อมรเทพเป็นเด็กหนุ่มจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน พ่อแม่ประกอบอาชีพรับจ้าง มีรายได้ไม่มั่นคง แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับความฝันในฐานะพี่คนโตของน้องสามคน อมรเทพตั้งใจเรียนพร้อมกับตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา
“ผมเห็นความสำคัญของการเรียนค่อนข้างมาก ไม่งั้นคงไม่ดิ้นรนขนาดนี้ ถึงจะขยันแค่ไหน รายได้ที่มีคงไม่พอส่งเสียตัวเองเรียน”
ช่วงเรียนชั้น ม.3 อมรเทพมีความฝันในการเรียนต่อ แต่ด้วยข้อจำกัดทางการเงินของครอบครัว โอกาสนั้นดูเลือนลาง จนกระทั่งอาจารย์แนะนำโครงการทุนการศึกษาของ “มูลนิธิยุวพัฒน์” เขาได้เขียนเรียงความเล่าเรื่องราวชีวิตประจำวันที่ต้องทำงานพิเศษหลังเลิกเรียนและวันหยุด ทั้งล้างผัก แบกผัก และรับจ้างเสิร์ฟอาหารตามงานเลี้ยงโต๊ะจีน นั่นคือก้าวแรกของการเลือกเรียนต่อสายอาชีพ
“ผมเขียนเรียงความไปโดยไม่ได้คิดว่าจะได้ แล้วก็ได้รับทุนอันดับ 3 ของจังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีหลายโรงเรียนที่ส่งนักเรียนขอทุน ตอนนั้นพอรู้ว่าได้ทุน รู้สึกดีใจมาก เพราะจะได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายและแบ่งเบาภาระพ่อแม่”
ทุนการศึกษาที่ได้รับทำให้อมรเทพสามารถเรียนต่อตั้งแต่ ม.3 จนถึงระดับ ปวส. โดยได้เลือกเรียน “สายอาชีพ” ในสาขาช่างยนต์ เพราะรู้ว่าสายสามัญอาจพาไปไกลกว่านี้แต่จะใช้เวลานานกว่าและไม่ตอบโจทย์ชีวิตจริงของเขาในตอนนั้น
“ผมคิดว่าสายอาชีพตอบโจทย์มากกว่า เพราะเป็นการเรียนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพโดยตรง จบมาสามารถทำงานได้เลย อย่างผมเรียนช่างยนต์ ก็ได้รู้ทฤษฎี รู้หลักการ รู้ว่าอุปกรณ์แต่ละชิ้นในเครื่องยนต์ทำหน้าที่อะไร เวลาจบมาอย่างน้อยก็รู้ได้ว่าตรงไหนเสีย ต้องแก้ไขอย่างไร”
จุดเริ่มต้นของความหลงใหลในเรื่องยานยนต์ของอมรเทพมาจากความทรงจำวัยเด็ก จากเด็กที่เคยซ่อมจักรยานเล่นกับเพื่อนเพื่อปั่นแข่งกัน เขาจึงมีความฝันว่าถึงการเปิดร้านซ่อมยานยนต์
ระหว่างเรียน อมรเทพไม่ได้แค่นั่งฟังในห้องเรียน เขายังหาประสบการณ์เพิ่มเติมด้วยการไปทำงานพิเศษกับร้านซ่อมรถหลังเลิกเรียน ตั้งแต่ช่วยเปลี่ยนยาง ถ่ายน้ำมันเครื่อง ไปจนถึงรื้อและประกอบเครื่องยนต์
“ผมไปขอทำงานตอนเย็นหลังเลิกเรียน เป็นการเก็บประสบการณ์ไปด้วยระหว่างเรียน เช่น ช่วยเปลี่ยนยาง ถ่ายน้ำมันเครื่อง ถอดประกอบเครื่องยนต์”
ผลการเรียนของเขาก็ยอดเยี่ยม ได้เกรดเฉลี่ย 3.7 – 3.8 สะท้อนให้เห็นว่าการเรียนในสิ่งที่รักทำให้การเรียนสนุกและไม่รู้สึกเหนื่อย
การฝึกงานเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญ อมรเทพได้ฝึกงานที่ศูนย์บริการรถยนต์อีซูซุทั้งในช่วงเรียน ปวช. และ ปวส. จากงานเล็ก ๆ อย่างเปลี่ยนผ้าเบรก เปลี่ยนกรองอากาศ สู่การใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ตรวจสอบเครื่องยนต์จริง
เขายอมรับว่าทักษะจากการฝึกงาน ทำให้เขาไม่กลัวของจริงเพราะได้เจอทั้งปัญหาหน้างานจริง ลูกค้าจริง และแรงกดดันจริง แต่ทุกอย่างล้วนทำให้เติบโต
“ตอน ปวช. ทำงานพื้นฐานอย่างถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนผ้าเบรค แต่พอถึง ปวส. ได้ทำงานที่เข้มข้นขึ้น เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ ใช้เครื่องมือตรวจจับปัญหาเครื่องยนต์”
หลังจบการศึกษา อมรเทพได้ทำงานเป็นช่างซ่อมรถในบริษัทแห่งแรกนาน 6 ปี ก่อนที่จะถูกเลิกจ้างในช่วงโควิด-19 ระลอกแรก เขาปรับตัวด้วยการเป็นพนักงานส่งอาหารเดลิเวอร์รี่ ก่อนจะได้งานใหม่ที่บริษัท ฟลอยด์ จำกัด มหาชน ซึ่งทำงานมาแล้ว 3 ปี
นอกจากการทำงานประจำ เขายังหารายได้เสริมจากการเป็นพนักงานส่งอาหารเดลิเวอร์รี่ และช่วยเพื่อนทำงานที่ร้านติดตั้งเบรคในช่วงเย็น เพราะสำหรับเขา ทักษะคือ “ทุนชีวิต” และสายอาชีพคือคำตอบที่จับต้องได้จริง
“ทักษะจากการเรียนมาทั้งหมด ผมได้นำมาใช้จริงๆ ในการทำงาน และวันนี้ผมก็พิสูจน์แล้วว่ามันเวิร์ก”
แม้จะผ่านมาเป็นสิบปี อมรเทพยังจำความรู้สึกตอนที่ได้รับทุนได้ดี เพราะไม่ใช่แค่ “เงินเรียน” แต่คือ “การได้รับโอกาส” เขารู้สึกซาบซึ้งและยังคงติดตามข่าวสารของมูลนิธิอยู่เสมอ ทุกวันนี้ยังเปิดอ่านข้อความไลน์จากมูลนิธิที่ส่งมาทุกครั้ง
“ต้องขอบคุณทุนการศึกษา เพราะถ้าไม่มีทุนจากมูลนิธิฯ ผมก็ไปต่อไม่ได้”
สำหรับคนที่กำลังตัดสินใจเลือกเส้นทางการศึกษา อมรเทพแนะนำว่า สายอาชีพตอบโจทย์สำหรับตลาดแรงงานในทุกวันนี้ และย้ำว่าในมุมมองของเขา การเรียนสายอาชีพไม่ใช่ทางลัด แต่เป็นทางตรงที่ทำให้เข้าใจชีวิตเร็ว ได้ทำงานจริง เจอคนจริง ปัญหาจริง และสร้างรายได้ได้จริง