ตอนที่เราเรียนหนังสือ ที่โรงเรียนมักเต็มไปด้วยคำถามที่เราเองก็ยังหาคำตอบไม่ได้ และโรงเรียนก็ไม่ได้มีหลักสูตรการสอนวิชาชีวิตแบบวัยรุ่น จำได้หรือเปล่าตอนที่เราอยู่ในวัยมัธยมฯ เรามักเจอคำถามและมีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับอนาคตภายภาคหน้า รวมไปถึงการเรียนต่อในมหาวิทยาลัย แต่น้องๆ วัยรุ่นหลายๆ คนก็ไม่รู้ และจะไปปรึกษาหรือหาคำแนะนำจากใครดี?

การค้นหาตัวเองก็เป็นสิ่งจำเป็นที่หากเรารู้ตัวเองได้เร็ว เราก็จะได้ไปต่อยอดและพาตัวเราไปสู่เป้าหมายได้เร็วกว่าคนอื่นๆ แต่นอกเหนือจากการรู้จักตัวเอง อีกสิ่งหนึ่งก็มีความสำคัญ คือการสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง”

ตอนเด็กเรามักถูกปลูกฝังว่า ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ให้ได้ แต่เราเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า มหาวิทยาลัยนั้นเป็นสถานที่แบบไหน เมื่อเราได้เป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นแล้ว เราเคยคิดถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัยหรืออยากใช้ชีวิตแบบไหนในฐานะนักศึกษาที่มีคุณค่า

แต่ถ้าหากตอนนี้น้องๆ ยังไม่ได้สอบเข้ามหาวิทยาลัย และกำลังค้นหาตัวเองอยู่ ก็ขอให้น้องๆ ตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบให้ได้ 3 ข้อ
1. “อะไรคือสิ่งที่เราต้องทำเมื่ออายุ 20 ปี
2. “มหาวิทยาลัยคืออะไร”
3. “สิ่งที่เราควรแสวงหาคืออะไร”

3 สิ่งที่ควรมีเมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

ในหนังสือเพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด ของคิมรันโด ในตอน “มหาวิทยาลัยคืออะไรสำหรับเรา” ได้เล่าไว้ว่า…มหาวิทยาลัยไม่ใช่องค์กรที่ถ่ายทอดความรู้แบบตื้นเขิน ไม่ใช่องค์กรการศึกษาที่สอนเนื้อหายากกว่าชั้นมัธยมฯ มหาวิทยาลัยแตกต่างจากการระดับการศึกษาแบบอื่นๆ คือ “งานวิจัย” ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงวิชาการ ผลิตความรู้เชิงสร้างสรรค์ เหล่านี้คือคุณสมบัติของมหาวิทยาลัยที่เหนือกว่าระดับการศึกษาอื่นๆ ถ้าจะให้ความหมายของ “มหาวิทยาลัย” น่าจะหมายถึง “สถานที่รับการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่” ไม่ใช่สถานที่ที่เรียนรู้เท่านั้น แต่ต้องรับการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ด้วย

3 สิ่งที่ควรมีเมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย นั่นคือ “ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ ความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ และความฝันที่ยิ่งใหญ่”

คนเก่งที่ผ่านการเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ใช่คนเก่งที่สังคมหรือบริษัทต้องการ ถึงแม้บริษัทจะเลือกนักศึกษาที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่ก็ไม่สามารถทำงานเป็นทันที ต้องฝึกงานหรือทดลองงานก่อน เพราะมหาวิทยาลัยไม่ใช่สถานที่อบรมพนักงาน ไม่ใช่สถานที่ถ่ายทอดความรู้ที่สามารถใช้ทำงานในบริษัทนั้นๆ ได้ แต่เป็นสถานที่ที่มอบความรู้ เพิ่มปัญญา ฝึกปฏิบัติเชิงวิชาการ มหาวิทยาลัยไม่ใช่สถานบันกวดวิชาที่มีหน้าที่สอนพิเศษหรือช่วยแนะแนวการสมัครงาน แต่เป็นสถานที่ฝึกอบรมปัญญา บ่อเกิดแห่งความรู้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั่นเอง

การรู้จักตัวเองยังไม่พอ…ต้องสร้างคุณค่าให้ตัวเองด้วย

หากใครติดตามและชอบฟัง Podcast อยากให้เข้าไปฟัง (Homeroom EP.02 : ทำตัวเองให้มีคุณค่าเพื่อคุณค่าในตัวเอง | a day Podcast)  แขกรับเชิญ คือ นัท – นิศามนี เลิศวรพงศ์ หรือ นัท สะบัดแปรง บิวตี้บลอคเกอร์ ที่ได้เล่าเรื่องราวชีวิตตัวเองตั้งแต่เรื่องเรียน การทำงาน ไปจนถึงแอตติจูดในเรื่องคุณค่าในตัวเอง

เรื่องราวของนัทตั้งแต่จำความได้คือต้องทำงาน เพราะพ่อแม่บอกให้ทำงาน เสาร์ – อาทิตย์ ไม่เคยออกไปเที่ยวกับเพื่อนๆ เพราะต้องไปทำงานพิเศษ ชีวิตไม่เคยรู้จักความลำบากเพราะอยู่กับความลำบากมาตั้งแต่แรก เลยไม่รู้ว่าอะไรคือความยากลำบาก สนุกสนานและมีความสุขกับทุกๆ สิ่งที่ได้ทำ จนมาถึงวัยที่ต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ต้องเลือกสาขาที่อยากเรียน นัทเลือกเรียนแฟชั่นดีไซน์ เพราะเข้าใจว่าถ้าได้เรียนด้านแฟชั่นดีจะได้เป็นนางแบบ เพราะเห็นรายการที่เกี่ยวกับงานแฟชั่นทางทีวี วันที่ไปบอกครูแนะแนวว่า “จะเรียนต่อแฟชั่นดีไซน์” คุณครูก็แนะแนวไม่ถูก เพราะอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีนักเรียนคนไหนจะไปเรียนต่อด้านแฟชั่นเลย ก็เลยได้แค่ติว Drawing ในคาบวิชาศิลปะ แต่เพราะวิชาศิลปะที่โรงเรียนไม่ได้แตกแขนงหรือมีวิชาย่อยเกี่ยวกับแฟชั่นดีไซน์ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำได้แค่นั่ง Drawing ไปเรื่อยๆ จนวันนึง มีรุ่นพี่ที่มาติวศิลปะให้ที่โรงเรียนถามนัทว่าจะเรียนต่ออะไร? นัทบอกว่าจะไปเรียนแฟชั่นดีไซน์ รุ่นพี่บอกว่า เสียเวลามาติว Drawing ทำไม อีก 3 เดือนจะสอบตรงแล้ว ต้องไปเรียน Figure

สำหรับนัท Figure มันคืออะไร? ไม่เคยรู้มาก่อน แต่ด้วยความโชคดีที่รุ่นพี่ที่มาติววาดรูปให้มีเพื่อนที่เรียนด้านแฟชั่น พี่เขาก็เลยแนะนำและให้เราไปติวกับเพื่อนพี่เขา แต่ด้วยเวลาที่เหลือสั้นมากมีเวลาแค่ 3 เดือน นัทโดนสั่งให้ทำการบ้านเยอะกว่าเพื่อนในคลาส เช่น แป้งส่งการบ้านมา 10 รูป ส่วนนัทส่งมา 100 รูป นัทเริ่มมีอคติกับพี่ที่ติวให้และโมโหทุกครั้งที่พี่สั่งการบ้านแบบไม่เท่าเทียม และทำงานส่งด้วยความโกรธทุกครั้ง จนมาถึงวันสอบ นัทไม่รู้ตัวเลยว่าที่พี่เขาให้เราวาดรูปเยอะกว่าเพื่อนๆ คือการทำให้เราเรียนรู้ให้ทันเพื่อนคนอื่นๆ เพราะคนอื่นๆ ติวมา 2 ปีแล้ว ส่วนนัทมีเวลาติวแค่ 3 เดือน วันสอบทำให้รู้ว่าทักษะการวาดรูปของนัทนั้นดีขึ้นมาก เพราะได้ผ่านด่านความโหดมาเยอะแล้วตลอด 3 เดือน จนในที่สุดนัทสอบติดสาขาแฟชั่นดีไซน์ได้สำเร็จ นัทคิดเสมอว่าเพราะตลอดเวลา 3 เดือนของการติว นัททำเต็มที่มากๆ และคิดอย่างเดียวว่า “ฉันจะได้เป็นนางแบบแล้ว”

เพราะตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่าการเรียนแฟชั่นดีไซน์ต้องเป็น Designer, Fashion Marketing Design  หรือ Personal Stylist ในหัวคิดแค่ว่าจะได้เป็นนางแบบ พอได้เขาไปเรียนจริงๆ ไม่ใช่อย่างที่คิดไว้เลย จนมาถึงตอนปี 2 เพิ่งเข้าใจว่า การเรียนแฟชั่นดีไซน์ ไม่ใช่การเป็นนางแบบ แต่เรียนเพื่อทำเสื้อผ้า ทำแบรนด์เสื้อผ้า แต่นัทก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองรักในแฟชั่นจริงๆ หรือเปล่า รู้แค่ว่าตัวเองทำได้ ตอนเรียนเย็บผ้าก็ไม่สนุก และเกลียดมากตอนเรียนวาดแพทเทิร์น จนได้เรียนวิชา Illustator (วิชาวาดภาพประกอบ) ค้นพบว่าตัวเองทำได้ดี “เพราะอะไรที่ทำได้ดีเราจะชอบ” ภาพที่นัทวาดไม่ได้สวยแต่งานมีเอกลักษณ์ ทำให้เรียนแล้วสนุก นัทคิดว่าจะทำอาชีพเป็นนักวาดภาพประกอบ เพราะสนุก นัทวาดภาพเยอะมาก ทำให้รู้ว่า Organize fashion ไม่ได้มีแค่ Designer, Pattern Maker แต่มี Fashion Illustator ด้วย นัทกำลังเจอตัวเอง แต่ไม่ได้มาจากสิ่งที่ชอบ เหมือนค้นหาตัวเองได้จากการลงมือทำก่อนและสิ่งนั้นทำได้ดี และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราจะชอบในสิ่งที่เราทำได้ดี กว่านัทจะรู้ตัวว่าชอบวาดภาพก็เมื่อมีคนมาชม มีคนมาสนับสนุนผลงาน มีคนมาให้คำแนะนำ เป็นความสุขจากสิ่งที่ตัวเราทำได้ และอยากทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก

หลังเรียนจบแล้วหลายคนอาจจะดีใจ ตื่นเต้นที่เรียนจบสักที เพราะตลอด 4 ปี วันจันทร์ – ศุกร์ ต้องไปเรียน ไปมหาวิทยาลัย ต่อไปนี้ต้องไปทำงานแล้ว หลายคนกังวล หาทางไปไม่ถูก สำหรับนัทไม่มีความรู้สึกเหล่านั้นเลย เพราะนัททำงานมาโดยตลอด หลายคนคิดว่าได้ลองทำงานมาแล้วตอนฝึกงานไง แต่ความจริงแล้วนั่นไม่ใช่การทำงานจริง นัทได้แนะนำไว้ว่า เราต้องพาตัวเองออกไปทำงานอยู่ตลอด แล้วเราจะไม่เป็นปลาน็อคน้ำหลังเรียนจบแล้ว เพราะว่ามีหลายคนที่เว้นช่วงไม่หางานทำ เพราะไม่รู้จะเริ่มยังไง ขอพักก่อน เพราะว่าปรับตัวไม่ถูก ตอนเรียนมีอาจารย์มาสั่งแล้วก็ทำ มีกฎว่าจะต้องมาเรียนวันนี้ เวลานี้ พอเรียนจบแล้วต้องไปฝ่าฟันเอง หาที่ไปเอง ไม่มีคนมาสั่งแล้วมาต้องทำอะไร โจทย์คืออะไร ก็เลยทำให้หลายคนเคว้ง บางคนขอไปเที่ยวก่อน ไปพักผ่อนก่อน บางคนไม่รู้จะทำอะไรก็เลยเรียนต่อล่ะกันเพราะไม่รู้ต่อไปจะทำอะไร สำหรับนัทจะเรียนอยู่หรือเรียนจบแล้วก็ยังทำงานต่อไป ฝากทุกคนไว้ว่า การที่เราออกไปทำงานอยู่ตลอด ทำพาร์ทไทม์หรืองานอะไรก็แล้วแต่เป็นเรื่องที่ดีสำหรับตัวเราทั้งนั้น เพราะเพื่อนในรุ่นของนัทที่เก่งๆ จะถูกดึงตัวไปทำงานตั้งแต่ตอนเรียนปี 3 เพราะตอนทำ Baby Thesis อาจารย์จะเชิญเหล่าดีไซน์เนอร์ชื่อดัง คนในวงการแฟชั่นมาดูผลงานของนักศึกษา ผลงานของใครที่เข้าตา ผลงานยอดเยี่ยม ก็จะถูกเรียกตัวให้ไปทำงานกับองค์กรนั้นๆ แล้ว เพื่อนกลุ่มนี้จะไม่เป็นปลาน็อคน้ำ เพราะรู้แล้วว่าจะทำอะไร รู้ระบบการทำงานจริงแล้ว

การเข้ามหาวิทยาลัยสำหรับนัทไม่ใช่การคร่ำเคร่งเพื่อเรียนอย่างเดียว ต้องมีการแบ่งเวลาในการเรียนรู้การทำงานจริง เพราะการเรียนในมหาวิทยาลัยเหมือนเป็นช่องทางที่ทำให้เราได้เจอคนทำงานด้านนั้นจริงๆ สำหรับนัทจริงๆ แล้วมีแค่เซ้นท์ด้านแฟชั่น ไม่ต้องเรียนจะเปิดแบรนด์แฟชั่นของตัวเองเลยก็ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องยาก แค่บอกสิ่งที่อยากได้กับช่างตัดเย็บเราก็เปิดแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองได้เลย แต่ถ้าเรียนเราจะมี Connection ที่ชีวิตปกติเราจะไม่มีทางได้เจอกับกูรูหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ทำงานด้านแฟชั่นเลย เราจะไม่มีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับพวกเขาเลย

ในวันที่เริ่มทำช่อง YouTube

สำหรับช่อง YouTube ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในหนึ่งปี เพราะมีคนกดติดตามช่อง 1 ล้าน Subcribers แต่ตอนที่เริ่มทำช่องไม่ได้เกิดจากความชอบเหมือนตอนวาดรูปเลย แค่ทำคลิปแกล้งเพื่อน เล่นตลกไปเรื่อยๆ พอมีคนมากด Like กด Share ทำให้เรารู้ว่าเราชอบสิ่งนี้ เพราะเราได้รับการยอมรับจากสิ่งนี้ ตอนที่นัทเริ่มทำ “สะบัดแปรง” ครั้งแรกก็เกิดจากความบังเอิญ เพราะตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามีฟังค์ชั่นที่เรียกว่า Live Streaming (ถ่ายทอดสด) ตอนนั้นนั่งแต่งหน้าอยู่เห็นปุ่มนี้เลยลองกดเล่น สักพักมีคนมาดู 1 คน 2 คน จนเป็นหลักพันหลักหมื่นคน ก็มีคนมาคอมเม้นท์ว่าเขียนคิ้วหน่อยค่ะ สอนปัดแก้มหน่อยค่ะ ในตอนนั้นเราแค่นั่งแต่งหน้าอยู่ ไม่ได้ตั้งใจจะสอนแต่งหน้า แต่คอมเม้นท์บอกว่าให้เราสอนเขียนคิ้วหน่อย ปัดแก้มหน่อย วันนั้นก็เลยเป็นความบังเอิญจนกลายมาเป็นอาชีพในวันนี้

ฝากไว้ว่า “ไม่ต้องเครียดถ้าเรายังไม่รู้ว่าเราชอบอะไร บางครั้งความชอบก็มาด้วยความบังเอิญ” เพราะเด็กๆ ยุคนี้จะได้รับข้อมูลมากมายหรือถูกบีบในเรื่องเกี่ยวกับการค้นหาตัวเอง เช่น รู้ตัวเร็วประสบความสำเร็จเร็ว สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กเครียดเพราะมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าชอบอะไร และจะเป็นอะไรดี

เมื่อความบังเอิญทำให้ค้นหาตัวเองเจอและประสบความสำเร็จไปแล้ว ต่อไปคือผลงานจริง

ความบังเอิญแรกตอนเรียน Illustator ทำให้รู้ตัวว่าชอบวาดรูป ความบังเอิญที่สอง คือ ตอนนั่งแต่งหน้าอยู่แล้วลองกดปุ่ม Live Streaming แล้วมีคนมาดู มาชื่มชมเรา ต่อไปไม่ใช่ความบังเอิญแต่เป็นสิ่งที่เราต้องต่อยอดเพื่อให้เป็นผลงานของเรา เริ่มมีการวางแผน วันนี้จะพูดอะไร มีคอนเทนต์อะไร นัทก็ Live แต่งหน้าไปเรื่อยๆ จนมาถึงจุดหนึ่งก็เข้าใจว่า คนที่มาดูไม่ได้ชอบการแต่งหน้าของเรา แต่ที่เข้ามาดูเพราะมาดูวาไรตี้ อยากรู้ว่าวันนี้เราจะมาเล่าเรื่องอะไร? แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ จนมาถึงจุดที่เรียกว่า “อิ่มตัว” แต่งหน้ามาทุกลุค ทุกสไตล์แล้ว เพราะใน 1 ปี มี 356 วัน นัทแต่งหน้า 365 ลุค สายฝอ สายเกา ทุกสาย ทุกสไตล์ แต่งหน้าจนไม่รู้ว่าจะไปไกลกว่านี้ได้ยังไง รู้สึกว่าการแต่งหน้าไปต่อไม่ได้แล้ว รู้สึกกดดัน เพราะเราเป็นดาวมาโดยตลอด ยอดวิวเราเยอะมาโดยตลอด จนถึงช่วงขาลงเกิดความเครียด ก็เลย Challenge ตัวเองโดยการ “ฉันจะไม่ติดสวยแล้ว” เพราะที่ผ่านมานัทแต่งหน้าเพื่อความสวยและใช้ในชีวิตประจำวันได้

ในช่วงหลังนัทเริ่มมองหาจุดยืนของช่องสะบัดแปรงโดยการ แต่งหน้าเป็นเด็กทารกไปเลย ไม่ใช่การแต่งหน้าให้เด็กลงแต่เป็นการแต่งหน้าเป็นเด็กทารก วันเลือกตั้งก็แต่งหน้าเป็นนายก วันฮาโลวีนคนอื่นจะแต่งแบบผีสวยๆ แต่สำหรับนัทแต่งเป็นผีให้เต็มที่ไปเลย จนทำให้คิดได้ว่า “คิดได้ไงว่าเราอิ่มตัว” เพราะว่าเราได้ท้าตัวเองถึงจุดที่เราไม่กล้าไป จากเมื่อวานที่คิดว่าไม่รู้จะแต่งหน้าอะไรได้อีกแล้ว พอวันที่ได้แต่งหน้าเป็นเด็กทารก นั่นคือการได้ข้ามเส้นกั้นของตัวเองมาแล้ว ทำให้คิดได้ทันทีว่าอีก 10 ปี ฉันก็มีลุคการแต่งหน้าใหม่ๆ ไม่ซ้ำแน่นอน ตอนนั้นที่คิดว่ามันสุดทางแล้ว ไปต่อไม่ได้อีกแล้ว ถึงทางตันแล้ว ยอดเขาสูงกว่านี้ไม่ได้แล้ว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย แค่หมอกมันบังอยู่ มันยังสูงและไปได้อีกไกล แค่ต้องก้าวข้าม Comfort Zone ของตัวเอง เราจะได้เจอเรื่องราว สิ่งใหม่ๆ อีกนับไม่ถ้วนเลย

นัทมีคำที่ใช้บอกตัวเองและคนอื่นๆ เสมอว่า “ยากไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ ยากแปลยากเฉยๆ ที่ยากเพราะว่าทำครั้งแรก ครั้งต่อๆ ไปก็ทำได้แล้ว” ถ้ามีคนถามว่าลุคการแต่งหน้าแบบไหนแต่งยากที่สุด นัทจะบอกว่า ลุคที่ได้แต่งครั้งแรก ตอนกรีดอายไลเนอร์ครั้งแรกมันยากมาก พอได้กรีดไปเรื่อยๆ ไม่ต้องส่องกระจกก็กรีดได้แล้ว ไม่มีลุคไหนยากหรอกที่มันยากเพราะเราทำครั้งแรก เพราะฉะนั้นน้องๆ ที่บอกว่า เรียนหมอยาก เรียนแฟชั่นยาก ไม่ได้แปลว่าน้องทำไม่ได้ ยกเว้นสิ่งที่เจอแล้ว “ทำไม่ได้” ค่อยตัดใจจากสิ่งนั้นทิ้งไป ขอยกตัวอย่างที่จะทำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น เช่น เรากินกุ้งไม่ได้เพราะเราแพ้กุ้ง นี่เป็นสิ่งที่เราทำไม่ได้เลย ก็แค่ตัดเมนูที่มีกุ้งออกไปจากโต๊ะอาหารของเรา แต่สิ่งที่ยากคือถ้าเราไม่ชอบกินผัก การจะเคี้ยวผักและกลืนลงไปมันยากมาก มันเหม็น มันไม่อร่อย อะไรก็ตามแต่ ถึงมันยากที่จะกินแต่เราลองกินได้ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เราได้ลอง ต่อไปผักอาจจะอร่อยสำหรับเราก็ได้นะ

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากนัท สะบัดแปรง ก็คือ “การลงมือทำ” ตอนนั้นเราอาจจะงง เราไม่รู้ว่าเราชอบหรือทำอะไรได้ แต่สิ่งหนึ่งที่นัททำเยอะมาก คือ การทดลอง การลงมือทำ จนกระทั่งได้เจอทางที่ใช่สำหรับตัวเองและต่อยอดจนสามารถสร้างมูลค่าให้กับสิ่งๆ นั้นได้ รวมไปถึงการ Challenge ตัวเอง การเปลี่ยนแปลงตัวเอง แค่หนึ่งครั้งกลับสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้มหาศาลและทำให้เจอเส้นทางที่ทำให้เราวิ่งต่อไปได้อีกหลากหลายเส้นทาง

คำว่า “คุณค่าสร้างได้ด้วยตัวเอง” ไม่ได้เกิดจากสิ่งที่เราเป็น หรือเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามา คุณค่าเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น เป็นสิ่งที่เราได้ทำ เพราะนัททำมาตั้งหลายอย่างมีทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นบทเรียน เป็นการตัดตัวเลือกในชีวิตออกไป อะไรที่ทำได้ก็ยึดถือไว้พัฒนาต่อยอดสิ่งนั้นไป และสุดท้ายเมื่อไหร่ที่เรา Challenge ตัวเองได้ คุณค่าของเราจะสามารถพัฒนาต่อได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

บทความนี้ไม่ได้มีสูตรสำเร็จให้ทุกคนสามารถสร้างคุณค่าให้ตัวเองได้หลังอ่านจบ แต่อยากให้ทุกคนนั้นค่อยๆ หาคุณค่าที่ตัวเองมีในขณะนี้ อย่าเพิ่งท้อถ้ายังไม่เจอสิ่งที่ใช่ อย่าเพิ่งท้อถ้ายังไม่เจอสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข ทดลองและลงมือทำไปเรื่อยๆ หวังว่าวันหนึ่งในไม่ช้าทุกคนจะได้พบแนวทางชีวิตของตัวเอง

ขอขอบคุณข้อมูล
– หนังสือเพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด (คิมรันโด)
– https://www.youtube.com/watch?v=LIx5zLbyC7s

ภาพประกอบ
https://www.pinterest.com