“เราอยากทำอะไรต่อไปในชีวิต”…หลายคนอาจจะมีคำถามหรือมีความรู้สึกแบบนี้…ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะตอบตัวเองไม่ได้ว่าอนาคตหรือความฝันของเราคืออะไร? เพราะวัยนี้เป็นช่วงวัยของการเรียนรู้ การลองถูกลองผิดเพื่อพิสูจน์ความเป็นตัวตนของเรา แต่จะดีกว่าไหม…ถ้ามีเครื่องมือที่จะช่วยให้เรารู้จักความต้องการของตัวเองเพื่อหาความฝันและทำความฝันนั้นให้สำเร็จ

5 คำถาม ที่จะช่วยให้เราตอบตัวเองให้ได้ว่าเราอยากทำอะไรต่อไปจากนี้

1.เราใช้เวลาว่างไปกับอะไร?
ลองสังเกตตัวเองว่า…ทุกครั้งที่เรามีเวลาว่าง เรามักจะใช้เวลานั้นไปกับการทำอะไร เราทำเป็นประจำหรือทำอย่างสม่ำเสมอและอยากทำอยู่ตลอด

2.กิจกรรมใดที่ทำให้เรา “อิน”?
กิจกรรมที่ทำให้เราอิน คือ กิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกมีส่วนร่วมและสามารถจดจ่อกับสิ่งนั้น เมื่อรู้แล้วว่ากิจกรรมนั้นคืออะไร เราจะทราบว่ากิจกรรมใดที่เราทำเพียงเพื่อฆ่าเวลาแต่ไม่ได้อิน

3.รูปแบบการใช้ชีวิตแบบไหนที่เราอยากมี?
ให้จินตนาการว่าในอนาคตเราอยากมีรูปแบบการใช้ชีวิตแบบไหน เช่น ทำงานประจำ มีเงินเดือนแน่นอนหรือเป็นเจ้าของธุรกิจ บริหารจัดการทุกอย่างด้วยตัวเองหรือทำงานที่มีวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ อยากมีชีวิตครอบครัวหรืออยากใช้ชีวิตคนเดียว รูปแบบการใช้ชีวิตนี้จะช่วยให้รู้ว่าเราต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เช่น เงินเก็บหรือทักษะทางอาชีพที่ควรมี หรือความสามารถที่จำเป็นต่อการดูแลตัวเอง เป็นต้น หรืองานที่เหมาะกับเราคืองานประเภทไหน

4.ชีวิตแบบใครที่เราอยากนำมาเป็นแนวทางการใช้ชีวิต?
ลองถามตัวเราเองว่า มีใครที่เราอยากนำมาเป็นต้นแบบหรือแนวทางในการใช้ชีวิตไหม คำถามนี้ ทำให้เรายอมรับตัวตนของเรา ว่าเรามีอะไรที่เหมือนหรือแตกต่างจากคนอื่น เราสามารถนำข้อดีของคนๆ นั้น มาปรับใช้กับตัวเราอย่างไรได้บ้าง หรือเราจะพัฒนาตัวเองอย่างไร เพื่อให้มีคุณลักษณะด้านดีเหมือนคนที่เราชื่นชอบ ลองหาข้อมูลของคนๆ นั้น หน้าที่การงานการใช้ชีวิตของเขาว่า..กว่าที่เขาจะมายืนจุดนี้ได้ เขาเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ มาได้อย่างไร

5.ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรในอีก 3 ปี 5 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า?
คำถามสุดท้ายนี้ สามารถช่วยให้เราคิดได้ว่า ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรทั้งในระยะเวลาอันใกล้นี้และในอีกหลายปีข้างหน้า ลองคิดภาพตัวเองในวันที่เราอายุ 20 ปี 30 หรือ 40 ปี ว่าในแต่ละช่วงอายุเราต้องการมีชีวิตในแต่ละวันแบบไหน ซึ่งจะช่วย่ให้เราสามารถวางแผนการใช้ชีวิต การเก็บเงิน การทำงานได้อย่างตรงจุด เพื่อให้เรามีชีวิต แบบที่เราอยากเป็นมากขึ้น คำถามนี้ยังช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีเป้าหมายมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

ใครๆ ก็ถามถึง…เป้าหมายชีวิต
มันสำคัญอย่างไรนะ

หากเราหาคำตอบสำหรับ 5 คำถามได้แล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาของการกำหนดเป้าหมายแล้วว่าต่อจากนี้จะทำอะไรต่อ หากถามว่าเป้าหมายชีวิตสำคัญอย่างไร คำตอบอาจจะอยู่ที่คำถาม แล้วหากไม่มีเป้าหมายชีวิตจะเป็นอย่างไร?

มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พบว่า การมีเป้าหมายชีวิตเชื่อมโยงไปสู่การมีสุขภาพร่างกายที่ดีและสุขภาพจิตใจที่แข็งแรง นั่นคือ ความรู้สึกถึงการมีคุณค่าในตัวเอง มีความฉลาดทางปัญญา นอกจากนั้นงานวิจัยยังแสดงให้เห็นอีกว่า คนที่มีเป้าหมายชีวิตจะมีความสัมพันธ์ที่ดี เช่น มีเพื่อนดีๆ ที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สามารถติดต่อกับเพื่อนๆ ได้ต่อเนื่องยาว มักชอบเข้าร่วมกิจกรรมอาสาต่างๆ มีความเหงาน้อยกว่าคนอื่น และมีความเสี่ยงต่ำที่จะเป็นโรคซึมเศร้า

และงานวิจัยยังนำเสนอเพิ่มเติมอีกว่า การมีเป้าหมายชีวิต คือการมีรากฐานที่ดีและมั่นคงในการสร้างอนาคตในวันข้างหน้า

ข้อดีของการมีเป้าหมายชีวิต

– พาเราเดินไปข้างหน้าเสมอ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หลายคนเรียนจนจบได้ เพราะมีเป้าหมายว่าอนาคตฉันอยากทำในสิ่งที่ฉันฝันไว้หลายคนมีโอกาสได้ทำงานที่ท้าทายความสามารถมากกว่าเดิม เพราะมีเป้าหมายว่าอยากเติบโตในอาชีพของตัวเอง สรุปได้ว่าเป้าหมายทำให้คนมีแรงจูงใจที่จะประสบความสำเร็จ

– ทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย โดยการรู้จักตั้งเป้าหมายเล็กๆ ก่อน เช่น
เป้าหมายใหญ่ คือ เรียนให้จบ ม.6 หรือ ปวช.3
เป้าหมายเล็กๆ คือ แต่ละวันเราจะจัดเวลาอ่านหนังสือทบทวนบทเรียนวันละ 1 ชั่วโมง เล่นมือถือ 1 ชชั่วโมง หลังเสร็จสิ้นภารกิจ และแต่ละวันออกกำลังกาย วันละ 30 นาที เป็นต้น
การทำเป้าหมายเล็กๆ ให้สำเร็จนี่เอง ที่จะช่วยพาเราไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า

– ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น หากเป้าหมายชีวิตทำให้เราเดินไปข้างหน้า ยิ่งเราเดินไปข้างหน้ามากเท่าไหร่ เราจะยิ่งรู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเราถนัดอะไร เราทำอะไรได้ดี ทำสิ่งไหนแล้วมีความสุข อะไรที่เราแล้วทำให้เกิดสมาธิจดจ่อ หรือมีตรงไหนที่เราควรพัฒนาต่อเพื่อให้ดีขึ้น

– ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง อธิบายให้เห็นภาพได้ว่า ในทุกๆ วัน เราจะรู้ว่าเราตื่นมาเพื่ออะไร มีความสนุกหรือท้าทายอะไรบ้างที่รออยู่ ทำให้เรารู้ว่าเรากำลังทำสิ่งนี้เพื่อใคร และต้องทำไปถึงเมื่อไหร่

การมีเป้าหมายชีวิตไม่ใช่เรื่องยากและวัยรุ่นทุกคนสามารถค้นหาเป้าหมายของตัวเองได้ เพียงแต่การจะเจอเป้าหมายชีวิตนั้น เราต้องทราบก่อนว่าเราต้องการอะไร ต้องให้เวลาในการทบทวนหรือพิจารณาความต้องการของตัวเอง เป้าหมายชีวิตไม่สามารถเกิดขึ้นได้อัตโนมัติ มันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราได้คิดและลงมือทำ

เพราะอะไร…เรายังหาไม่เจอ
ว่าเราอยากทำอะไรต่อไปในชีวิต

มีความเป็นไปได้ที่แม้ว่าเราจะลองตอบคำถามทั้ง 5 ข้อด้านบนแล้วแต่ก็ยังไม่รู้ว่าอยากทำอะไรต่อไป นั่นอาจเป็นเพราะเราเลือกเครื่องมือค้นหาผิด เครื่องมือในที่นี้หมายถึงเรามีรูปแบบการคิดบางอย่างที่อาจจะไม่เหมาะสมนัก ซึ่งความคิดที่ไม่เหมาะสมนี้จะเป็นอุปสรรคที่สกัดกั้นการค้นหาเป้าหมายในชีวิตของเรา

ความคิดสมบูรณ์แบบ คิดอะไรต้องถูกต้องร้อยเปอรเ์ซ็นต์ ต้องสำเร็จ ต้องดี จนหาที่ติไม่ได้ การคิดแบบนี้จะทำให้ความคิดแข็งตัวคือไม่มีความยืดหยุ่น ไม่ปรับไปตามสถานการณ์ ทำให้เจ้าของความคิดเกิด ความเครียดและความกดดัน ซึ่งจะยิ่งทำให้คิดอะไรไม่ออก

ความคิดที่ว่า “ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่มีวันสำเร็จ” ความคิดลักษณะนี้ เป็นการมีมองอนาคตในทางลบมากจนเกินไป ส่งผลให้จ้าข้องความคิดไม่อยากลงมือทำอะไรทั้งสิ้น เพราะเชื่อไปแล้วว่าถึงจะทำอย่างไรก็ไม่มีทางสำเร็จ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่ได้หมายความว่า สิบอย่างที่เราทำนั้นจะสำเร็จทั้งสิบอย่าง

มองตัวเองด้อยกว่าความเป็นจริง การประเมินตัวเองด้อยกว่าความเป็นจริง คืออีกหนึ่งความคิดที่สกัดกั้นการค้นหาตัวเองและเป้าหมายในชีวิต ซึ่งความคิดลักษณะนี้มักนำไปสู่ความคิดในข้อ 2 คือ “ไม่ว่าจะ ทำอย่างไรก็ไม่มีวันสำเร็จ เพราะฉันไม่มีความสามารถ” ในความเป็นจริงนั้น การลงมือทำต่างหากที่จะบอกเราได้ว่า ความสามารถเรามีแค่ไหนและหากเรามีความสามารถเพียงเท่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะพัฒนาให้มีมากขึ้นไปอีกไม่ได้

จากความคิดทั้ง 3 รูปแบบนี้ส่งผลให้เจ้าของความคิดไม่สามารถคิดสร้างสรรค์หรือคิดนอกกรอบได้ ยิ่งทำให้กังวลไปอีกว่าเราค้นหาความต้องการ ค้นหาเป้าหมายไม่เจอสักที เมื่อกังวลก็จะยิ่งคิดไม่ออกว่าเราจะเลือกอนาคตแบบไหน จะเลือกเดินทางไหน

นอกจากความคิดทั้ง 3 รูปแบบแล้ว บางครั้งการที่เราไม่สามารถค้นหาความต้องการหรือยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปในชีวิต มักมาจากการที่เราอยู่ในพื้นที่ที่เป็น Comfort Zone มากจนเกินไป จนทำใหเ้รารู้สึกกังวล เมื่อคิดว่าต้องเจอการเปลี่ยนแปลงทั้งจากสถานการณ์ภายนอกและภายใน ต้วเราทำให้เราไม่อยากคิดหรือลงมือทำอะไร รู้สึกไม่ปลอดภ้ย เพราะไม่รู้ว่า เมื่อทำไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หรือจะสามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่

Comfort Zone
หรือพื้นที่ปลอดภัยคืออะไร

Comfort Zone  หรือพื้นที่ปลอดภัย คือความรู้สึกคุ้นชินว่าทำแบบนี้ คิดแบบนี้แล้วเราจะปลอดภัย จะไม่ผิด จะไม่ผิดหวัง เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะอยู่ภายใต้การควบคุมของเราและไม่มีอะไรแปลกใหม่ให้ต้องกังวลว่าเราจะควบคุมได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน หรือการทำงาน แต่หากมีอะไรเปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่จะทำให้รู้สึกกังวลขึ้นมาทันที

การที่เราอยู่ในพื้นที่ Comfort Zone มีผลเสีย คือทำให้เราไม่พยายามจะเรียนรู้หรือพัฒนา เพราะไม่อยากเผชิญการเปลี่ยนแปลง กลัวความผิดพลาด ทำให้เราเสียโอกาสในการพัฒนาตัวเองและไม่ได้ใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถอยู่ใน Comfort Zone ได้ตลอดไป เพราะ ทุกอย่างย่อมมึการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่ใช่วันนี้ก็ต้องเกิดขึ้นในอนาคต

การพาตัวเองออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยจะช่วยให้เรามองเห็นสิงใหม่ๆ ได้ท้าทายตัวเองให้ลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำ เพื่อให้ค้นพบความเป็นตัวตน ความต้องการและเป้าหมายของเราในอนาคตข้างหน้า เรียนรู้ที่จะเผชิญกับปัญหา แรงกดดัน ความเครียด และความเหนื่อยยาก

วิธีที่จะทำให้ชีวิตหลุดออกจาก Comfort Zone คือการรู้จักจัดการชีวิตเชิงรุก หมายถึง การลุกขึ้นมาวางแผน  วางเป้าหมาย ค้นหา จุดหมายในชีวิต และทำสิ่งที่ไม่เคยทำ เพื่อจะทำทดสอบว่าเรานั้นเหมาะ หรือจดจ่อมีสมาธิอยู่กับสิ่งใด ทำสิ่งใดได้ หรือทำแล้วมีความสุข

การตามหาเป้าหมายเป็นสิ่งที่ท้าทายและไม่จำเป็นว่าเราจะต้องทำทุกอย่างได้สำเร็จลุล่วงร้อยเปอร์เซนต์ ความผิดพลาดนั้นคือบทเรียนที่จะช่วยให้เราเก่งขึ้นไม่ใช่สิ่งซ้ำเติมว่าเราด้อยคุณค่า ทุกคนที่ประสบความสำเร็จบนโลกใบนี้ ล้วนต้องผ่านจุดนี้ด้วยกันทั้งนั้น

ที่มา :
https://web.facebook.com/ThaiPsychiatricAssociation/posts/
https://.www.youtube.com/watch?v=65oxDOue8as
https://www.blockdit.com/posts/605ab0758049eb0c2070cb54
https://www.brandthink.me/content/