30 ปีก่อน มูลนิธิยุวพัฒน์ได้เริ่มต้นช่วยเหลือเด็กและเยาวชนขาดโอกาส จากงานสนับสนุนทุนการศึกษา ด้วยความเชื่อว่า การศึกษาคือรากฐานของการพัฒนา และเด็กไทยทุกคนควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ปัจจุบันมูลนิธิยุวพัฒน์ได้ขยายบทบาทการเป็นตัวกลางเชื่อมต่อความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและภาคส่วนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสในมิติอื่นๆ เพิ่มขึ้น ได้แก่ พัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย ดูแลภาวะโภชนาการ พัฒนาเครื่องมือการเรียนการสอนในโรงเรียน เสริมสร้างทักษะชีวิต รวมถึงการสร้างคนดีเพื่อเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศ  

เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี มูลนิธิยุวพัฒน์ เชิญชวนภาคีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการทำงาน และแนวทางความร่วมมือที่จะช่วยเหลือเด็กขาดโอกาส โดยมีภาคีร่วมจัดงาน คือ โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบบูรณาการโดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง (ICAP)  โครงการฟู้ด ฟอร์ กู๊ด, Learn Education  ห้องเรียนดิจิทัลวิทย์ – คณิต, a-chieve การพัฒนาครูแนะแนวรุ่นใหม่และเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กไทยออกแบบชีวิตตนเองได้, Winner English ห้องเรียนดิจิทัลวิชาภาษาอังกฤษ, Teach for Thailand  ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง, โครงการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม และ โครงการร้านปันกัน

เป้าหมายสูงสุดของมูลนิธิยุวพัฒน์ คือ การสร้างความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ลดความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กขาดโอกาสได้เรียนหนังสือ ได้รับการดูแลรอบด้าน มูลนิธิยุวพัฒน์จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อความร่วมมือจากภาคี พัฒนาเครื่องมือต่างๆ ที่มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ตามความถนัด

คุณวิเชียร พงศธร
ประธานกรรมการมูลนิธิยุวพัฒน์

ความร่วมมือของภาคเอกชน
เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาส

อาฟเตอร์ ยู เริ่มต้นจากแคมเปญ Limited Education จำหน่ายขนมปังเนยสด แต่สะกดผิดเป็น “ขนมปังเนยโสด” สร้างความตระหนักปัญหาของเด็กไทยที่อ่านเขียนไม่ได้ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก และมีแคมเปญต่อเนื่อง เป็นการทำงานช่วยเหลือสังคมที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ และทีมงานก็ร่วมพัฒนาโปรเจกต์กับมูลนิธิยุวพัฒน์เป็นการทำงานแบบร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพราะหากเราสามารถพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ภาคเอกชนก็จะได้คนที่มีคุณภาพ ช่วยทำให้ธุรกิจเจริญเติบโตและก้าวหน้าไปอย่างยั่งยืน

คุณแม่ทัพ ต. สุวรรณ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน)

เราร่วมเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญกับ FOOD FOR GOOD ขับเคลื่อนงานเพื่อโภชนาการเด็กไทย โดยตั้งต้นจากการทำความเข้าใจปัญหาและพัฒนาแคมเปญ โดยใช้ความถนัดขององค์กร มาพัฒนานวัตกรรม สร้างแอพพลิเคชั่นติดตามภาวะโภชนาการเด็ก และแคมเปญการระดมทุนผ่านบัตรเครดิต สร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มลูกค้าของกรุงศรีคอนซูมเมอร์  ซึ่งสิ่งสำคัญคือ การได้แบ่งปันองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กรเพื่อสร้างสังคมให้ดีขึ้น และตรงกับแนวคิดองค์กรในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูแลด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาล (ESG)

คุณสุจารี ตามครองชัย
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและเทคโนโลยี บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด

เราให้ความสนใจกับกิจกรรมกับปันกัน เพราะเห็นว่าทางปันกันมีกระบวนการทำงานที่เข้มแข็ง ทำให้เราสร้างความร่วมมือได้อย่างรวดเร็ว และเป้าหมายการระดมทุนของปันกันก็ตรงกับ AssetWise ที่ให้ความสำคัญกับด้านการศึกษา นอกจากนี้การให้พื้นที่ตั้งกล่องปันกัน ก็เป็นการสร้างความสุขให้กับลูกบ้าน พนักงาน ที่ได้ร่วมแบ่งปันสิ่งของ และยังเป็นการช่วยด้านสิ่งแวดล้อม ในการลดปริมาณขยะจากสิ่งของสภาพดีที่ตนไม่ได้ใช้แล้ว จึงเป็นโมเดลที่สมบูรณ์ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธุรกิจ

คุณวุฒิ วิพันธ์พงษ์
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารความยั่งยืนทางธุรกิจและสิ่งแวดล้อม บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน)

ความร่วมมือจากภาครัฐ
พร้อมเชื่อมต่อการทำงานกับทุกภาคส่วน

ภายในงาน ยังมีภาครัฐที่มาร่วมสะท้อนมุมมองของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและเห็นตรงกันว่าต้องสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม โดยสภาการศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

คุณสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา มองว่า ภาครัฐให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษามาโดยตลอด มีโครงการเพื่อสนับสนุนเด็กมากมาย เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครอบครัวยากจน 2,000 บาทในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา  โครงการเรียนสายอาชีวศึกษาเพื่อให้เด็กได้ทำงาน มีอาชีพ และมีรายได้ระหว่างเรียน โครงการเด็ก 1 คน 1 ชุมชนดูแล ให้คนที่มีศักยภาพในชุมชน มีความพร้อมที่จะพัฒนาการศึกษาต่อไปในอนาคต และอีกมากมาย แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็กขาดโอกาสที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การสร้างความร่วมมือให้ภาคส่วนอื่นเข้ามาช่วยเหลือจึงมีความสำคัญ

คุณพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ สพฐ. เล่าถึงบทบาทของ สพฐ. ว่าเด็กทั่วประเทศอยู่ในความดูแลของ สพฐ. จำนวน 6 ล้านคน 30,000 โรงเรียน ขณะที่เด็กไทยเข้าไม่ถึงการศึกษา และตกหล่นราว 70,000 คน การแก้ปัญหาการศึกษาจึงจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่มีความพร้อมและสนับสนุนการทำงาน เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไปด้วยกัน

จากวันที่ได้รับโอกาสในวันนั้น…
เป็นฉัน… ในวันนี้

แขกคนสำคัญในงานครบรอบ 30 ปี มูลนิธิยุวพัฒน์อีกกลุ่มหนึ่ง คือตัวแทนผู้ที่ได้รับโอกาส “อดีตนักเรียนทุนยุวพัฒน์” … จากวันแรกที่ได้รับ “โอกาส” สานต่อความฝันและเปลี่ยนแปลงชีวิต จนมาถึงวันนี้กับความตั้งใจในการส่งต่อ “โอกาส” ให้กับน้องๆ รุ่นต่อไป  และคำขอบคุณที่พวกเขาอยากสื่อไปถึง “คุณโอกาส” ทุกท่าน

รู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้เป็นนักเรียนทุนรุ่นแรกในครอบครัวยุวพัฒน์ อยากบอกว่าการศึกษามีความสำคัญมากๆ กับเยาวชนไทยทุกคน มีส่วนในการกำหนดอาชีพของเด็กๆ ในอนาคต และพร้อมในการเป็นพลเมืองที่ดีมีความรู้คู่คุณธรรม ขอขอบคุณผู้มีอุปการะคุณทุกท่านที่ให้โอกาสเด็กคนหนึ่งในวันนั้น และได้โอกาสมาเล่าเรื่องดีๆ ในวันนี้ค่ะ

จันจีรา โสะประจิน อดีตนักเรียนทุนยุวพัฒน์ รุ่นที่ 1 จ.สตูล
ปัจจุบัน นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

 

ในวันนั้นหนูเรียนอยู่ ป.6 ไม่มีโอกาสเรียนต่อในระดับมัธยม แต่โอกาสจากมูลนิธิยุวพัฒน์และผู้ใหญ่ใจดีทำให้หนูได้เรียนต่อจนจบ ม.6 หนูอยากเป็นคุณครูเพราะอยากส่งมอบโอกาสให้คนอื่นๆ เหมือนวันนั้นที่หนูเคยได้รับจากมูลนิธิยุวพัฒน์ ขอสัญญาว่าหนูจะเป็นคุณครูและสร้างโอกาสให้เด็กๆ ต่อไปค่ะ

เกศรา กล้าหาญ อดีตนักเรียนทุนยุวพัฒน์ จ.ลพบุรี
ปัจจุบัน นักศึกษา สาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 3

เส้นทางของหนูไม่ได้เรียบหรูและสุขสบายเหมือนคนอื่นๆ มีคุณย่าเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้หนูตั้งเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน มีคุณครู และพี่ๆ มูลนิธิยุวพัฒน์ ชี้แนะแนวทางในการแก้ปัญหา และเป็นกำลังใจสำคัญของหนูมาตลอดค่ะ แม้วันนี้หนูจะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่สัญญาว่าจะทำหน้าที่ของครูที่ดีในอนาคตเพื่อตอบแทนมูลนิธิยุวพัฒน์ให้ได้ค่ะ

บัวชมพู พวงสิน  อดีตนักเรียนทุนยุวพัฒน์ จ.ชลบุรี
ปัจจุบัน นักศึกษา สาขาคณิตศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ ชั้นปีที่ 4

พ่อแม่ปู่ย่าตาทวดพวกเรามีอาชีพทำนา รายได้ที่หามาได้ไม่เพียงพอที่จะส่งลูกเรียน พอได้รับทุนทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องตั้งใจเรียนนะ จะได้มีโอกาสเรียนต่อสูงขึ้น ตอนนี้เราทำงานแล้ว ก็อยากตอบแทนคืนให้กับสังคมบ้าง เพราะเราเองก็ได้รับโอกาสจากมูลนิธิฯ เลยเริ่มต้นด้วยการบริจาครายเดือนกับมูลนิธิยุวพัฒน์ จนถึงตอนนี้ก็เกือบจะ 8 ปีแล้วค่ะ อยากเชิญชวนทุกๆ ท่านมาร่วมด้วยช่วยมูลนิธิยุวพัฒน์ของเราต่อๆ ไปค่ะ

อรปวีย์ สีทอง อดีตนักเรียนทุนยุวพัฒน์ จ.อำนาจเจริญ
ปัจจุบัน วิศวกรอาวุโส  บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT

ขอขอบพระคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกๆ ท่าน องค์กรทุกๆ องค์กรที่ได้มอบโอกาสให้กับพวกเราได้ทำตามความฝันของตัวเอง และในวันนี้ความฝันของพวกเราเป็นจริงแล้ว หลายๆ คนกลับมาเป็นผู้ให้ มอบทุนการศึกษาให้กับรุ่นน้อง  เป็นอาสาสมัครให้กับมูลนิธิฯ เพราะหวังว่าน้องๆ จะได้มีโอกาสเดินตามความฝันเหมือนกับตัวเอง ทั้งหมดเกิดจากทุกๆ ท่านได้มอบสิ่งที่มีค่ามากๆ ให้กับพวกเรา นั่นก็คือ โอกาสทางการศึกษา ครับ

อดิศักดิ์ สุดสาว อดีตนักเรียนทุนยุวพัฒน์ จ.เลย
ปัจจุบัน หัวหน้างานกราฟิก บริษัทเอกชน

“เพราะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาขนาดใหญ่ จำเป็นต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสให้เติบโตไเป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาสังคมและประเทศต่อไป”

– 30 ปี มูลนิธิยุวพัฒน์ –