เราทุกคนคงเคยโดนถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” นับสิบครั้ง คำตอบก็มีหลากหลาย ตั้งแต่อยากเป็นคุณครู คุณหมอ ทหาร ตำรวจ นักบินอวกาศหรือซุปเปอร์ฮีโร่ ขณะที่คำถามนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเด็กๆ ในการทบทวนความสนใจของตัวเองและเป็นโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่ (ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน) ได้แนะแนวลูกๆ อย่างเข้าใจ แต่คำถามนี้นี่เองก็อาจจะเป็นกรอบจำกัดความสามารถของเด็กๆ ด้วยเช่นกัน

พยายามค้นหาตัวตน

ตั้งแต่ชั้นอนุบาลเป็นต้นมา มีการบ้านจำนวนนับไม่ถ้วนที่ต้องการให้เด็กพยายามค้นหาตัวตนว่าอยากประกอบอาชีพอะไรเมื่อโตขึ้นและคาดหวังให้เด็กเลือกมาสักอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าคำถามนี้จะถูกถามด้วยเจตนาดี แต่สุดท้ายแล้วการที่ถูกถามคำถามนี้บ่อยๆ อาจส่งผลต่อมุมมองที่เด็กมีต่อตนเองในระยะยาวได้ คำถามนี้สร้างความกดดันให้เด็กๆ โดยที่ผู้ถามไม่รู้ตัวด้วยซ้ำและสร้างความรู้สึกที่ว่าต้องเป็นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้เกิดขึ้น เด็กบางคนอาจตอบคำถามไปโดยที่ไม่ได้มาจากใจตัวเองจริงๆ โดยอาจเลือกตอบคำตอบที่คิดว่าถูกใจพ่อแม่หรือเพราะตามสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นคุณครูก็อาจตอบว่าอยากเป็นคุณครูเพียงเพราะตอนถูกถามเขายังไม่มีโอกาสได้รู้จักอาชีพอื่นเลย จึงยึดเอาสิ่งที่เขารู้จักเพราะเห็นพ่อแม่ทำอยู่ทุกวัน หรือเด็กบางคนตอบคำถามตามเพื่อนที่นั่งข้างๆ เพราะไม่รู้จะตอบอะไร ขอแค่ให้มีคำตอบไว้ตอบครูเท่านั้น เด็กบางคนโตขึ้นอยากเป็นเจ้าหญิง เป็นนักรบ เป็นหนูน้อยหมวกแดง เพราะทุกๆ เช้าตื่นขึ้นมาได้ดูแค่การ์ตูนเรื่องโปรด คำตอบเหล่านี้เกิดจาก “เพราะพวกเขาไม่รู้” พวกเขายังไม่มีประสบการณ์เรื่องอาชีพที่หลากหลาย เพราะเด็กในวัยเรียนประสบการณ์ของพวกเขามีแค่บ้านกับโรงเรียน หรือหากตอบบางอาชีพไป เด็กๆ อาจกลัวได้รับการตอบรับในแง่ลบกลับมา เช่น ถ้าเด็กคนหนึ่งตอบว่า “หนูอยากเป็นบรรณารักษ์ค่ะ เพราะหนูชอบห้องสมุด ชอบอ่านหนังสือ” ผู้ใหญ่อาจตอบกลับมาว่า “แต่งานน่าเบื่อมากเลยนะ ไม่ก้าวหน้าแถมได้เงินน้อยอีก” หรือถ้าเด็กอีกคนตอบว่า “ผมอยากเป็นนักเขียนครับ ชอบเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือมากเลย” ผู้ใหญ่อาจตอบกลับมาว่า “รู้หรือเปล่าว่านักเขียนล้นตลาดไปหมด ถ้าขายงานไม่ได้จะทำอย่างไร อุดมการณ์กินไม่ได้นะ”

ดังนั้นคำตอบของคำถามนี้จึงสะท้อนถึงสิ่งที่เป็นที่ยอมรับได้หรือเป็นสิ่งที่ถูกให้คุณค่าโดยครอบครัวและโดยสังคม เนื่องจากเป้าหมายทางอาชีพการงานของเด็กๆ มักได้รับอิทธิพลจากมุมมองที่สังคมคิดว่าเหมาะสมกับเพศและฐานะของเด็ก มากกว่ามุมมองของตัวเด็กเองที่มีต่อความสามารถและความสนใจของตนเอง

คำถามที่ควรถามเด็กๆ

บางทีคำถามที่ควรถามเด็กๆ คือ “อะไรที่ทำให้เขามีความสุข” และ “อยากเรียนรู้เกี่ยวกับอะไรเพิ่มเติมมั้ย” มากกว่า เพราะเด็กๆ จะได้มีโอกาสในการศึกษามุมอื่นๆ ในชีวิตนอกจากการเรียนและการงาน นอกจากนี้ ในวัยทำงานคนเราใช้ชีวิตอยู่ที่ทำงานนานกว่าอยู่ที่บ้านด้วยซ้ำไปและหน้าที่การงานยังเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่จะทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกพึงพอใจในชีวิตของตนเองและรู้สึกประสบความสำเร็จได้

ดังนั้นการเลือกงานที่เราสนใจจริง ๆ และทำแล้วมีความสุขจึงสำคัญมาก โดยจุดประกายความสนใจของเด็กๆ อาจเกิดขึ้นจากแค่เพียงฉากหนึ่งในภาพยนตร์ประโยคหนึ่งในบทสนทนา หรือความรู้สึกใจเต้นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะก็ได้ เช่น ฉากที่แหล่งขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ในรัฐมอนแทนาจากภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park การได้เห็นคณะทำงานใช้ฝีแปรงปัดทรายที่ปกคลุมฟอสซิล เผยชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ทีละนิดอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ อาจทำให้เด็กๆ หลายคนสนใจเรื่องสิ่งมีชีวิตในยุคดึกดำบรรพ์และกระบวนการขุดค้น แล้วคิดถึงอาชีพนักธรณีวิทยาหรือนักบรรพชีวินวิทยาขึ้นมา

เครดิตภาพ จาก : https://mondotees.com/blogs/news/new-poster-release-jurassic-park-by-claire-hummel

หรือเวลาเด็กคนหนึ่งรู้สึกตื่นเต้นกับชั้นหนังสือมากมายที่สูงเป็นสองเท่าของตัวเอง ชอบกลิ่นกระดาษทั้งของหนังสือที่เพิ่งแกะออกมาจากห่อพลาสติกและของหนังสือที่ตีพิมพ์ก่อนเขาเกิด และสามารถไล่อ่านชื่อเรื่องและดูปกหนังสือต่างๆ ได้อย่างไม่รู้เบื่อ สิ่งเล็กๆ เหล่านี้ก็เปรียบเหมือนคำใบ้ที่อาจจะช่วยให้เราไขข้อข้องใจและนำทางเราต่อไปได้

เครดิตภาพ จาก : https://www.pinterest.com/pin/377950593726845800/

ให้โอกาสในการค้นหาสิ่งที่เด็กสนใจจริงๆ

เด็กๆ ทุกคนควรได้รับโอกาสเต็มที่ในการค้นหาสิ่งที่สนใจจริงๆ ทำความรู้จักตัวเองมากขึ้น เสริมสร้างจุดแข็ง มองเห็นจุดอ่อนของตนเอง และได้รับการสนับสนุนจากคนที่รักในการก้าวไปสู่เป้าหมายให้ได้ ซึ่งเวลาก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยพิสูจน์ความคิด ความชอบอะไรก็ตามที่ไม่จางไปตามเวลา ความสนใจใดๆ ก็ตามที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เล็กจนถึงวันที่เราพึ่งพาตัวเองได้ สิ่งนั้นก็ควรค่าในการนำมาพิจารณา และที่สำคัญในระหว่างที่เราไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร แม้จะรู้สึกเหมือนหลงทางหากเทียบกับเพื่อนบางคนที่มีเป้าหมายชัดเจน แต่คำพูดที่ว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาหรือยังคงอยู่ในชีวิตเกิดขึ้นด้วยเหตุผลบางอย่าง” ใช้ได้เสมอและทำให้เรามีความสุขกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ได้ ซึ่งบางทีอาจเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจแต่กลับไม่มีใครเห็นค่าเท่าที่ควร อย่างน้อยที่ผ่านมาทุกคนก็น่าจะรู้ดีว่าตัวเองไม่ชอบอะไรและสามารถใช้ข้อมูลนั้นตัดตัวเลือกออกไปได้ประมาณหนึ่ง หรือการลองไปอยู่ในแวดวงที่เราคิดว่าตัวเองอาจจะชอบ ถ้าสุดท้ายแวดวงนั้นยังไม่ใช่ ก็ไม่ถือว่าเสียเวลาเพราะเราก็ได้ความสัมพันธ์ดีๆ กลับมา สุดท้ายแล้วทุกอย่างไม่มีอะไรสายไป ค่อยๆ เรียนรู้ เห็นคุณค่าในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และเก็บคำใบ้ระหว่างทาง แล้วประกอบขึ้นมาเป็นคำตอบในใจว่าเราอยากใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตทำอะไรกันแน่ในที่สุด

เครดิตภาพ จาก : https://www.dek-d.com/board/view/3162408/

ผู้ใหญ่ต้องยอมรับในตัวตนที่แท้จริงของเด็ก ไม่ใช่ความคาดหวังที่อยากให้เด็กเป็น ไม่ว่าเขาเลือกทำอะไรในชีวิต พ่อแม่หรือผู้ปกครองก็ควรจะสนับสนุนเขาเสมอ เริ่มที่การตั้งคำถามง่ายๆ กับเด็กๆ “มีอะไรที่หนูทำแล้วมีความสุขบ้าง”

เรื่อง : ชนกนันท์ พังงา