ทันทีที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แพร่ระบาดในวงกว้างอย่างรุนแรง รัฐบาลทั่วโลกได้บังคับใช้มาตรการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรคและขอความร่วมมือในการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค เมื่อโรงเรียนทุกแห่งต่างก็ถูกปิดชั่วคราวและมีการรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” สิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์ที่บ้านจึงทวีความสำคัญในการตอบสนองต่อการเรียนรู้และการทำกิจกรรมยามว่างอื่นๆ ของเด็ก สำหรับเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะดี การต้องเรียนออนไลน์หรือทางไกลจากบ้านไม่ใช่เรื่องที่น่าลำบาก อาจจะดีกว่าเดินทางไปโรงเรียนด้วยซ้ำ เพราะไม่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อเผื่อเวลาเดินทางฝ่าการจราจรหนาแน่นไปโรงเรียน บริหารเวลาเรียนได้ง่ายขึ้น หากไม่เข้าใจก็สามารถทบทวนบทเรียนด้วยตัวเองได้อีกครั้งหนึ่ง ซ้ำยังใช้อินเตอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ตลอดเวลาอีกด้วย

แต่ทว่าไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีคอมพิวเตอร์ มีอินเตอร์เน็ต มีโทรทัศน์ และถึงมีก็ใช่ว่าจะเพียงพอกับจำนวนเด็กในบ้าน จากผลสำรวจความคิดเห็นของคุณครู จำนวน 678 คน จากโรงเรียนใน 67 จังหวัด ของคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า ร้อยละ 66 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดไม่สามารถเข้าถึงระบบการเรียนการสอนออนไลน์ได้เนื่องจากไม่มีคอมพิวเตอร์ และนักเรียนกว่าร้อยละ 57 ไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ โดยคุณครูได้ประเมินว่า จะมีนักเรียนที่สามารถเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ได้เพียงร้อยละ 45 เท่านั้น นักเรียนจำนวนมากจึงต้องเสียโอกาสในการเรียนรู้ โดยเฉพาะนักเรียนจากครอบครัวที่ขาดแคลน เนื่องจากนอกจากขาดอุปกรณ์พื้นฐานในการเรียนออนไลน์หรือทางไกลแล้ว ครอบครัวก็ไม่มีทุนเพียงพอที่จะหาปัจจัยสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กเพิ่มเติมอีกด้วย

ในสถานการณ์แบบนี้ห้องสมุดทั้งในโรงเรียนและห้องสมุดสาธารณะก็ถูกปิดเช่นกัน เมื่อถูกจำกัดให้อยู่ในบริเวณบ้าน เด็ก ๆ จากครอบครัวที่มีฐานะยังสามารถค้นหาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์และสื่อออนไลน์ได้มากมาย ตรงกันข้ามกับในครอบครัวยากจนที่เด็กเข้าถึงแหล่งความรู้ได้อย่างจำกัดมาก ๆ คุณโรวีนา แฟร์ นักวิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายการศึกษาและทักษะ จากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) กล่าวว่า เด็กจากครอบครัวที่ยากจนมีแนวโน้มที่จะเข้าถึงคลังหนังสือได้ยากกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีถึง 4 เท่า โดยปกติแล้วระหว่างปิดเทอมใหญ่ในช่วงเวลาปกติที่ยังไม่มีโรคระบาด เด็กจากครอบครัวยากจนที่มีทรัพยากรการเรียนรู้อย่างจำกัดมากจะสูญเสียเวลาในการเรียนรู้ถึงหนึ่งเดือนอยู่แล้ว ในขณะที่เด็กที่ครอบครัวมีฐานะดีสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ตลอดช่วงปิดเทอม ดังนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดนี้จึงทำให้ช่องว่างระหว่างโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กที่ครอบครัวยากจนกับเด็กที่ครอบครัวร่ำรวยขยายกว้างออกไปอีก แต่แล้วปัญหาก็ไม่ได้จบอยู่ที่การมีหรือไม่มีเครื่องมือในการเรียนรู้อย่างอินเตอร์เน็ตและหนังสือเท่านั้น กล่าวคือการเติบโตทางการศึกษาของเด็กนักเรียนไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่อาหารสมอง หากแต่ขึ้นอยู่กับอาหารกายและอาหารใจด้วย

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้ครอบครัวรายได้น้อยสูญเสียรายได้มากมาย
ในขณะที่ค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนกลับเพิ่มมากขึ้น

จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ผู้ปกครองในหลายครอบครัวถูกปรับลดเงินเดือนหรือถูกปลดออกจากงาน ทำให้สูญเสียรายได้มากมายในขณะที่ค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนกลับเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองสมาชิกในครอบครัวอาจต้องเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะเด็กๆ จากครอบครัวที่ขาดแคลนที่ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาอาหารมื้อเที่ยงที่ถูกหลักโภชนาการที่โรงเรียนจัดหาให้ เมื่อกำหนดการเปิดเทอมถูกเลื่อนออกไปจึงส่งผลให้เด็กๆ กลุ่มนี้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งอาจนำไปสู่การเติบโตทางร่างกายและทางสติปัญญาไม่สมวัยได้ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษาโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลให้เด็กนักเรียนยากจนพิเศษกว่า 753,997 คนทั่วประเทศขาดแคลนอาหารจากการปิดเทอมอย่างยาวนาน ซึ่งเด็กวัยเรียนเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญา การที่เด็กได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่จึงสำคัญมาก หากทานไม่ครบหรือไม่พอก็อาจมีอาการสมองฝ่อ ผอมแคระแกร็น และมีผลการเรียนและพัฒนาการทางสติปัญญาและร่างกายด้อยกว่าเด็กปกติได้

นอกจากนี้การเรียนทางไกลและออนไลน์ที่บ้านเหมาะกับเด็กที่มีแรงกระตุ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่บ้านมีสิ่งที่สามารถเบี่ยงเบนความสนใจได้มากกว่าสภาพแวดล้อมของห้องเรียน หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายก็เหมือนการที่คนบางคนออกกำลังกายที่ไหนก็ได้ รู้สึกเหมือนๆ กัน แต่คนบางคนก็ต้องเข้ายิม ไปวิ่งที่สวนสาธารณะ ต้องมีเพื่อนออกกำลังกายไปพร้อมๆ กัน ถึงจะมีแรงฮึด โดยเฉลี่ยแล้วเด็กต้องการสภาพแวดล้อมที่มีการกระตุ้นอย่างที่โรงเรียนเป็น ไม่ว่าจะเป็นการที่ได้นั่งเรียนในห้องเรียนโดยมีคุณครูคอยเรียกให้ตอบคำถามเพื่อเช็คความเข้าใจแถมป้องกันไม่ให้นักเรียนเผลอหลับ การที่เพื่อนร่วมชั้นถามเกี่ยวกับบทเรียนหรือชวนทำการบ้านไปพร้อมๆ กัน การที่เห็นเพื่อนอ่านหนังสือเตรียมสอบในช่วงพักกลางวัน หรือการได้รับคำชมและรางวัลเล็กๆ น้อยๆ จากคุณครูเมื่อทำคะแนนได้สูงสุด ต่างก็ทำให้เกิดแรงกดดันทางสังคม (social pressure) ซึ่งทำให้เด็กนักเรียนตั้งใจเรียนได้ดีขึ้นและส่งเสริมศักยภาพของเด็กให้พัฒนาไปถึงขีดสุด (reach their full potential) ได้ง่ายขึ้น โดยกลุ่มนักเรียนที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกลุ่มเด็กเล็ก (อายุ 0-6 ปี) เนื่องจากเป็นวัยที่พัฒนาการเกิดจากการได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอและพื้นฐานสำคัญที่ใช้ในการเรียนรู้คือประสาทสัมผัสทั้งห้า ดังนั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดจึงอาจเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของเด็กกลุ่มนี้ด้วยการถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในบ้านหรือถ้าออกนอกบ้านก็มีสถานที่เป็นตัวเลือกจำกัดมากๆ เช่น การทำความรู้จักสัตว์ชนิดต่างๆ ผ่านการรับชมช่อง Animal Planet ก็ไม่ดีเท่าการได้ไปเจอตัวจริงที่สวนสัตว์ เป็นต้น

อีกทั้งที่ผ่านมาการเข้าสังคมช่วยให้เด็กมีพัฒนาการในด้านการจัดการอารมณ์ การเข้าใจความรู้สึกของคนรอบข้าง การใช้ภาษา รวมถึงรู้จักมารยาททางสังคมและเรียนรู้กฎเกณฑ์ต่างๆ ทำให้มีการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม แต่ปัจจุบันการเข้าสังคมเป็นเรื่องที่กระทำได้ยากกว่าเดิมเมื่อเกิดโรคระบาด ฉะนั้นผู้ปกครองจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะทางสังคมของลูกผ่านการสื่อสารและการทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้ปกครองทุกคนที่จะพร้อมและมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกในยามว่างเพราะในสถานการณ์แบบนี้ผู้ปกครองบางคนก็ต้องทำงานหนักกว่าเดิมหรือเครียดกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้เด็กๆ อาจรู้สึกวิตกกังวลไปด้วย จากผลการสำรวจขององค์การยูนิเซฟและสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย พบว่า เด็กและเยาวชนมีความกังวลและรับรู้ถึงความเครียดและความกังวลของพ่อแม่ต่อสถานะทางการเงินในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยช่วงอายุ 20-24 ปี มีความกังวลมากที่สุดถึงร้อยละ 87 รองลงมา คือ ช่วงอายุ 15-19 ปี พบร้อยละ 82 ส่วนในกลุ่มช่วงอายุ 11-14 ปี พบร้อยละ 69 และกลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี ซึ่งพบว่า มีความกังวลถึงร้อยละ 76 สำหรับกลุ่มเด็กเล็ก การที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในการใช้ชีวิตเป็นเรื่องที่น่าสับสนและน่ากังวล ทั้งการที่กิจวัตรประจำวันในการไปโรงเรียนหรือการเล่นกับเพื่อนในยามว่างหายไป ทั้งการเพิ่มความเข้มงวดเรื่องความสะอาดภายในบ้านอย่างการต้องล้างมือและเช็ดสิ่งของด้วยแอลกอฮอล์บ่อยๆ โดยที่เด็กบางคนอาจไม่เข้าใจถึงเหตุผลจริงๆ ว่า ทำไมพ่อแม่ต้องเข้มงวดเรื่องความสะอาดขนาดนั้นหรือทำไมถึงไปโรงเรียนไม่ได้นานหลายเดือน ดังนั้น ผู้ปกครองอาจให้พื้นที่กับเด็กเพื่อบอกความรู้สึกและเล่าว่าเขารู้อะไรมากแค่ไหนเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาด แล้วผู้ปกครองจึงแก้ไขข้อมูลในส่วนที่ไม่เป็นความจริงแล้วอธิบายถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเท่าที่จำเป็น ให้ความรู้ที่ถูกต้อง และให้ความมั่นใจเด็กๆ ว่า เขาสามารถคุยกับผู้ปกครองได้ทุกเมื่อที่ต้องการ อีกสิ่งที่สำคัญคือผู้ปกครองต้องดูแลตัวเองด้วยเช่นกัน ตอบสนองต่อข่าวอย่างมีสติและวิจารณญาณเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งต่อความกลัวและความตื่นตระหนกให้เด็กๆ สร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยผ่านการเปิดใจคุยกันและทำกิจกรรมร่วมกัน นับเป็นการปรับตัวสู่วิถีชีวิตใหม่เมื่อต้องใช้เวลาอยู่ร่วมกันในครอบครัวไปพร้อมๆ กัน

ถึงแม้ว่าการเรียนการสอนแบบออนไลน์และทางไกลดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับระบบการศึกษาไทยในสถานการณ์โรคระบาดนี้ แต่การเรียนการสอนทั้งสองแบบดังกล่าวไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบใช้สูตรสำเร็จสูตรเดียวกับทุกปัญหา (one size fits all) อย่างโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ที่ห่างไกลไม่ได้มีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์ที่จะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งนักเรียนจำนวนมากไม่ได้มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็นในการเรียนที่บ้าน ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการควรพิจารณาถึงความหลากหลายของโรงเรียนและต้นทุนทางการศึกษาของนักเรียนแล้วปรับวิธีการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกัน รวมถึงบูรณาการข้อมูลพื้นฐานครัวเรือนของนักเรียนในการจัดกลุ่มความสามารถในการเข้าถึงการเรียนออนไลน์และทางไกลเพื่อวางแผนต่อไป โดยอาจมีการยืดหยุ่นด้วยการจัดชุดคุณครู (ไม่ว่าจะเป็นคุณครูในพื้นที่นั้นๆ หรืออาสาสมัคร) เพื่อเปิดชั้นเรียนเล็กๆ ในบางพื้นที่ที่ไม่มีประวัติการมีผู้ติดเชื้อ และต่อจากนี้รัฐบาลควรใส่ใจกับปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสทางการศึกษามากขึ้น โรงเรียนไม่ได้เป็นแค่สถานที่เพื่อแสวงหาความรู้ แต่ยังเป็นที่พึ่งทางด้านโภชนาการของเด็กจำนวนมากอีกด้วย หลังจากปรากฏการณ์โควิด-19 ช่วยแสดงให้เห็นว่า ปัญหาทางสังคมกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นซับซ้อนและหยั่งรากลึกมากกว่าที่คิด การศึกษาที่ดีจำกัดอยู่กับเด็กนักเรียนเฉพาะกลุ่มเนื่องจากความยากจนเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ก็ทำให้เห็นถึงศักยภาพของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ องค์การมหาชน มูลนิธิ สื่อมวลชน นักวิชาการ ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ที่ช่วยกันระดมสมองและพัฒนาช่องทางการเรียนรู้มากมาย ความร่วมมือตรงนี้สามารถใช้ต่อยอดพัฒนาการเรียนการสอนและจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานให้กับเด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจนได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มที่ครอบครัวมีฐานะยากจน ผ่านการลงทุนในด้านการศึกษาเพื่อผลักดันให้เด็กกลุ่มนี้หลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้ เพราะพวกเขาจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากระดับการศึกษามีความสัมพันธ์กับเงินเดือน โดยเฉลี่ยแล้ว หากสำเร็จการศึกษาในระดับการศึกษาสูงเท่าไร เงินเดือนเริ่มต้นก็สูงเท่านั้น และแน่นอนว่า เมื่อมีเงินเดือนซึ่งเป็นรายได้สูงขึ้นก็ทำให้สามารถหาซื้อสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้นเช่นกัน การลงทุนด้านการศึกษานี้เองจะส่งผลให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปและเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://.oecdedutoday.com/during-coronavirus-crisis-children-need-books/?fbclid=IwAR3PTgT2RyMCkN7qz-_sFj2q5oDvtOoOQlCdfclS3RV6E7p41cZ0F2V-qu0
https://www.edweek.org/ew/articles/2020/03/23/how-effective-is-online-learning-what-the.html
https://www.matichon.co.th/education/news_2148365
https://www.thansettakij.com/content/normal_news/435611
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/883012

เรื่อง : ชนกนันท์ พังงา
ภาพประกอบ : https://www.pinterest.com