“ฉันต้องเป็นผู้ใหญ่ทั้งที่ยังไม่รู้อะไรเลย” “ฉันไม่ใช่ผู้ใหญ่ ฉันแค่อายุ 30” หรือ “พันครั้งที่หวั่นไหวกว่าจะเป็นผู้ใหญ่”

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นชื่อหนังสือที่พูดถึงความเป็นผู้ใหญ่ที่มีวางขายอยู่จริง แล้วคำว่า “ผู้ใหญ่” แท้จริงแล้วคืออายุ ความรู้ หรือออะไรกันนะ?

เราอาจกำหนดความเป็นผู้ใหญ่ตามตัวเลข คือ ต้องอายุเท่านั้นเท่านี้ บางคนคิดว่าวัยผู้ใหญ่คือคนที่เริ่มทำงาน เริ่มสร้างครอบครัว บางคนคิดว่าผู้ใหญ่คือคนที่มากประสบการณ์ มีวุฒิภาวะ บางคนเชื่อว่าผู้ใหญ่คือบุคคลอิสระ คนที่สามารถตัดสินใจและดูแลรับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้ ออกจากอ้อมอกของพ่อแม่อย่างสมบูรณ์ เป็นต้น คำนิยามของความเป็นผู้ใหญ่นั้นแตกต่างกันตามความคิดและความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่ในบทความนี้จะขอพูดถึงผู้ใหญ่ในอีกแง่มุมหนึ่ง คือ ผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เกิดจากความ “แก่ตัว” แต่เป็นผู้ใหญ่ที่ “รู้ตัว”

3 รูปแบบ การรู้ตัวเอง

แบบที่หนึ่ง คือ รู้ว่าชอบและทำอะไรได้ดี
การรู้ตัวแบบนี้เป็นหนึ่งในหน้าที่ของวัยรุ่น เมื่อเรารู้จักตัวเองดีพอก็จะสามารถตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองได้อย่างเหมาะสม แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่มากนักที่รู้ว่าตัวเองชอบและทำอะไรได้ดี คนจำนวนมากก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ทั้งที่ยังลังเลหรือยังตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้

หากเรารู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของสิ่งที่ชอบทำและทำได้ดี ความฝันและความปรารถนาอันแรงกล้า หรือเสียงกระซิบซ้ำๆ จากหัวใจ ได้ลงมือทำ มีเวลาลองผิดลองถูกจนเกิดความชัดเจน จากนั้นการเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ซึ่งเป็นวัยที่พร้อมจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ทั้งชีวิตใหม่ นวัตกรรมใหม่ และส่งต่อคุณค่าบางอย่างที่สำคัญจากรุ่นสู่รุ่นก็จะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นและพัฒนาไปอย่างเป็นธรรมชาติ แต่หากช่วงวัยรุ่นยังไม่ได้คำตอบหรือไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้มากพอ ซึ่งหลายคนก็เป็นเช่นนั้น การเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อาจนำมาซึ่งสารพัดความทุกข์ ด้วยภาระหน้าที่ตามวัยที่มีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการงาน การเงิน การดูแลพ่อแม่ที่เริ่มแก่เฒ่า หลายคนเริ่มสร้างครอบครัวของตัวเอง ลูกเล็กที่เพิ่งเกิด ทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ค่าครองชีวิตที่สูงขึ้น ความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้ใหญ่ ที่หลายครั้งเหมือนจะให้ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ อดทน และเพิกเฉยต่อความรู้สึกตัวเอง ความบีบคั้นมากมายเหล่านี้ทำให้ชีวิตแต่ละวันผ่านไปไม่ง่ายเลย และอาจทำให้เราทำความเข้าใจตัวเองได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามก็อย่าได้ท้อถอย ในท่ามกลางความรู้สึกสับสน ไม่มั่นคง ไม่มีคำตอบ แค่เราเริ่มสังเกตและรับรู้ความจริงของตัวเราวันละเล็กวันละน้อย ไม่ว่าช้าหรือเร็วไม่สำคัญเท่ากับว่าเราได้เริ่มที่จะเรียนรู้และรับฟังเสียงเรียกของหัวใจแทนที่จะทำตามเสียงของความคิดที่ฟุ้งซ้านไปเรื่อยๆ เมื่อใดที่เรากลับมาซื่อตรงต่อตัวเอง เราจะเห็นเป้าหมายของชีวิตได้ชัดเจนขึ้น แต่… ถึงแม้ว่าจะค้นพบสิ่งที่ชอบหรือสิ่งที่ถนัดแล้ว ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำเป้าหมายให้ประสบความสำเร็จได้ด้วยความรวดเร็ว ให้เรามองหาโอกาสใหม่ๆ และทำต่อไปเรื่อยๆ จนสำเร็จ เพราะความรักในสิ่งที่ทำนั้นจะสามารถหล่อเลี้ยงชีวิตในช่วงวัยผู้ใหญ่ให้สามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ และเติบโตขึ้นได้อย่างมีคุณค่า ไม่ว่าอุปสรรคที่เข้ามาจะเล็กน้อยหรือใหญ่มากก็ตาม ล้วนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่น่าชื่นชมเสมอ

แบบที่สอง คือ รู้ตัวทำอะไร คิดอะไร รู้สึกอย่างไร
การรู้ตัวแบบที่สองนี้ คือการรู้ปัจจุบันว่าตอนนี้กำลังทำอะไร คิดอะไร หรือรู้สึกอะไร ทุกคนอาจจะคิดในใจว่าปกติใครๆ ก็ต้องรู้สิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว เป็นไปได้อย่างไรที่จะไม่รู้ แต่หากเราได้สังเกตตัวเองจริงๆ มีสักกี่ครั้งที่เรารู้ตัวว่าตอนนี้กำลังตักข้าวเข้าปาก กำลังเคี้ยว กำลังรับรู้รสชาติอาหารในแต่ละคำ ทานอาหารเข้าไปแล้วร่างกายรู้สึกอย่างไร ควรทานต่อหรือเราไม่ค่อยรู้ตัวเลยเพียงเพราะเราทานข้าวพร้อมเปิดสมาร์ตโฟน หรือทานไปคิดไป กี่ครั้งที่เราอนุญาตให้คำพูดหรือการกระทำที่ทำร้ายเราครั้งเดียวกลับมาทำให้ทุกข์ใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า กี่ครั้งที่เราคิดกลัว คิดกังวลในสิ่งที่ยังมาไม่ถึงจนไม่กล้าลงมือทำ กี่ครั้งที่เราอยู่ที่นี่จริงๆ ไม่ได้อยู่ในความคิด คิดถึงอดีตที่ผ่านมาแล้วหรือคิดไปถึงอนาคตที่ยังไม่เกิด

การที่เราสามารถอยู่กับปัจจุบันบ่อยๆ เราจะสังเกตเห็นว่าความคิดเหมือนนินจาที่โผล่ไปโผล่มามองเห็นได้ยาก ความคิดจำพวกนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจโดยไม่จำเป็น เช่น คิดตำหนิตัวเอง คิดเปรียบเทียบทำให้รู้สึกเหนือกว่าหรือด้อยกว่า คิดว่าตัวเองไม่ดีพอ คิดมุ่งหวังถึงความสมบูรณ์แบบ คิดวิตกกังวล คิดแก้แค้น คิดละโมบ คิดอยากได้ของคนอื่น หรือคิดฟุ้งซ่าน เป็นต้น ความคิดจำพวกนี้หากเราไม่รู้เท่าทันแล้ว อาจส่งผลร้ายตามมามากมาย อย่างร้ายแรงที่สุดคือการทำร้ายตัวเองและผู้อื่น ตามที่ปรากฏบนสื่อต่างๆ ที่นับวันยิ่งจะเพิ่มจำนวนและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

ผู้ใหญ่ คือผู้ที่รู้เท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ตัดสิน แต่รับรู้ “อย่างที่เป็น” ไม่ใช่ “อย่างที่ควรจะเป็น” ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือความรู้สึกใดๆ ที่เกิดขึ้นก็ตาม เช่น เมื่อโกรธก็รู้ตัว ไม่คิดตำหนิตัวเองซ้ำๆ เมื่อโกรธ เมื่อเสียใจก็รู้ตัว ไม่คิดว่าตัวเองอ่อนแอ เมื่อทำผิดพลาดก็รู้ตัว ไม่คิดว่าตัวเองโง่เขลาเบาปัญญา เพราะความคิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ ดังนั้นเมื่อโตแล้วเราทุกคนสามารถร้องไห้ได้ โกรธได้ เสียใจได้ ทำผิดพลาดได้ การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นแทนการเก็บกดหรือเพิกเฉย ให้เรียนรู้ที่จะสื่อสารอย่างเหมาะสม สิ่งนี้เป็นก้าวแรกที่จะพาให้เราผ่านพ้นช่วงเวลาของความทุกข์ไปได้ โดยไม่พลั้งเผลอลงมือทำสิ่งใดที่เป็นเหตุให้ต้องเสียใจในภายหลัง เพราะในปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยสิ่งดึงดูดความรู้ตัวไปจากเรา กระตุ้นเร้าให้เราสนใจมองออกไปข้างนอก ฟังเสียงคนอื่นมากกว่าฟังเสียงของตนเอง และข้อมูลทั้งจริงเท็จถาโถมใส่เราตลอดเวลา การรู้ตัวและรู้ปัจจุบันของตัวเราเองคือสิ่งที่สำคัญมากที่สุด

แบบที่สาม คือ รู้ตัวตนที่แท้จริง รู้สิ่งที่มีอยู่ในคนทุกคน
การรู้ตัวแบบนี้เป็นสิ่งที่อธิบายได้ยาก สิ่งนี้ไม่มีชื่อเรียก ไม่มีภาษา ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา สิ่งนี้จะค้นพบได้ผ่านความรัก ไม่ว่ารักในสิ่งที่ทำหรือรักแท้ที่มีต่อใครสักคน สิ่งนี้ค้นพบได้ผ่านการหมั่นรู้ตัวในชีวิตประจำวัน ทำให้เข้าใจว่าแท้จริงเราเป็นใคร เราและคนอื่นแม้อาจแตกต่างกันแต่ก็มีสิ่งที่เหมือนกัน และเหมือนกันมากจนกระทั่งหากเรารักตัวเองอย่างไร เราก็ต้องรักคนอื่นอย่างนั้น สิ่งนี้ทำให้ใจที่อยากได้…กลับแบ่งปัน สิ่งนี้ทำให้ใจที่กระด้าง…กลับอ่อนโยน สิ่งนี้จะทำให้สังคมของเราน่าอยู่ขึ้น

ไม่ว่าอายุเท่าไหร่หรือสถานะภายนอกจะเป็นอย่างไร หากใครสามารถรู้ตัวว่าชอบและทำอะไรได้ดี รู้ว่าตอนนี้กำลังทำอะไร คิดอะไร รู้สึกอย่างไร และสามารถอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตก็ถือได้ว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว

เขียน : พี่กุหลาบหนูสีชมพู
#อาสาเขียนบทความ