วสันต์ คำภิระวงศ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นเมื่อ 24 ปีก่อน วันที่ตัดสินใจสมัครทุนการศึกษาของมูลนิธิยุวพัฒน์ เพื่อเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของตนเองและครอบครัว ครูแนะแนวของเขาเห็นศักยภาพและแนะนำให้ทำพอร์ตฟอลิโอสมัครทุน เพราะรู้ว่าครอบครัวของเขามีข้อจำกัดด้านการเงิน แม้ว่าวสันต์จะเป็นนักกีฬาที่มีผลงานโดดเด่นและผลการเรียนดี แต่หากไม่มีทุนสนับสนุน การเดินทางไปสู่เป้าหมายอาจเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อม

“ครูแนะนำให้ผมทำพอร์ตโฟลิโอเพื่อขอทุนการศึกษาจากมูลนิธิยุวพัฒน์ตอนเรียนมัธยม เพราะครอบครัวค่อนข้างลำบาก โชคดีที่มีผลงานด้านกีฬาและผลการเรียนค่อนข้างดี”

เมื่อได้รับทุนการศึกษา วสันต์ใช้เงินทุนอย่างระมัดระวัง เพราะตระหนักดีว่านี่คือโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาและครอบครัว เงินทุนถูกใช้ไปกับอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็น และบางส่วนนำไปช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวในยามจำเป็น

 “ช่วงที่ต้องใช้เงินเยอะคือเวลาขึ้นชั้นเรียนหรือย้ายโรงเรียน ทุนนี้ไม่ได้เป็นเพียงตัวช่วยให้เรียนจบ แต่เป็นสะพานที่พาไปสู่โอกาสใหม่ ๆ

เมื่อถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ต้องเลือกเส้นทางการศึกษา วสันต์เผชิญกับความท้าทาย แม้ในใจอยากเรียน “สายอาชีพ” แต่ด้วยข้อจำกัดทางการเงิน และการต้องย้ายไปเรียนในเมืองซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงทั้งค่าเดินทางและค่าหอพัก ทำให้เขาต้องเลือกเรียน “สายสามัญ” ที่โรงเรียนประจำอำเภอซึ่งอยู่ใกล้บ้านมากกว่า

“มุมมองตอนนั้นค่อนข้างจำกัด ผมเห็นว่าสายอาชีพเป็นทางเลือกที่ดี จบมาทำงานได้เลย แต่ด้วยข้อจำกัดเลยต้องเรียนสายสามัญ ซึ่งจริงๆ ก็เรียนได้ดีอยู่แล้ว และสามารถต่อยอดไปทางวิศวกรรมได้เช่นกัน”

เขาเลือกเรียนต่อสายวิศวกรรมเพราะเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมในช่วงนั้น และเป็นสิ่งที่ชื่นชอบ จนสามารถต่อยอดไปสู่สายวิศวกรรมในระดับมหาวิทยาลัย การตัดสินใจนี้นำพาเขาไปสู่เส้นทางอาชีพที่มั่นคงในปัจจุบัน และสุดท้ายกลายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการของบริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเขาทำงานมาตั้งแต่ปี 2013

ปัจจุบันในฐานะผู้บริหารที่ดูแลทั้งพนักงานที่จบการศึกษาจากสายสามัญและสายอาชีพ วสันต์มีมุมมองที่ลึกซึ้งต่อคุณค่าของการศึกษาสายอาชีพ เขาพบว่า บุคลากรจากสายอาชีพมีความได้เปรียบในการปฏิบัติงาน พวกเขามีทักษะเฉพาะด้าน ฝีมือดี และสามารถเริ่มทำงานได้ทันทีหลังเรียนจบ แตกต่างจากสายสามัญที่อาจต้องใช้เวลาปรับตัวกับงานจริง

“คนที่มาจากสายอาชีพจะเก่งด้านการปฏิบัติ ทำงานได้เร็ว มีฝีมือดี มีทักษะที่แข็งแกร่ง พวกเขายังสามารถต่อยอดความรู้ได้ เช่น รับงานพิเศษนอกเวลาเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เพราะมีทักษะติดตัวและได้เปรียบจากการฝึกปฏิบัติมาก่อน เมื่อทำงานไปสักระยะ ยังสามารถต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการได้ด้วย

วสันต์ยังเล่าประสบการณ์ว่าระหว่างที่เรียนวิศวกรรม เขาต้องอาศัยความช่วยเหลือจากเพื่อนที่จบสายอาชีพในด้านทักษะปฏิบัติ ในขณะที่เขาแลกเปลี่ยนด้วยการช่วยสอนวิชาทฤษฎีให้กับเพื่อน นี่แสดงให้เห็นถึงความเกื้อกูลและการเติมเต็มซึ่งกันและกันระหว่างผู้ที่จบการศึกษาทั้งสองสาย

จากประสบการณ์ วสันต์มองเห็นความชัดเจนในเส้นทางการเติบโตในองค์กรระหว่างบุคลากรที่จบสายอาชีพและสายสามัญ เพราะในภาคอุตสาหกรรม บุคลากรจากทั้งสองสายสามารถเติบโตไปด้วยกันได้ มีเส้นทางการเติบโตคู่ขนานกัน สายสามัญอาจเติบโตไปเป็นผู้จัดการ วิศวกร หรือสถาปนิก ในขณะที่สายอาชีพสามารถเป็นหัวหน้าช่าง หัวหน้าฝ่ายผลิต หรือแม้กระทั่งเปิดธุรกิจของตัวเอง

“ในองค์กรที่ผมทำงานอยู่ มีการแบ่งสายการเติบโตคู่ขนานกันระหว่างสายอาชีพและสายสามัญ ด้วยทักษะหน้างานที่ต่างกัน ความเชี่ยวชาญและความถนัดที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองสายสามารถเติบโตไปพร้อมกันได้”

นี่คือมุมมองที่สำคัญ การศึกษาสายอาชีพไม่ใช่ทางเลือกรอง แต่เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่มีคุณค่าและนำไปสู่ความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน

ประสบการณ์ของวสันต์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ทุนการศึกษาสายอาชีพไม่ใช่แค่การช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดโอกาส แต่คือการให้เครื่องมือที่ช่วยสร้างอนาคต ผู้ที่ได้รับทุนสามารถพัฒนาตัวเอง มีอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และในอนาคตก็สามารถเป็นผู้ให้ที่ช่วยเหลือรุ่นน้องต่อไปได้

สำหรับใครที่กำลังลังเลว่าจะเลือกเรียนสายไหน วสันต์มีคำแนะนำที่เต็มไปด้วยกำลังใจ

“ลองถามตัวเองว่าอยากเป็นอะไร และอยากออกแบบชีวิตของตัวเองอย่างไร เพราะไม่ว่าจะเลือกสายการเรียนใด ทั้งสายอาชีพหรือสายสามัญ ต่างก็สามารถพาเราไปสู่ความสำเร็จได้ ถ้ามุ่งมั่นและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง”

วสันต์คือหนึ่งในคนที่ได้รับโอกาสจากทุนการศึกษา และสามารถใช้โอกาสนั้นสร้างเส้นทางชีวิตที่มั่นคง วันนี้เขาไม่เพียงเป็นผู้นำองค์กร แต่เข้าใจคุณค่าของการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพ และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่กำลังมองหาทางเลือกในการเรียนและการทำงานได้เป็นอย่างดี