ตั้งแต่เด็ก เปิ้ลเป็นนักเรียนทุนมาโดยตลอด ย้อนไปเมื่อกว่า 22 ปีก่อน ด้วยความขยันและตั้งใจเรียน เมื่อถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากประถมสู่มัธยม ครูของเธอเห็นถึงศักยภาพและความจำเป็น จึงช่วยดำเนินเรื่องขอทุนจากมูลนิธิยุวพัฒน์ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตเธอ
“ตอนนั้นเงินทุนที่ได้รับค่อนข้างเยอะสำหรับเด็กคนหนึ่ง ทุนนี้เป็นทุนต่อเนื่องตั้งแต่ ม.1 ถึง ม.6 ทำให้ไม่ต้องไปกู้เรียน”
ความพิเศษของทุนการศึกษาที่เปิ้ลได้รับไม่ได้อยู่แค่เพียงเงินสนับสนุนที่ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการเรียนและชีวิตประจำวัน แต่ยังรวมถึงโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมพบปะกับนักเรียนทุนคนอื่นๆ ประจำทุกปี
“กิจกรรมเหล่านี้เปิดโลกให้เด็กคนหนึ่งได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง เพราะนักเรียนทุนแต่ละคนมีโอกาสและพัฒนาการที่ต่างกันไป ได้เห็นว่ามีคนที่เรียนสายอาชีพก็ได้รับทุนเช่นกัน”
แม้ว่าเปิ้ลจะเรียนสายสามัญตามความคาดหวังของครอบครัว โดยเธอยอมรับว่าสมัยก่อน มุมมองของครอบครัวมักผลักดันให้เลือกเรียนสายสามัญ ด้วยความเชื่อที่ว่าจะนำไปสู่อาชีพที่มั่นคงกว่า แต่เธอได้เห็นคุณค่าของ “สายอาชีพ” ผ่านเพื่อนนักเรียนทุนที่เลือกเส้นทางนี้ จึงทำให้เธอเข้าใจว่าการเรียนสายอาชีพช่วยให้เข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วขึ้น และทุนการศึกษามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการฝึกประสบการณ์และการเรียนรู้ทักษะเฉพาะทาง
ปัจจุบัน เปิ้ลมีอาชีพมั่นคง ตำแหน่งงานเติบโตตามโครงสร้างองค์กร มองย้อนกลับไปด้วยความภาคภูมิใจว่า ทุนการศึกษาที่ได้รับไม่ได้ช่วยให้เธอเรียนจบเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยให้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง และสามารถดูแลครอบครัวได้
นอกจากนี้ เธอยังมีเครือข่ายเพื่อนนักเรียนทุนที่เติบโตไปในเส้นทางต่าง ๆ ที่ยังคงติดต่อกันอยู่เสมอ
“การได้รับทุนไม่ได้ช่วยแค่ให้เรียนจบ แต่ยังช่วยให้มีอาชีพ มีชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การที่ทางมูลนิธิยังส่งข่าวสาร ข้อมูลของผู้สนับสนุน จากองค์กรหรือบริษัทต่างๆ สิ่งนี้ทำให้เรามีโอกาสที่จะไปสมัครงาน ได้รู้จักอะไรเพิ่มมากขึ้น”
ความประทับใจและความซาบซึ้งในโอกาสที่ได้รับ ทำให้เปิ้ลตั้งใจกลับมาเป็นผู้ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กที่ขาดโอกาสตามกำลังของเธอ
“ทุนการศึกษาเป็นแรงผลักดันมากๆ สำหรับเด็กคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสแล้ว จึงอยากส่งต่อโอกาสนั้น เพราะการเป็นนักเรียนทุนสร้างความภูมิใจและแรงบันดาลใจให้กลับมาช่วยเหลือคนอื่นบ้าง”
ข้อคิดสำหรับคนที่ยังลังเลในการเลือกเส้นทางการเรียน ระหว่าง “สายสามัญ” และ “สายอาชีพ” เปิ้ลแนะนำว่า ไม่ว่าทางไหนก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ ขอเพียงเลือกเส้นทางที่เหมาะกับตนเอง หากสภาพแวดล้อมและบริบทส่งเสริมสายอาชีพ ก็ควรเปิดใจลอง เพราะไม่ใช่แค่การเรียนให้จบ แต่คือการสร้างอาชีพและอนาคตที่มั่นคง
ในมุมมองของเปิ้ล เธอคิดว่าบางครั้งความฝันอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามเส้นทางที่เดิน ยกตัวอย่างเปิ้ลเองก็เคยอยากเป็นเภสัชกร แต่เมื่อคะแนนไม่ถึง เธอจึงเลือกเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์อาหารแทน และสุดท้ายก็พบว่านี่คือเส้นทางที่เหมาะสมกับตนเอง
“ยอมรับว่าเป็นหนึ่งคนที่ไม่มีความฝันที่ชัดเจนว่าอยากเป็นอะไร แต่สิ่งสำคัญคือต้องดูบริบทของเรา สิ่งแวดล้อมที่อยู่จะสามารถพาไปได้ถึงตรงไหน โดยไม่เดือดร้อนที่บ้านหรือมีปัญหาระหว่างทาง สิ่งสำคัญคืออย่ากดดันตัวเองเกินความสามารถจนทำให้เกิดแรงกดดัน จนทำให้การเรียนหยุดชะงัก”
เธอเน้นย้ำว่าไม่มีเส้นทางไหนที่ดีกว่ากัน ไม่ว่าจะสายสามัญหรือสายอาชีพ ขอเพียงมีความรับผิดชอบและวินัยในการทำงาน พร้อมปิดท้ายด้วยประโยคที่สะท้อนถึงปรัชญาชีวิตของเธอ
“ถ้าฝันชัดเจน ก็ลองได้เลย แต่ไม่ต้องบีบคั้นตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องวิ่งตามคนอื่น แต่ให้เดินไปบนเส้นทางของเราเอง”
เรื่องราวของเปิ้ลสะท้อนให้เห็นว่าทุนการศึกษาไม่เพียงแต่เป็นการช่วยเหลือทางการเงินชั่วคราว แต่คือการให้เครื่องมือที่จะสร้างอนาคตอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนสายสามัญหรือสายอาชีพ การสนับสนุนทุนการศึกษาคือการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าที่สุด การให้โอกาสแก่เด็กที่มีความพยายามแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่เพียงแต่เปลี่ยนชีวิตของพวกเขา แต่ยังสร้างผลกระทบต่อเนื่องไปยังครอบครัวและสังคมในวงกว้าง