เมื่อตอนเป็นเด็กเราเคยมีความฝันไว้ว่าอยากจะเป็นหรืออยากจะทำอะไรกันบ้างเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ แน่นอนว่าความฝันของใครหลายๆ คน ก็คือ หมอ พยาบาล ครู ตำรวจ ทหาร ฯลฯ แต่เคยสงสัยมั้ยว่าเมื่อโตขึ้นทำไมเราถึงไม่ได้ทำตามความฝันที่เคยฝันไว้ หรือเพราะว่าเราไม่ได้ฝันที่จะทำให้เป็นจริงตั้งแต่แรก หรือความจริงแล้วเป็นเพราะว่า…ความฝันของเรานั้นเปลี่ยนไป

ถ้าย้อนไปในช่วงวัยต่างๆ ในตอนนั้นเราเคยฝันว่าอยากเป็นอะไรบ้าง? สมมติ เช่น

เมื่อตอนอายุ 10 ขวบ เคยฝันว่า…
อยากไปเป็นนักเต้น เพราะเห็นนักเต้นที่เต้นในทีวีแล้วสามารถทำให้ร่างกายของเราเริ่มขยับตามและรู้สึกว่าสนุก รู้สึกเท่มากๆ

เมื่อตอนอายุ 12 ขวบ เคยฝันว่า…
อยากเป็นหมอ เพราะถ้าทำให้ทุกคนหายจากการเจ็บป่วยได้ น่าจะทำให้ตัวเองมีความสุข

เมื่อตอนอายุ 15 ปี เคยฝันว่า…
อยากไปทำงานที่องค์การนาซ่า เพราะแค่อยากรู้ว่าที่นั่นมีมนุษย์ต่างดาวจริงมั้ย? อยากเห็นและอยากมีประสบการณ์แปลกๆ ใหม่ๆ ที่น้อยคนจะได้สัมผัส

เมื่อตอนอายุ 18 ปี เคยฝันว่า…
อยากมีร้านอาหาร เพราะอยากให้ทุกคนได้กินอาหารเหมือนกับที่เราอยากกิน

เมื่อตอนอายุ 21 ปี เคยฝันว่า…
อยากทำงานด้านการท่องเที่ยว เพราะอยากพาทุกคนออกไปเที่ยวไปใช้ชีวิตหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากงาน

จะเห็นได้ว่าความฝันของเราเปลี่ยนไปในทุก ๆ ช่วงวัย และเราก็มีความฝันอะไรหลาย ๆ อย่างได้ ความฝันอาจจะมาจากประสบการณ์ที่ได้พบเห็นและอยากพัฒนาต่อยอด ความฝันอาจจะมาจากภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ได้ดูแล้วเกิดแรงบันดาลใจ ความฝันอาจจะมาจากคนที่เราชื่นชอบและอยากเป็นแบบคนนั้นให้ได้ หรือความฝันอาจจะมาจากอิทธิพลจากคนใกล้ตัว เหล่านี้สามารถกลายเป็นความฝันของเด็กคนหนึ่งได้เช่นกัน กว่าเราจะพบคำตอบที่ไม่แน่ว่าอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ความฝันอาจเปลี่ยนไปอีกก็ได้ ตราบใดที่เรายังมีเวลาให้ฝัน

ความฝันยอดนิยมของเด็กรุ่นใหม่

ผลสำรวจจาก Adecco Children Survey ประจำปี 2564 ที่สำรวจความคิดเห็นเด็กไทยอายุ 7 – 14 ปี จำนวน 2,024 คน จากทั่วประเทศ “อาชีพที่เด็กและเยาวชนไทยอยากทำมากที่สุด” อันดับหนึ่ง คือ “หมอ” หรือ สายแพทย์ – พยาบาล เนื่องจากต้องการอยากรักษาคนและช่วยเหลือผู้อื่น อันดับต่อมา คือ อาชีพ “ครู” ส่วนอาชีพที่มาแรง คือ “YouTuber” และ “ดารา-นักร้อง” ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 3 และ 4 ตามลำดับ โดยเด็กๆ ให้เหตุผลว่าเป็นอาชีพที่ได้มอบความบันเทิงและความสุขให้ผู้อื่น อันดับที่ 5 ได้แก่อาชีพรับราชการ “ตำรวจ”

โดยเหตุที่ทำให้อาชีพด้านความบันเทิงมาแรงมากในยุคนี้ คาดว่าเป็นเพราะปัจจุบันมีการทำคลิปคอนเทนต์โปรโมท ดารา นักร้อง อยู่ใน YouTube มากขึ้น ซึ่งเป็นสื่อหลักที่เด็กเปิดรับมากที่สุด จึงทำให้เป็นอาชีพที่เด็กหลายๆ คนสนใจและอยากทำมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการสำรวจพบว่า เมื่อต้องหาความรู้นอกตำรา จะใช้วิธีอินเทอร์เน็ตเสิร์ชผ่าน Google และดู YouTube ส่วนในยามว่างก็จะใช้เทคโนโลยีในการเล่นเกม ดู YouTube เล่นโซเชียลมีเดีย ซึ่งสื่อโซเชียลที่เข้าถึงมากที่สุด ได้แก่

  • YouTube 94%
  • Facebook 80%
  • LINE 74%
  • TikTok 73%
  • Instagram 50%
  • Twitter 26%

YouTube เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งทุกปีที่มีการสำรวจ ในขณะที่ TikTok ก็เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มมาแรงที่เด็ก ๆ ชื่นชอบ โดยได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการสำรวจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาของ Adecco Children Survey

ข้อมูลจาก : https://www.altv.tv/content/altv-news/6146fc88f3a5e8670b389e56

อยากทำให้สำเร็จต้อง “ตั้งความฝัน” ให้เป็น “เป้าหมายชีวิต”

คำว่า “ความฝัน” ค่อนข้างห่างไกล เพราะยังเป็นเพียงแค่ความคิด เป็นความหวังที่ยังไม่ได้ลงมือทำ ส่วน “เป้าหมายชีวิต” คือ Life’s Goal เป็นสิ่งที่เราตั้งใจมุ่งมั่นจะทำให้สำเร็จให้ได้

จอห์น คอตเตอร์ (John Kotter) ผู้นำทางความคิด ชาวอเมริกัน กล่าวไว้ว่า ในโลกนี้มีคนอยู่ 2 ประเภทคือ คนที่ยอมรับชะตาชีวิต และ คนที่กำหนดชะตาชีวิตตัวเอง คนบางคนแค่ตื่นนอน มองชีวิตและหวังว่าจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นโดยไม่ทำอะไร แต่ในทางกลับกันคนที่ประสบความสำเร็จจะกล่าวว่า

  • ฉันจะทำให้อะไรบางอย่างเกิดขึ้น
  • ฉันจะสร้างความน่าเชื่อถือให้ตนเอง
  • ฉันจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
  • ฉันจะควบคุมในสิ่งที่ฉันสามารถควบคุมได้
  • ฉันจะกำหนดชีวิตของตนเอง
  • ฉันจะเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากตัวอย่างนี้ก็คือ เราจะเปลี่ยนความฝันให้เป็นจริงได้ ด้วยการตั้งเป้าหมายที่แบ่งเป็นขั้นตอนย่อยๆ เพื่อให้สามารถทำได้จริงนั่นเอง  ดังคำกล่าวที่ว่า…

ความลับของการเปลี่ยนแปลง
คือการค่อยๆ ก้าวไปละขั้น

– มาร์ค ทเวน (MARK TWAIN) –

เปลี่ยน “ฝัน” ให้เป็น “เป้าหมาย”

เป้าหมายที่ดีจะต้องเป็นเป้าหมายที่ SMART โดย tsithailand.org แนะนำไว้ว่า เป้าหมายที่ SMART คือ เป้าหมายที่มีองค์ประกอบต่อไปนี้

1. มีความชัดเจน (Specific)
เป้าหมายที่ดีต้องบอกให้ชัดว่า เป้าหมายของเราหน้าตาเป็นแบบไหน ไม่คลุมเครือ เช่น ถ้าเป้าหมายเราคือซื้อรถยนต์ ต้องบอกให้ได้ว่า รถยนต์คันนั้นคือรถอะไร รุ่นอะไร สีอะไร และราคาเท่าไร เพื่อให้เป้าหมายนั้นสามารถ “จับต้องได้”

2. สามารถวัดผลได้ (Measurable)
เป้าหมายที่ดีต้องตีค่าเป้าหมายของเราออกมาเป็นตัวเงิน เพราะเป้าหมายที่ดีต้องสามารถวัดผลเป็นตัวเงินหรือตัวเลขได้อย่างชัดเจน เพื่อให้รู้ว่าต้องเก็บเงินอีกแค่ไหน และยังทำให้สามารถติดตามความก้าวหน้าในการเดินตามเป้าหมาย และบอกได้ว่าอีกไกลแค่ไหนกว่าจะไปถึงเป้าหมาย

3. มีความรับผิดชอบและลงมือทำจริง (Accountable)
เป้าหมายที่ดีต้องสามารถทำให้สำเร็จได้ โดยรู้วิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมาย และมีความรับผิดชอบที่จะทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ แต่ก็ไม่ควรจะเป็น “เป้าหมายที่ธรรมดาเกินไป” เพราะเมื่อมีเป้าหมายที่ง่ายและเห็นอยู่ว่าประสบความสำเร็จได้ไม่ยากก็อาจจะไม่กระตือรือร้นที่จะเดินตามเป้าหมาย และอาจจะหยุดที่จะก้าวต่อไปเมื่อเป้าหมายธรรมดาๆ นั้นประสบความสำเร็จแล้ว

4. สมเหตุสมผลและมีโอกาสเป็นได้จริง (Realistic)
เป้าหมายที่ดีต้องเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ มีความสมเหตุสมผล สอดคล้องกับความเป็นจริงในชีวิต จริงที่ว่า คนเราจะต้อง “ฝันให้ไกล” และต้องไปให้ถึง แต่อย่าลืมประเมินศักยภาพภาพของตัวเองด้วยว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นยากเกินไปหรือไม่ มันเป็นฝันลม ๆ แล้ง ๆ หรือไม่ ทำได้จริงหรือไม่ เช่น ถ้าฝันจะซื้อบ้านราคา 10 ล้านบาท ภายในเวลา 1 ปี ทั้ง ๆ ที่รายได้อยู่ในหลักหมื่นต้น ๆ ก็คงมีโอกาสเป็นไปได้ยาก และยังเป็นการบั่นทอนกำลังใจในการเดินไปสู่เป้าหมายได้เช่นเดียวกัน

5. มีกำหนดเวลา (Time Bound)
เป้าหมายที่ดีต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะบรรลุเป้าหมาย แต่หลายคนใจร้อนอยากจะเห็นผลสำเร็จในระยะเวลาที่สั้น ๆ ทำให้เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ก็อาจจะทำให้ยังไปไม่ถึงเป้าหมายตามที่ตั้งใจ จนต้องยอมถอดใจไปก่อนจะบรรลุเป้าหมาย หรือการเร่งระยะเวลาอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตในด้านอื่น ๆ เพราะฉะนั้นอย่าใจร้อนเกินไป

เพราะฉะนั้น ถ้าเราตั้งเป้าหมายแค่ว่า “ปีนี้จะเก็บเงินไปเที่ยวญี่ปุ่นให้ได้” ก็ยังไม่ใช่เป้าหมายที่ SMART เพราะถ้าจะให้ SMART ต้องเปลี่ยนเป็น

เราจะเก็บเงินเพื่อไปเที่ยวญี่ปุ่น = Specific
จำนวน 42,000 บาท = Measurable
โดยจะเก็บเงิน = Accountable
เดือนละ 3,500 บาท = Realistic
เป็นเวลา 12 เดือน = Time Bound

ให้เป้าหมายเกิดขึ้นจริง

โจนาธาน เวลล์ นักสร้างแรงบันดาลใจ (www.AdvancedLifeSkills.com) ที่ประกาศตัวว่า เป้าหมายของเขา คือ ช่วยให้ผู้คนบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น ได้แนะนำเคล็ดลับที่จะเชื่อมโลกแห่งความฝันหรือจินตนาการกับโลกแห่งความจริง เอาไว้ 5 ข้อ ได้แก่

1. เขียนเป้าหมาย
แม้ว่าเราจะมีเป้าหมายที่ SMART แล้ว แต่ถ้าเก็บเป้าหมายอันนั้นไว้ในใจ ในที่สุดเป้าหมายนั้นก็จะอยู่ในใจแต่ไม่กลายเป็นจริง โจนาธานจึงแนะนำให้เขียนเป้าหมายลงในกระดาษ จากนั้นก็นำกระดาษเป้าหมายของเราไปแปะไว้ในที่ที่เราจะมองเห็นเป็นประจำ เช่น ประตูหน้าบ้านจะได้มองเห็นทุกครั้งที่จะก้าวเท้าออกจากบ้านหน้าตู้เย็นเพื่อให้เราเห็นทุกครั้งที่เปิดตู้เย็นหน้าคอมพิวเตอร์เพื่อให้เราได้เห็นทุกครั้งที่ทำงาน

2. แบ่งเป้าหมายออกเป็นส่วนเล็ก ๆ
โจนาธานบอกว่า ถ้าไม่รู้ว่าจะแบ่งเป้าหมายยิ่งใหญ่ของเราออกมาเป็นส่วนเล็ก ๆ ได้อย่างไร ให้คิดถึงการสร้างบ้านสักหลัง ซึ่งจะประกอบด้วยหลาย ๆ ส่วน ตั้งแต่ต้นเสา คาน กำแพง หลังคา ผนัง และอื่น ๆ อีกหลายส่วน ซึ่งต้องวางแผนว่าจะสร้างส่วนไหนก่อน และแต่ละส่วนจะใช้เวลากี่วันถึงจะเรียบร้อย จากนั้นเมื่อประกอบทุกส่วนเข้าด้วยกันแล้ว เราก็จะได้บ้านหลังงามอย่างที่ตั้งใจ ส่วนประกอบของเป้าหมายเราก็เช่นกัน ต้องแบ่งเป้าหมายออกเป็นหลายๆ ขั้น อาจจะแบ่งเป็นจำนวนเงิน หรือแบ่งตามระยะเวลาก็ได้ เช่น เป้าหมายไปเที่ยวญี่ปุ่นของเรา ก็แบ่งเป็นส่วนเล็ก ๆ ลงมาแล้ว นั่นคือ เป้าหมายการออมเดือนละ 3,500 บาท แต่หากจะแบ่งให้เล็กลงกว่านี้อีกก็ไม่ผิด

3. ทำ Action Plan
เมื่อมีเป้าหมายย่อยๆ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายหลักแล้ว ก็ถึงเวลาจัดทำ Action Plan เพื่อจะได้บอกตัวเองได้ว่าเป้าหมายไหนที่ลงมือได้ทันที และเป้าหมายไหนที่จะเป็นลำดับถัดไป โดยเราอาจจะจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายจากระยะเวลาที่ตั้งใจจะไปให้ถึงเป้าหมาย บวกกับความสำคัญของเป้าหมาย โดยสามารถแบ่งเป้าหมายตามระยะเวลาได้เป็น 3 ระยะ

ระยะสั้น เป็นเป้าหมายที่ตั้งจะทำให้ได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี เช่น ต้องเก็บเงินไว้สำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉิน หรือต้องการไปเที่ยวต่างประเทศในอีก 6 เดือนข้างหน้า
ระยะกลาง ให้ระยะเวลาที่จะต้องบรรลุเป้าหมายไว้ประมาณ 1-5 ปี และมักเป็นเป้าหมายเพื่อให้ตัวเองและครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย เช่น ต้องการซื้อบ้านใหม่ในอีก 3 ปีข้างหน้า
ระยะยาว มีระยะเวลาตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ซึ่งจะเป็นเป้าหมายเพื่อให้ตัวเองและครอบครัวมีความมั่งคั่งและมั่นคงในอนาคต เช่น ต้องการมีเงินไว้ใช้ในชีวิตหลังเกษียณในอีก 20 ปีข้างหน้า

4.เริ่มเดินหน้าตามแผน
เวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นเดินหน้าตามเป้าหมาย คือ ณ เวลานี้

5.เดินหน้าต่อไป
ขั้นตอนสุดท้ายเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เพราะการบรรลุเป้าหมายไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างสม่ำเสมอ และหลายคนก็ทำให้เป้าหมายกลับกลายไปเป็นความฝันอีกครั้ง ก็เพราะไม่เดินหน้าตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะมาจากหลายสาเหตุ หนึ่งในหลายๆ สาเหตุนั่นคือ “หมดใจ”

ขอบคุณข้อมูลบางส่วน :
https://www.posttoday.com/finance-stock/money/298089
https://www.altv.tv/content/altv-news/6146fc88f3a5e8670b389e56

ภาพประกอบ :
https://www.pinterest.com/