความสำคัญเรื่องโภชนาการแล้ว ผู้ปกครองก็ควรที่จะสังเกตพฤติกรรมการรับประทานของลูกอย่างสม่ำเสมอ หากผู้ปกครองเลี้ยงลูกด้วยอาหารรสหวานนำโดยไม่มีการควบคุม จะส่งผลให้เด็กมีอาการติดหวาน ต้องการรับประทานของที่มีรสหวานอยู่เสมอ ถ้าหากไม่ได้รับน้ำตาลจะทำให้อารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวได้ง่าย ขาดสมาธิ จะเห็นได้ว่าผลกระทบส่งผลทั้งด้านร่างกายและการเรียนของเด็กที่จะมีผลต่ออนาคตของพวกเขาอีกด้วย

นอกจากความร่วมมือกันระหว่างเด็กกับผู้ปกครองแล้ว โรงเรียนก็เป็นอีกหนึ่งสถาบันที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างโภชนาการที่ดีให้กับนักเรียน เพราะเด็กๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียน การจัดชุดอาหารที่โรงเรียนนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสารอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อเสริมสร้างพลานามัย สุขภาพกาย และจิตใจที่ดีให้แก่นักเรียน

อาหารทุกประเภทนั้นมีทั้งประโยชน์และให้โทษ เพราะฉะนั้นการเลือกบริโภคอย่างเหมาะสม “You Are What You Eat” คือสำนวนที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการบริโภคอาหาร สิ่งที่เราป้อนเข้าสู่ร่างกายจึงเป็นสิ่งที่เราควรเลือกและพิจารณาให้ดีก่อนนำเข้าสู่ร่างกาย ต้องคำนึงถึงความหลากหลาย และแยกประเภทอาหารที่ควรทานเป็นประจำกับอาหารที่ทานได้บ้างเป็นครั้งคราว การทานอาหารแต่ละอย่างในปริมาณที่เหมาะสมจึงเป็นการสร้างสุขภาพที่ดี

การบริโภคอาหารให้เหมาะสมทั้งในด้าน “ปริมาณ” และ “คุณภาพ” จึงเป็นสิ่งที่เราควรตระหนักทุกครั้งก่อนที่จะนำมันเข้าไปในร่างกาย เพราะร่างกายเรานั้นล้วนประกอบขึ้นมาจากสิ่งที่เรากินเข้าไป ไม่ใช่สิ่งที่เราไม่ได้กิน หรือ You are what you eat กินอย่างไร เราก็กลายเป็นอย่างนั้น