ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคของโลกดิจิทัล ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เป็นยุคที่โลกต้องการผู้ที่สามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสร้างสรรค์ นอกจากทักษะทางด้านนวัตกรรม ทักษะทางด้านอาชีพ และทักษะทางด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารแล้ว “ทักษะชีวิต” เป็นอีกหนึ่งทักษะที่มีความจำเป็นกับวัยรุ่นในศตววรรษที่ 21 เพราะนอกจากวัยรุ่นจะต้องเป็นผู้มีความรู้แล้ว วัยรุ่นยังต้องเป็นผู้มีทัศนคติและจิตใจที่มั่นคง เพื่อพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง

ทักษะชีวิตช่วยให้วัยรุ่นอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ทักษะชีวิต (Life Skills) เป็นทักษะภายในที่จะช่วยให้วัยรุ่นสามารถเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม คุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข หรืออาจกล่าวได้ว่าทักษะชีวิต คือ ความสามารถในการแก้ปัญหาที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน เพื่อให้สามารถดูแลตนเองได้อย่างปลอดภัย

ทักษะชีวิตเผยแพร่โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคคลรู้จักดูแลตนเองทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมโดยไม่เป็นภาระของสังคม เน้นความสำคัญของบุคคลให้รู้จักการปรับตัว พร้อมการเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ดังนั้นองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงให้ความหมายทักษะชีวิตเป็นความสามารถอันประกอบด้วย ความรู้ เจตคติ (ทัศนคติ) และทักษะซึ่งสามารถจัดการกับปัญหารอบๆ ตัวให้บุคคลอยู่รอดในสภาพสังคมและวัฒนธรรมยุคปัจจุบันได้อย่างมีความสุขและเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคต

ทักษะชีวิตได้นำไปใช้เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมโลกเพื่อให้คนเกิดการพัฒนาตนเองโดยการใช้ความคิด การปรับตัว การตัดสินใจ การสื่อสาร การจัดการกับอารมณ์และความเครียดในการแก้ไขปัญหาให้กับตนเองอย่างเหมาะสม ทักษะชีวิตจึงประกอบด้วยทักษะต่างๆ ที่ส่งผลให้คนรู้จักเลือกปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้อง รวมทั้งการรู้จักยับยั้งชั่งใจ วัยรุ่นที่มีทักษะชีวิตจะเป็นผู้ที่มีเหตุผลและเลือกดำรงชีวิตในทางที่เหมาะสม

ทักษะชีวิตสำคัญสำหรับวัยรุ่นอย่างไร
วัยรุ่นเป็นช่วงวัยของการเจริญเติบโตและมีการพัฒนาในหลายๆ ด้าน เป็นช่วงระยะเวลาในการเปลี่ยนจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและการเติบโตทางด้านจิตใจอย่างรวดเร็วและเป็นที่ได้รับอิทธิพลจากภายนอกมากกว่าพ่อแม่หรือครอบครัว มีความคิดเป็นอิสระ มีความคิดสร้างสรรค์ เต็มไปด้วยจินตนาการและกล้าท้าทายตนเองให้ลองทำสิ่งใหม่ เป็นวัยของการลองผิดลองถูก วัยรุ่นจึงเป็นวัยจุดเปลี่ยนของชีวิตและเป็นช่วงเวลาในการพัฒนาศักยภาพด้านดีของตนเอง เป็นช่วงวัยที่ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ การสร้างสัมพันธภาพระหว่างเพื่อน และการเสริมสร้างทักษะทางด้านสังคม

10 ทักษะชีวิตที่วัยรุ่นควรฝึกฝน

ทักษะชีวิตคือสิ่งที่ “ต้องฝึกฝน”
ทักษะชีวิตเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการเพิ่มขีดความสามารถของวัยรุ่น เพื่อให้วัยรุ่นรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ และรู้จักควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นความสามารถในการปรับตัวและพฤติกรรมเชิงบวกที่ช่วยให้วัยรุ่นสามารถจัดการกับความต้องการและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ วัยรุ่นที่มีทักษะชีวิตต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวในสถานการณ์ที่แตกต่างกันได้ มีความหวังและหาโอกาสในการแก้ปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นในสถานณ์ที่ยากลำบาก สามารถคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์ และสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี รู้จักเอาใจใส่ผู้อื่น และสามารถจัดการกับชีวิตของตนเองได้เป็นอย่างดี

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดทักษะชีวิตไว้ 10 ทักษะ ได้แก่
1.ทักษะการตัดสินใจ (Decision making) เป็นความสามารถในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตได้อย่างมีระบบ เช่น ถ้าบุคคลสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการกระทำของตนเองที่เกี่ยวกับพฤติกรรมด้านสุขภาพหรือความปลอดภัยในชีวิต โดยประเมินทางเลือกและผลที่ได้จากการตัดสินใจเลือกได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ก็จะมีผลต่อการมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ
2.ทักษะการแก้ปัญหา (Problem solving) เป็นความสามารถในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างมีระบบ ไม่เกิดความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจจนอาจลุกลามเป็นปัญหาใหญ่โตเกินแก้ไขได้
3.ทักษะการคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) เป็นความสามารถในทางความคิด ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหา โดยใช้วิธีการคิดแบบสร้างสรรค์เพื่อค้นหาทางเลือกต่างๆรวมทั้งผลที่จะเกิดขึ้นในแต่ละทางเลือก และสามารถนำประสบการณ์มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
4.ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ และประเมินปัญหาหรือสถานการณ์ที่อยู่รอบตัวที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณสามารถช่วยให้วัยรุ่นตระหนักและประเมินผลสิ่งที่จะมีผลกระทบต่อทัศนคติและพฤติกรรมของตนเอง เช่น การรู้จักคุณค่าในตนเอง การจัดการกับความกดดันจากเพื่อนๆ หรือการรับข้อมูลจากสื่อต่างๆ
5.ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective communication) เป็นความสามารถในการใช้คำพูดและท่าทางเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้อย่างเหมาะสมกับวัฒนธรรมและสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็น การแสดงความต้องการ การแสดงความชื่นชม การขอร้อง การเจรจาต่อรอง การตักเตือน การช่วยเหลือ การปฏิเสธ

6.ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal relationship) เป็นความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและกัน สามารถรักษาสัมพันธภาพไว้ได้ยืนยาว
7.ทักษะการตระหนักรู้ในตน (Self-awareness) เป็นความสามารถในการค้นหา รู้จักและเข้าใจตนเอง เช่น รู้ข้อดีข้อด้อยของตนเอง รู้ความต้องการและสิ่งที่ไม่ต้องการของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้วัยรุ่นเข้าใจตัวเองเวลาเผชิญกับความเครียดหรือสถานการณ์ต่างๆ และทักษะนี้ยังเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทักษะอื่นๆ เช่นการสื่อสาร การสร้างสัมพันธภาพ การตัดสินใจ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
8.ทักษะการเข้าใจผู้อื่น (Empathy) เป็นความสามารถในการเข้าใจความเหมือนหรือความแตกต่างระหว่างบุคคลในด้านความสามารถ เพศ วัย ระดับการศึกษา ศาสนา ความเชื่อ สีผิว อาชีพฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้สามารถยอมรับบุคคลที่ต่างจากเรา เกิดการช่วยเหลือบุคคลที่ด้อยกว่า หรือได้รับความเดือดร้อน
9.ทักษะการจัดการกับอารมณ์ (Coping with emotion) เป็นความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของตนเองและผู้อื่น รู้ว่าอารมณ์มีผลต่อการแสดงพฤติกรรมอย่างไร รู้วิธีการจัดการกับอารมณ์โกรธและความโศกเศร้า ที่ส่งผลทางลบต่อร่างกายและจิตใจได้อย่างเหมาะสม
10.ทักษะการจัดการกับความเครียด (Coping with stress) เป็นความสามารถในการรับรู้ถึงสาเหตุของความเครียด รู้วิธีผ่อนคลายความเครียด และแนวทางในการควบคุมระดับความเครียดเพื่อให้เกิดพฤติกรรมในทางที่ถูกต้องเหมาะสมและไม่เกิดปัญหาด้านสุขภาพ

ทักษะชีวิตทั้ง 10 ทักษะนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ ต้องอาศัยการฝึกฝน ซึ่งการจะเป็นวัยรุ่นที่พร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุขและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณลักษณะที่ดีนั้นต้องฝึกตนเองให้มีจุดแข็งในด้านทักษะการวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการปฏิบัติตนที่เหมาะสม รู้จักที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่างจากตนเอง และพร้อมที่เผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น อีกทั้งมีความพร้อมที่จะจัดการกับชีวิตของตนเอง

วัยรุ่นจะฝึกทักษะชีวิตได้อย่างไร

ฝึกทักษะการตัดสินใจ (Decision making)
สรุปประเด็นปัญหา > จัดการกับความรู้สึกของตนเอง (ใช้เหตุผลไม่ใช้อารมณ์) > ไม่ควรรับข้อมูลมากเกินไป (พิจารณารับข้อมูลที่สำคัญ) > พิจารณาทางเลือกหลายๆ ทาง > คำนึงถึงผลดี  ผลเสีย > ตัดสินใจเลือกว่าจะเลือกแบบใด

ฝึกทักษะการแก้ปัญหา (Problem solving)
กำหนดปัญหาที่ชัดเจน (ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร) > กาหนดเป้าหมาย (ต้องการทำอะไรให้สำเร็จ ต้องการค้นพบอะไร) > รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาให้ได้มากที่สุด > วิเคราะห์ข้อมูล > หาวิธีแก้ไขที่เป็นไปได้ > ประเมินวิธีแก้ปัญหาและเลือกว่าจะใช้วิธีใด > ทำตามแผนที่วางไว้ > ประเมินผลลัพธ์ > ปรับวิธีการแก้ปัญหา (ถ้าปัญหายังไม่คลี่คลาย)

ฝึกทักษะการคิดสร้างสรรค์ (Creative  thinking)
อ่านให้เยอะ > ร่วมมือกับผู้อื่นที่เข้าใจปัญหาหรือสิ่งที่เราอยากทำ > คุยกับผู้คนที่แตกต่างจากเรา > ยอมรับและเรียนรู้จากความล้มเหลว > รู้จักทำแผนที่ความคิด (Mind map) > พาตัวเองออกไป “นอกกรอบความคิดเดิมๆ” เริ่ม ลงมือทาสิ่งใหม่ๆ

ฝึกทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking)
รู้จักตั้งคำถาม > ไม่ควรเชื่อข้อมูลจนกว่าจะได้วิเคราะห์ด้วยตนเอง > รู้จักคิดคาดการณ์ล่วงหน้า > เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในบทบาทของผู้อื่น (เอาใจเขามาใส่ใจเรา) > แบ่งเวลาอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อทากิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสมอง

ฝึกทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective communication)
เข้าใจว่าการสื่อสารคืออะไร (คือกระบวนการถ่ายทอดสัญญาณ/ข้อความ ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารผ่านวิธีการต่างๆ) > กล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด > สบตาผู้รับสาร > แสดงทัศนคติหรือมุมมองที่เป็นประโยชน์ > รู้จักที่จะตั้งใจฟัง > พูดชัดถ้อยชัดคำและใช้ภาษาถูกต้อง

ฝึกทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal relationship)
ใส่ใจเอาใจใส่ผู้อื่น > นับถือผู้อื่น นับถือตนเอง > มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน > มีความยืดหยุ่น > ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความคิด ความรู้สึก

ฝึกทักษะการตระหนักรู้ในตน  (Self-awareness)
รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง > ไม่บิดเบือนความรู้สึกของตนเอง (โกรธ ไม่ชอบ อิจฉา) > ให้ เวลากับตัวเองในการพัฒนาอารมณ์ > รู้ข้อดี ข้อด้อยของตนเอง ยอมรับข้อด้อยและพร้อมจะพัฒนา > เรียนรู้ที่จะรู้จักตนเองตามความเป็นจริงที่เป็น

ฝึกทักษะการเข้าใจผู้อื่น (Empathy)
หยุดคิดว่าเราเข้าใจทุกคนเป็นอย่างดี > นิ่งเพื่อรู้จักที่จะฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจ > ถามเพื่อต้องการที่จะทำความเข้าใจเพิ่มเติม > จับใจความเพื่อให้เข้าใจตรงกัน > แบ่งเวลา พูดคุย เปิดประสบการณ์กับคนวัยต่างๆ หรือคนที่แตกต่างจากเรา

ฝึกทักษะการจัดการกับอารมณ์ (Coping with emotion)
เมื่อกำลังมีความรู้สึกในทางลบให้หยุดสิ่งที่กำลังทำอยู่และอยู่กับปัจจุบัน > หายใจลึกๆ > ยิ้ม > หยุดคิดว่า “ไม่มีอะไรจะแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว” เพราะจะยิ่งทำให้ความคิดในทางลบยากเกินกว่าจะควบคุม > หยุดคิดแบบเหมารวมว่า “มันจะต้องเป็นแบบนั้นแน่นอน” > ฝึกที่จะรักตัวเองให้มากๆ หยุดคิดว่าความสาเร็จคือคำว่าชนะ > มีเมตตาต่อตัวเอง เข้าใจว่าความเจ็บปวดและความทรมานเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ > ฝึกมีสติอยู่กับปัจจุบัน > จินตนาการถึงอนาคตที่เราจะสามารถทำมันให้ดีที่สุด เพื่อเพิ่มความรู้สึกทางบวกให้กับตัวเอง

วัยรุ่นที่มีทักษะชีวิต
จะเป็นผู้ที่มีเหตุผล
รู้จักเลือกใช้ชีวิต
ได้อย่างเหมาะสม
และมีความสุขในสังคม

ทักษะชีวิต
ทำให้เราเป็นวัยรุ่น
ในศตวรรษที่ 21

ฝึกทักษะการจัดการกับความเครียด (Coping with stress)
หาสาเหตุของความเครียด > สำรวจความถี่ของความเครียดว่าเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน  สถานการณ์ใดที่ทำให้เกิดความเครียด > จัดอันดับความเครียดที่ส่งกระทบกับเรามากที่สุด > วางแผนเพื่อขจัดความเครียด > เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่ทำให้กังวล > ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง > หาเวลาพักผ่อน

วัยรุ่นในศตวรรษที่ 21 นี้ คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่เป็นไปอย่างรวดเร็วได้ เพราะฉะนั้นการฝึกฝนให้ตนเอง มีภูมิคุ้มกันย่อมส่งผลให้วัยรุ่นยุคนี้สามารถอยู่ใน ความสุขและสามารถพัฒนาตัวเองให้ก้าวไปสู่ยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทักษะชีวิตไม่ใช่เรื่องยากที่วัยรุ่นจะฝึกฝน เพียงแต่เราต้องเชื่อว่าทักษะชีวิตมีประโยชน์กับเรา และใช้เวลาในการพัฒนาทักษะ ต่างๆ ให้กลายเป็นจุดแข็ง และพยายามที่จะใช้ทักษะต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เราสามารถรับมือกับทุกสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา :
https://www.whiteswanfoundation.org/
https://th.wikihow.com

ภาพประกอบ : erdy