ถ้าจะพูดถึงคำว่า “ความสุข” เรานึกถึงอะไรบ้าง มีอะไรบ้างที่จะทำให้เรามีความสุขได้ บางคนอาจจะตอบว่า ความสุข คือ การได้เกรด 4 ทุกวิชา การได้รับในสิ่งที่ปรารถนา การได้ไปเที่ยว การได้พักผ่อน หรือการเก็บออมเงินให้ได้เยอะๆ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ ย่อมสร้าง “ความสุข” ให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเราลองเปลี่ยน “ความสุขจากการเป็นผู้ได้รับ” มาเป็น “ความสุขจากการเป็นผู้ให้” เราจะมีความสุขได้หรือไม่

“ความสุขจากการเป็นผู้ให้” นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะเป็นความสุขจากการเสียสละเพื่อส่วนรวม ซึ่งน่าสนใจที่ว่าประเด็นง่ายๆ นี้ คนไทยก็ให้ความสำคัญและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการเป็นผู้ให้ที่เชื่อมโยงไปสู่การมีความสุข จนนำมาสู่ผลงานวิจัยของต่างประเทศซึ่งตีพิมพ์แพร่หลายในวารสาร Science พบว่า การให้ในรูปแบบของ “เวลา” เช่น การทำงานอาสาสมัครและงานการกุศลต่างๆ จะส่งผลบวกต่อระดับความสุขมากกว่าการให้ในรูปแบบของทรัพย์สินเงินทอง นั่นหมายความว่า การให้ “เวลา” เพื่อทำประโยชน์ต่อส่วนรวมสามารถสร้างความสุขให้กับผู้นั้นได้มากกว่าการมอบเงินทองของมีค่า เพราะฉะนั้นคงไม่จำเป็นต้องรอให้โตขึ้นแล้วค่อยเป็นผู้ให้ วัยรุ่นยุคใหม่ก็สามารถเป็นผู้ให้ได้ตั้งแต่ตอนนี้ เริ่มต้นจากการให้สิ่งเล็กๆ ง่ายๆ ให้กับสังคมใกล้ๆ ตัว เช่น ที่บ้าน ที่โรงเรียน เพื่อนบ้านข้างๆ หรือให้เวลาในการทำประโยชน์เพื่อชุมชนที่เราอยู่

“การให้” สำคัญต่อมนุษย์อย่างไร

นอกจากความสุข ความอิ่มเอมใจแล้ว การรู้จักเป็นผู้ให้ต่อส่วนรวมสามารถช่วยพัฒนาตัวเราให้มีความคิดในด้านบวกและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้

เพราะการให้…ทำให้เรารู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและมองเห็นคุณค่าของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

เพราะการให้…สามารถสร้างความสามัคคีให้เกิดในสังคม นำมาสู่ความอบอุ่นใจ ความมั่นคง และความสุขของคนในสังคมนั้นๆ

เพราะการให้…ทำให้เรามองเห็นและยกย่องในคุณค่าของตัวเราเอง

เพราะการให้…ทำให้เราไม่นิ่งดูดายกับความเดือดร้อน

หากสังคมของเราเต็มไปด้วยผู้ที่รู้จัก “ให้” สังคมของเราจะน่าอยู่แค่ไหน ทุกคนคงจะมีความสุขมากขึ้น เพราะไม่ต้องรอให้มีเงินถึงจะมีความสุข ไม่ต้องรอให้มีเงินเพื่อจับจ่ายให้ได้มาในสิ่งที่ปรารถนา เราทุกคนสามารถพบความสุขได้ง่ายๆ ในทุกๆ วันจากการนึกถึงเพื่อนมนุษย์และทำประโยชเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการมีจิตสาธารณะ
“สังคมจะน่าอยู่…เพียงแค่ทุกคนลงมือทำเพื่อหวังให้ผู้อื่นมีความสุข”

เราจะอาจคุ้นเคยกันดี กับคำว่า “จิตสาธารณะ” ที่เป็นการช่วยเหลือผู้อื่นในด้านต่างๆ หรือการเป็นอาสาสมัคร แต่จริงๆ จิตสาธารณะนั้น คือ ความรู้สึกนึกคิด การตระหนักในความเป็นเจ้าของในสิ่งที่เราทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกัน การใช้สิทธิและหน้าที่ที่จะดูแล รวมทั้งการบำรุงรักษาสิ่งของซึ่งเป็นของส่วนรวมร่วมกัน เช่น การช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยไม่ทิ้งขยะลงพื้น ไม่ทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ การดูแลรักษาสาธารณสมบัติ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ในห้องเรียน ในโรงเรียน ถนนหนทางที่เราใช้สอยร่วมกัน วัดวาอาราม ในหมู่บ้าน การร่วมกันใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังที่เราสามารทำได้ โดยต้องไม่ทำให้ตนเองและคนรอบข้างเดือดร้อนและไม่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง

นอกจากนี้ การมีจิตสาธารณะยังเป็นการตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว หรือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมของเรา มองเห็นว่าแม้จะเป็นเล็กๆ แต่หากทุกคนละเลยนิ่งเฉย ปัญหาเล็กๆ นั้นสามารถสั่งสมจนกลายเป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ในที่สุด ผู้ที่มีจิตสาธารณะจะตระหนักว่า ปัญหามีผลเสียอย่างไร ส่งผลกระทบถึงใครบ้าง ทำให้เกิดความรู้สึกปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมและมีส่วนช่วยแก้ไข โดยรับรู้ถึงสิทธิควบคู่ไปกับหน้าที่รับผิดชอบของตัวเราที่มีต่อสังคม รับรู้ถึงพลังของตัวเรา ว่าเราสามารถร่วมแก้ไขปัญหาได้ และลงมือกระทำเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ โดยการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกันกับคนในสังคม เพราะการอยู่ร่วมกันจำเป็นที่จะต้องอาศัยความมีน้ำใจไมตรี การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยไม่หวังผลตอบแทน การดำรงชีวิตในสังคมที่มีการช่วยเหลือกัน ถึงแม้ว่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์นั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับเราหรือเราไม่ได้รับผลกระทบนั้นด้วย แต่เราเต็มใจที่จะแบ่งปัน ให้การช่วยเหลือ เอื้ออาทรกัน นั่นก็แสดงให้เห็นถึงความมีจิตสาธารณะแล้ว

จะเห็นได้ว่าการเป็นผู้มีจิตสาธารณะนั้น เป็นสิ่งที่ต้องฝึกปฏิบัติและควรหมั่นทำอยู่เสมอ เพื่อให้เราตระหนักเห็นความสำคัญของการเป็น “ผู้ให้” เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม นอกจากสละเวลาแล้ว การแบ่งปันสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เรามีอยู่ให้กับคนรอบข้าง การตระหนักถึงปัญหาที่เรากำลังเผชิญว่าเรามีส่วนในการต้องช่วยกันแก้ไข เมื่อมองเห็นปัญหาแล้วต้องไม่นิ่งเฉย แต่ต้องเชื่อว่า เราสามารถร่วมแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยไม่จำเป็นให้เราต้องแก้ไขปัญหานั้นเพียงลำพัง แต่เราสามารถคิดหาแนวทาง ว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยให้ปัญหานั้นหมดไปหรือบรรเทาเบาบางลง ตามกำลังและความสามารถที่เรามี

หากทุกคนต่างขาดความมีจิตสาธารณะ…

การขาดความมีจิตสาธารณะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชุมชนหรือสังคมเท่านั้น แต่การขาดความมีจิตสาธารณะสามารถส่งผลเสียในระดับโลกได้เลยทีเดียว

หากคนในสังคมขาดความมีจิตสาธารณะ ส่งผลให้

ชุมชนอ่อนแอ  ขาดการพัฒนาเห็นปัญหาของตนเองเป็นที่ตั้ง ละเลยปัญหาของส่วนรวม ซึ่งนอกจากสังคมของตนเองั้นจะไม่มีการพัฒนาแล้วยังส่งผลให้สภาพสังคมเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ

อาชญากรรมในชุมชนอยู่ในระดับสูง  เพราะทุกคนละเลยความเดือดร้อนของผู้อื่่นเดือดร้อนของผู้อื่น มุ่งหวังการเอาชนะกันและกัน “คนอื่นจะเหนือกว่าฉันไม่ได้”

ขาดศูนย์รวมจิตใจ ขาดผู้นำที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ขาดคนอาสาในการพัฒนา เพราะกลัวเสียทรัพย์สินเงินทอง กลัวเสียเวลาความเป็นส่วนตัวหรือกลัวเป็นที่ครหาจากบุคคลอื่น

หากคนในชาติขาดความมีจิตสาธารณะ ส่งผลให้…

เกิดวิกฤตการณ์ภายในประเทศบ่อยครั้งและยากที่จะแก้ไข เกิดการเบียดเบียนทำลายทรัพยากรและสมบัติที่เป็นของส่วนรวม

ประเทศชาติอยู่ในสภาพล้าหลัง เนื่องจากขาดพลังของคนในสังคม ไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนา

เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก แก่งแย่งแข่งขัน เห็นแก่ประโยชน์กลุ่มของตนและพวกพ้อง เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน

หากคนในโลกนี้ขาดความมีจิตสาธารณะ โลกนี้จะ…

เกิดการสะสมอาวุธระหว่างประเทศเพราะขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน กลัวประเทศอื่นจะโจมตี จึงต้องมีอาวุธที่รุนแรงมีอานุภาพในการทำลายสูงไว้ในครอบครอง เพื่อข่มขู่ประเทศอื่นและเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น มักมีแนวโน้มในการใช้ความของแสนยานุภาพทางการสงครามในการตัดสินปัญหา

เกิดการกลั่นแกล้ง แก่งแย่ง หรือครอบงำทางการค้าระหว่างประเทศ พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดการได้เปรียบทางการค้า ทำให้ประเทศด้อยกว่าขาดโอกาสในการพัฒนาประเทศของตนเอง

เกิดความรังเกียจเหยียดหยามคนต่างเชื้อชาติ ต่างเผ่าพันธุ์ หรือต่างถิ่น มองชนชาติอื่นๆ เผ่าพันธุ์อื่นๆ ว่ามีความเจริญหรือมีศักดิ์ศรีด้อยกว่าเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ของตนเอง ดูถูกหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อชาติอื่น

คงจะเห็นแล้วว่าการขาดความมีจิตสาธารณะนั้นส่งผลกระทบต่อการอยู่ร่วมกันมากแค่ไหน หากทุกคนไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ไม่รับผิดชอบต่อสังคม การอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ในประเทศ และในโลก ย่อมมีแต่ความขัดแย้ง ขาดความสงบสุข และเรา…ผู้ซึ่งต้องอาศัยอยู่ในสังคมนี้จะมีความสุขอย่างไร หากสังคมปราศจากความมีน้ำใจให้แก่กันและกัน

ในปัจจุบันนี้มีเยาวชนจำนวนมากที่หันมาทำงานอาสาสมัครทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ทำให้เชื่อได้ว่า พลังเยาวชนคนตัวเล็กๆ นี้ เป็นพลังสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสังคมแห่งการเป็น “ผู้ให้” สิ่งที่เยาวชนเหล่านั้นได้ลงมือทำไม่ได้เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เงินในการลงทุน แต่เป็นการลงแรง ลงเวลา ลงความสามารถเท่าที่เขามี ตัวอย่างของ “ผู้ให้” วัยจิ๋ว เขามีจิตสาธารณะอย่างไรบ้าง

“เมื่อช่วงปี 2559 – 2560 นักเรียนจากโรงเรียนวินิตศึกษาในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดลพบุรี พากันมาทำหน้าที่อาสาสมัครช่วยเหลือประชาชนที่มารอกราบสักการะพระบรมศพ ทั้งแจกอาหาร เครื่องดื่ม ยาดม คัดแยกขยะ และช่วยเป็นไกด์แนะนำชาวต่างชาติ ช่วยเข็นรถให้ผู้สูงอายุ

ทุกคนบอกว่าดีใจที่ได้มาช่วยงานจิตอาสา เพราะได้เห็นถึงพลังสามัคคีของพี่น้องคนไทย” http://www.ch7.com

“กลุ่มนักเรียนได้เข้าช่วยเหลือและทำการปฐมพยบาลคนแก่ที่เป็นลมที่เป็นลม โดยช่วยพัดให้ เด็กนักเรียนกลุ่มนี้ คือ นักเรียนจากโรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย ภายหลังที่คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ มีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็น ชื่นชมการกระทำของเด็กกลุ่มนี้ และเป็นภาพที่น่ามองเมื่อเกิดขึ้นในสังคมไทย http://deep.tnews.co.th

“หนูทำความสะอาดห้องเรียนเป็นประจำ เช่น เก็บขยะ กวาดห้อง ลบกระดาน เทขยะ ไม่ใช่เวรประจำหนูก็ทำค่ะ”

“ไม่เกียจคร้าน ช่วยแบ่งเบางานแม่ ตั้งใจเรียน”

สำหรับโครงการจิตอาสาของพวกเรา คือการทำความสะอาด ณ วัดทุ่งโพธิ์ จนวัดสะอาดเอี่ยม และทำให้เรามีความสุขมากที่ได้ทำความดีเช่นนี้ เราให้คำมั่นไว้ว่า เราจะรักษาความดีนี้ไว้” http://www.palangpandin.com

ได้เห็นถึงพลังของคนตัวเล็กๆ แล้วใช่หรือไม่ กิจกรรมง่ายๆ แต่เชื่อได้ว่าทั้งผู้ให้และผู้รับคงมีความสุขไม่ต่างกัน

การเป็น “ผู้ให้” นั้น ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานะทางเศรษฐกิจ เยาวชนรุ่นใหม่และทุกๆ คน ทุกเพศ ทุกวัย สามารถฝึกตนเองให้เป็น “ผู้ให้” ได้ เพื่อสร้างสังคมของเราให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น แม้ว่าการเป็น “ผู้ให้” จะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ กลับมา อย่าลืมว่าสิ่งที่เราจะได้รับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ “ความสุขจากการให้”เป็นความสุขที่ได้เห็นผู้อื่นมีรอยยิ้ม เป็นความสุขที่เราจะได้เห็นและได้อยู่ในสังคมที่ดี

เริ่มต้นการฝึกตนเองให้เป็น “ผู้ให้” กันก่อน เช่น ลองอาสาช่วยงานคุณครู ดูแลทำความสะอาดเครื่องใช้ต่างๆ ที่บ้าน ที่โรงเรียน ในชุมชนที่ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกันให้มีสภาพที่ดีอยู่เสมอ ไม่นำปัญหาหรือสิ่งที่ไม่เหมาะสม แบ่งปันขนม เครื่องเขียน ให้เพื่อนร่วมชั้นเรียน  มีน้ำใจสละเวลาช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ที่เรามีกำลังและสามารถพอที่จะทำได้ เพียงเท่านี้ความสุข ความอิ่มเอมใจจะเกิดขึ้นกับตัวเราในทุกๆ วัน โดยที่ไม่ต้องรอให้เรามีเงินมากพอที่จะช่วยเหลือผู้อื่น เราคงไม่สามารถรับรู้ถึงความสุขจากการเป็น “ผู้ให้” ได้ หากวันนี้เรายังคงเป็น “ผู้รับ” อยู่เสมอ และหากเรายังต้องเติบโตอยู่ในสังคมนี้ เราเองที่ต้องร่วมกันลงมือทำ เพื่อให้สังคมที่เราต้องอาศัยเป็นสังคมที่น่าอยู่ต่อไป

เรียงเรียงโดย มูลนิธิยุวพัฒน์
ข้อมูลบางส่วนจาก http://taamkru.com http://www.saisawankhayanying.com
ภาพประกอบโดย MOOK CHU