ในครอบครัวของเรามีสมาชิกวัยไหนกันบ้าง เด็กเล็กก่อนวัยเรียน เด็กวัยประถม วัยรุ่นวัยมัธยม พี่มหาวิทยาลัย พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ป้า น้า อา เมื่อสมาชิกในครอบครัวที่มีความต่างวัยอยู่ร่วมกัน ก็จะมีความคิดเห็นที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งเรื่องความคิด และความเชื่อ การได้อยู่กับวัยที่แตกต่างอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งได้ แต่หากเรามีความเข้าอกเข้าใจกัน การได้อยู่ร่วมกับคนต่างวัยจะกลายเป็นบรรยากาศที่อบอุ่นของครอบครัว

ประสบการณ์ที่ต่างกัน ทำให้แต่ละคน
มีความคิดเห็นแตกต่างกันได้เสมอ

ความเข้าอกเข้าใจคนต่างวัยรวมถึงการอยู่ร่วมกันได้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะลด ‘ช่องว่าง’ ระหว่างวัยให้เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ได้  

ช่องว่างระหว่างวัย หรือ Generation Gap คือ การขาดความเข้าใจกันระหว่างคนที่อายุน้อยกับคนอายุมากกว่า ซึ่งเป็นผลมาจากความแตกต่างของประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ผ่านมาของแต่ละคน หลายครั้งที่สมาชิกในครอบครัว เช่น วัยรุ่นกับพ่อแม่ พ่อแม่กับปู่ย่าตายาย มักจะมีปัญหาไม่ลงรอยกัน นั่นก็เป็นเพราะช่องว่างระหว่างวัย

ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยมักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุและลูกหลาน พ่อแม่กับลูก พี่กับน้อง เนื่องจากมีเวลาที่ไม่ตรงกัน ไม่ยอมรับความเห็นของแต่ละฝ่าย ตัวเองถูกต้องเสมอ เมื่อมีปัญหาไม่ปรึกษาพูดคุยกัน และเกิดความห่างเหินในครอบครัว แม้แต่ครอบครัวที่อยู่ร่วมใกล้ชิดกัน ก็สามารถเกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัยได้

ผู้ใหญ่เขาเป็นอย่างไรกันนะ?

ในขณะที่เราต้องอยู่ร่วมกับคนต่างวัย ความเข้าอกเข้าใจอีกฝ่ายมีความสำคัญอย่างมาก ผู้ใหญ่แตกต่างจากเด็ก เพราะผู้ใหญ่ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาอ้างอิงในการใช้ชีวิต และความทรงจำจากสิ่งต่างๆ ที่เคยผ่านมา เเต่สำหรับเด็กทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่เสมอเพราะยังไม่มีประสบการณ์กับเหตุการณ์นั้นๆ จึงอาจมีหลายอย่างที่ทำให้ผู้ใหญ่กับเด็กคิดไม่เหมือนกัน เกิดช่องว่างและความไม่เข้าใจกัน แน่นอนว่าการจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับผู้ใหญ่อย่างมีความสุข สิ่งสำคัญคือ “ความเข้าอกเข้าใจ”

> ความรับผิดชอบ กับความสนุกสนาน
ในวันที่เราเป็นเด็ก เราก็อยากเป็นผู้ใหญ่ เพราะรู้สึกว่ามีอิสระมากกว่า จะไปไหน ทำอะไรก็ได้ สามารถทำงานเลี้ยงดูตัวเองได้ แต่ในความเป็นจริง ผู้ใหญ่เต็มไปด้วยสิ่งที่ต้องรับผิดชอบมากมาย ทั้งเรื่องงาน ชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และการเงิน ความรับผิดชอบเหล่านี้ ต้องตัดเรื่องได้วิ่งเล่นสนุกสนานเหมือนเด็กๆ เพราะต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดในอนาคต เช่น เรื่องการเงิน จะบริหารเงินอย่างไรให้สามารถดูแลสมาชิกในครอบครัวให้อยู่ดีมีสุขได้

ต่างจากเด็กที่ยังสามารถมีเวลาสนุกสนานเพลิดเพลินได้ สามารถใช้ชีวิตโดยยังไม่มีภาระใหญ่ๆ ให้ต้องรับผิดชอบมากนัก

> การให้คุณค่าต่องาน กับการได้ลองเปลี่ยนสิ่งใหม่ๆ
ความเป็นผู้ใหญ่เมื่อต้องตัดสินใจที่จะรับผิดชอบอะไรสักอย่าง ต้องทุ่มเท ใส่ใจ และใส่ความรู้สึกถึงคุณค่าลงไปในสิ่งนั้นด้วย ผู้ใหญ่จะทำงานให้เสร็จไปทีละอย่างด้วยความตั้งใจ ยิ่งโตก็ต้องยิ่งรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม ต้องมีวุฒิภาวะพอที่จะรับผิดชอบความผิดพลาดและความสำเร็จของตัวเอง การทำงานแบบผู้ใหญ่ คือ การคิดวางแผน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน จากนั้นเขาจะใช้ความมุ่งมั่น ลงมือทำให้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจ 

ต่างจากเด็กที่ยังมีเวลาได้ทดลองทำ ได้เลือกจะทำ เพื่อตัดสินใจว่าจะเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองอย่างไร เป็นผลให้หลายครั้งผู้ใหญ่อาจจะมองว่าเด็กไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปทีละอย่าง ทีละงาน

 

ความเข้าอกเข้าใจกัน
คือการสร้างบรรยากาศอบอุ่น
ในครอบครัว

ผู้ใหญ่อาจมีสิทธิเลือกทางเดินให้กับตัวเอง มีสิทธิในการตัดสินใจที่จะลงมือทำอะไรสักอย่าง โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตผู้ปกครอง เรียกว่ามีสิทธิเด็ดขาดที่จะเลือกสิ่งต่างๆ ให้กับชีวิต แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่จึงต้องมีวุฒิภาวะ และภาระก็มากขึ้นตามมาด้วย เพราะฉะนั้น แม้ว่าผู้ใหญ่จะมีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ แต่เขาก็ต้องแบกรับภาระมากมายเช่นกัน

เราจะอยู่ร่วมกับผู้ใหญ่อย่างไร ให้เข้าใจกันได้ดี?

การอยู่ร่วมเป็นครอบครัวเดียวกัน สามารถเกิดช่องว่างระหว่างวัยได้เป็นเรื่องปกติ เพราะคนแต่ละวัยมีลักษณะความคิดและสิ่งที่ยึดถือกันมาต่างกัน เติบโตมาในสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ที่ต่างกัน และต่างกันด้วยยุคสมัย รวมถึงความแข็งแรงของร่างกายและจิตใจก็ไม่เท่ากัน

แต่หากคำนึงถึงประโยชน์และความจำเป็นที่ต้องอยู่ร่วมกัน สิ่งสำคัญคือการที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวสามารถใช้ชีวิตภายในบ้านได้อย่างราบรื่นและมีความสุข การทำความเข้าใจในลักษณะนิสัย ความคิด ทัศนคติและประสบการณ์ที่มีต่อสิ่งต่างๆ ตลอดจนความเสื่อมถอยและการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ใหญ่จึงเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและการแสดงออกที่มักเต็มไปด้วยความวิตกกังวลและห่วงใยต่อสิ่งต่างๆ จนอาจทำให้ลูกหลานเกิดความรำคาญใจ

ความอบอุ่นในบ้านไม่ใช่จำนวนคน
แต่เป็นความเข้าใจที่มีให้แก่กัน

วิธีที่จะทำให้บรรยากาศการอยู่ร่วมกับคนต่างวัยอย่างมีความสุข เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย ได้แก่

> ยอมรับและเข้าใจในความต่าง เนื่องจากผู้ใหญ่เติบโตมาบนพื้นฐานและประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป เมื่อใกล้ชิดกับคนรุ่นใหม่ที่มีลักษณะต่างจากตัวเองก็มักวิตกกังวลและคอยกำชับติดตามให้ทำตามที่ตนเองยึดถือ บ่อยครั้งหลงลืมและพูดย้ำหลายครั้งจนลูกหลานรู้สึกไม่เป็นส่วนตัว สิ่งที่เราทำได้คือ ตอบรับและทำตามคำแนะนำ หากมีส่วนไหนไม่เป็นความจริงก็ควรให้อภัยและปล่อยผ่านไปโดยไม่จำเป็นต้องโต้เถียงจนรู้สึกไม่ดีต่อกัน

> เห็นคุณค่าและให้ความสำคัญ ผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ที่ไม่ได้ทำงาน อาจรู้สึกหมดคุณค่าที่ไม่สามารถทำประโยชน์ให้กับใครได้อีกจนไปบั่นทอนสภาพจิตใจและส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายตามมา ซึ่งคนในครอบครัวสามารถช่วยได้ด้วยการให้ความสำคัญ โดยการขอคำแนะนำ รับฟังความเห็น หรือให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ รวมทั้งแสดงออกต่อกันด้วยความเคารพเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับครอบครัว

> ให้ความดูแลเอาใจใส่ สมาชิกในครอบครัวสามารถเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีได้โดยการถามไถ่ความเป็นอยู่ และชวนพูดคุยถึงเรื่องต่างๆ คอยดูแลเอาใจใส่ ทั้งเรื่องอาหารการกิน ความสะอาดและการออกกำลังกาย  รวมทั้งส่งมอบรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กันเสมอ

> นำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ นอกจากเราจะรับฟังคำแนะนำจากผู้ใหญ่ในฐานะที่เคยผ่านประสบการณ์ชีวิตมาก่อนแล้ว เราสามารถให้คำแนะนำดีๆ กลับไปสู่ผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การพักผ่อน  การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือแม้แต่การใช้เทคโนโลยีเพื่อคลายเหงา

> เอื้อเฟื้อกันและกัน หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของสมาชิกในบ้าน คือ การสนับสนุนให้แต่ละคนได้มีโอกาสริเริ่มทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่สร้างความรู้สึกดี และมีคุณค่าต่อทั้งตนเองและผู้อื่น เพื่อไม่ให้ติดอยู่กับอดีตหรือกังวลกับอนาคตมากเกินไป เช่น การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว การช่วยอำนวยความสะดวกวในการเดินทางไปพบปะญาติพี่น้อง การท่องเที่ยว เป็นต้น

> แสดงความรักต่อกัน การแสดงความรักในครอบครัวมีหลายวิธี เช่น การพูดคุยบอกรัก การสัมผัสโอบกอด การดูแลเอาใจใส่กันและกัน สอบถามความสุขทุกข์ เรื่องราวชีวิตประจำวันต่างๆ การได้ใช้เวลาร่วมกันบ่อยๆ ทำกิจกรรมร่วมกัน หรือมีสิ่งพิเศษเล็กๆ น้อยๆ มอบให้กันในโอกาสสำคัญต่างๆ การแสดงความรักต่อกันจะช่วยเพิ่มความรู้สึกผูกพัน แสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใย รวมถึงการทำตัวเป็นลูกหลานที่ดีด้วยการเชื่อฟัง เคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกันเสมอ

สำหรับครอบครัว
ไม่มีสิ่งใดที่จะพูดคุยกันไม่ได้

นอกจากความเข้าอกเข้าใจและการสร้างบรรยากาศที่ดีเพื่อการอยู่ร่วมกันแล้ว การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย ช่วยให้เด็กกับผู้ใหญ่ใกล้ชิดกันมากขึ้น และสามารถช่วยลดความขัดแย้งได้ จะสื่อสารอย่างไรดี เพื่อให้ครอบครัวอบอุ่น

> บอกความรู้สึกนึกคิดของเรา หรือ I Message เป็นการสื่อสารหรือพูดความรู้สึกของเรา เพื่อให้อีกฝ่ายเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเรามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร เช่น  “หนูรู้สึกเสียใจเวลาแม่ไม่ฟังสิ่งที่หนูพูด” แทนที่จะพูดโดยใช้ You Message เช่น “แม่ไม่เคยจะฟังหนูเลย”

> การถามและการรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย การถามเพื่อให้อีกฝ่ายได้มีโอกาสตอบกลับมาจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันมากขึ้น

> แสดงความชื่นชมและขอบคุณกันในโอกาสที่เหมาะสม เช่น ขอบคุณยายที่ทำกับข้าวมื้อเช้าให้ก่อนไปโรงเรียนทุกวัน รวมทั้งให้กำลังใจกันและกันเสมอ

> การกระทำเสียงดังกว่าคำพูด หมายถึง คำพูดและการกระทำควรจะสอดคล้องกัน การกระทำมีความสำคัญมากกว่าสิ่งที่เราพูดออกไป เช่น เราบอกพ่อว่าอยากให้พ่อพูดกับเพราะๆ กับเรา แต่เรากลับใช้คำห้วนๆ เวลาคุยกับพ่อ

> ใช้คำพูดเชิงบวกที่ให้เกียรติกัน เช่น ถ้าป้า พูดว่า “ขับรถพาป้าไปตลาดหน่อย” คำพูดตอบกลับในเชิงลบ เช่น “เดี๋ยวก่อน ยังไม่ว่าง” แต่คำพูดตอบกลับเชิงบวก เช่น  “ได้ค่ะ แต่ขอหนูขอเวลาครึ่งชั่วโมงทำการบ้านให้เสร็จก่อนนะคะ”

> หลีกเลี่ยงการสื่อสารเชิงลบ ไม่ใช่เพียงคำพูดเท่านั้น สีหน้าบึ้งตึง เฉยเมย เย็นชา การใช้วิธีเงียบไม่พูด เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง การพูดคลุมเครือไม่ชัดเจน อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เช่นเดียวกับการพูดที่มีลักษณะสั่งสอน ติเตียน หรือประชดประชัน

ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยไหน ทุกคนต้องการความเข้าใจ ทุกคนต้องการพูดคุยกันด้วยถ้อยคำที่เป็นมิตร และทุกคนสามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ในครอบครัว แล้วการอยู่ร่วมกันในบ้านของเราจะเต็มไปด้วยความสุข และบ้านจะกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกๆ คน

ขอบคุณข้อมูล :
https://bit.ly/3agfka6
https://bit.ly/3o0e2Dr
https://bit.ly/3OP0PZF
https://bit.ly/3OZxoEc
https://bit.ly/3P5zXoa
https://bit.ly/3yKMYhu

ภาพประกอบ :
https://www.freepik.com/