“เพราะเธอเป็นคนที่มีค่า แค่เธอเก็บเอาหัวใจคืนมา กลับมาเพื่อรักตัวเอง Hey! เธออยากจะรักใคร รักไปแต่ต้องรักตัวเอง”

เนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลง ‘รักตัวเอง’ ของวง Room39  ที่เตือนให้เราวางใจช้ำๆ จากการฝากหัวใจของเราไว้ที่คนอื่น แล้วหันกลับมารักและเห็นคุณค่าในตัวเองก่อน

การ “รักตัวเอง” หรือ “Self-Love” เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยตามสื่อต่างๆ เป็นคำที่ฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่เอาเข้าจริงกลับทำได้ยากเย็นเหลือเกิน ยิ่งในวันที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์แย่ๆ เช่น ความผิดหวัง ความล้มเหลว การถูกบูลลี่ (Bullying) ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) หรือการเก็บคำพูดจากคนอื่นมาคิดด้อยค่าตัวเองซ้ำๆ ซึ่งส่งผลให้เราขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง เสียสุขภาพจิตและบุคลิกภาพ และอาจทำให้เราเสียโอกาสหลายอย่างในชีวิตได้

ก่อนจะไปรู้จักกับการรักตัวเองที่ถูกต้อง ให้เช็กตัวเองก่อนว่า ตัวเรามีสัญญาณของการไม่รักตัวเองอยู่บ้างหรือเปล่า? เช่น กลัวการไม่เป็นที่รัก กลัวการถูกตัดสินและไม่ยอมรับจากคนรอบข้าง กล่าวโทษตัวเองอยู่เสมอว่าตัวเองดีไม่พอหรือไม่มีคุณค่า รู้สึกหดหู่มากจนถึงขั้นอยากทำร้ายตัวเอง เป็นต้น หรือหากยังไม่แน่ใจ สามารถทำแบบทดสอบจิตวิทยาออนไลน์ที่ถูกออกแบบโดยนักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดของสถาบันต่างๆ เพื่อประเมินการรักและเห็นคุณค่าของตนเองเบื้องต้นก่อนได้

แล้วเราจะเริ่มต้นรักตัวเองได้อย่างไร?  ในทางจิตวิทยา ‘การรักตัวเอง’ มีหัวใจสำคัญอยู่  4 อย่าง ดังนี้

1. การตระหนักรู้ในตัวเอง (Self Awareness)
คือการรับรู้ว่าตัวเราเป็นคนอย่างไร มีศักยภาพด้านไหน เรียนรู้ที่จะมองข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัดทางร่างกายและจิตใจตามความเป็นจริง สามารถที่จะเข้าใจอารมณ์และความต้องการของตัวเองได้ ซึ่งฝึกฝนได้ด้วย 3 ขั้นตอนง่ายๆ คือ

ทบทวน – เพื่อเช็กว่าในแต่ละวัน เราได้ทำอะไรที่ดีหรือไม่ดีไปบ้าง ต้องแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงตรงไหน หรือมีนิสัยที่เราควรหยุดทำ เพื่อให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น และอยากที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดีกว่าเดิม

ถาม – ถามตัวเราเอง ว่าเรากำลังรู้สึกอะไร เพราะอะไร มีความต้องการอะไร เช่น รู้สึกโกรธ เพราะวันนี้มีการโต้เถียงกัน เราต้องการให้คนอื่นรับฟังเรามากขึ้น เป็นต้น ซึ่งเราสามารถถามคนอื่นเกี่ยวกับมุมมองที่เขามีต่อเรา เพื่อช่วยให้เราเห็นในมุมที่เราไม่เคยรู้และนำไปปรับปรุงพัฒนาได้

บันทึก – การเขียนบันทึกความรู้สึกหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันทั้งดีและร้าย จะทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง รู้ทันความคิด และสามารถจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดี

การฝึกฝนนี้จะนำไปสู่ การยอมรับตนเอง ( Self Acceptance)  ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ทำให้เรากลับมามองโลกในแง่ดีได้ว่า ‘ตัวเราสามารถประสบความสำเร็จได้ ทำผิดพลาดได้ เรียนรู้ที่จะให้อภัยตัวเอง เยียวยาและให้กำลังใจตัวเองได้’ เพื่อกลับมามีความสุขและพอใจในตัวเอง แล้วจึงเริ่มแก้ไขจุดด้อยหรือพัฒนาจุดเด่นต่อไป ซึ่งเป็นหนทางนำไปสู่ความเคารพตัวเองมากขึ้น

2. การรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง ( Self – Worth)
คือการตระหนักได้ว่าตัวตน ความสามารถและความชอบในการใช้ชีวิตของเรา มีค่ามากพอที่จะคู่ควรกับความรักดีๆ คู่ควรกับความสุขในรูปแบบต่างๆ โดยไม่ใช้ปัจจัยภายนอกเป็นตัวชี้วัด เช่น เงิน ผลการเรียน คำชื่นชมและการยอมรับ ยอดไลค์หรือยอดผู้ติดตาม เป็นต้น แต่เราสามารถใช้ชีวิตอย่างที่เราต้องการได้ โดยยึดคุณค่าภายในของเราเป็นหลัก และไม่หวั่นไหวไปกับคำพูดหรือการกระทำแย่ๆ ที่มากระทบ

3. ความภาคภูมิใจในตนเอง (Self – Esteem)
ดร. โรเซนเบิร์ก ศาสตราจารย์คณะสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ กล่าวถึงลักษณะของคนที่มีความภาคภูมิใจในตนเองไว้ว่า “เป็นบุคคลที่รับรู้ความสามารถในการเรียนรู้ของตน รู้สึกพึงพอใจ และเชื่อมั่นถึงอัตลักษณ์ที่ดีและไม่ดีของตนอย่างสมบูรณ์” ซึ่งคนที่มี Self – Esteem สูง เมื่อเจอปัญหา จะพยายามเผชิญหน้า มองภาพรวมและรับมือแก้ไขด้วยทักษะที่พร้อมจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถคงทัศนคติที่ดีต่อตนเองได้

4. การดูแลตัวเอง (Self – Care)
คือการดูแลตนเองให้ครบทั้ง 6 ด้านตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรอง นั่นคือ ‘ด้านอารมณ์ ด้านสุขภาพกาย ด้านการดูแลเชิงปฏิบัติ ด้านความสัมพันธ์ ด้านสติปัญญาและด้านจิตวิญญาณ’ ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ศิลปะบำบัด ฟังเพลง ลดการเล่นโซเชียลมีเดีย ออกกำลังกาย ลงเรียนคอร์สที่สนใจเพื่อพัฒนาทักษะ รับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดี หาเวลาพูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกับคนใกล้ชิด เป็นต้น

จากงานวิจัยและการทดลอง Self – Love Therapy กับกลุ่มอาสาสมัครของนักศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยเมอร์เซอร์ ได้ยืนยันผลว่า 4 หัวใจหลักในการรักตัวเองนี้ ทำให้กลุ่มอาสาสมัครกลับมารักตัวเองมากขึ้นเมื่อได้ตระหนักรู้ผ่านการบำบัด และกว่า 96% ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว ความรักความสัมพันธ์ก็เต็มไปด้วยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจและมั่นคงขึ้นกว่าก่อนเข้าร่วมทดลอง ซึ่งเป็นผลสรุปที่ชัดเจนว่าการรักตัวเองอย่างถูกต้องคือกุญแจสำคัญที่นำพาชีวิตเราดีขึ้นทุกด้าน ดังนั้นจะเห็นว่า ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปีได้ถูกกำหนดไว้ให้เป็นวัน International Self Love Day เพื่อให้เรารักและให้ความสำคัญกับตัวเองอย่างเต็มที่ก่อนถึงวัน Valentine’s Day ในวันที่ 14 ถัดมา เพื่อเป็นนัยยะให้รู้ว่าเราต้องรักตัวเองก่อนไปรักใคร เหมือนคำกล่าวที่ว่า “How you love yourself is how you teach others to love you.” – Rupi Kaur

ที่มา : 
– ANNABELLE PSYCHOLOGY, Clinical Psychology  : ‘Self Love’
– Ness Lab, Dr. Andleeb Asghar : ‘The science of self-love: the evidence-based benefits of loving yourself’
– National Today : ‘Self-Love Day on February 13’
– HealthyPlace, Sam Woolfe : ‘The Difference Between Self-Esteem and Self-Worth’
– Department of Sociology University of Maryland : ‘ Self Esteem : What is it?’
– Plook Friends , Plook Magazine : ‘รักตัวเองให้มากขึ้นด้วย Self Care เทรนด์ใหม่ของการดูแลตัวเอง’

ผู้เขียน : นภัสวรรณ พลเชษฐ์สมบัติ
#อาสาเขียนบทความ