หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “มูลนิธิยุวพัฒน์” มาหลายสิบปีแล้ว และอาจจะเป็นหนึ่งในผู้บริจาคทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนขาดโอกาสในความดูแลของมูลนิธิฯ ด้วยก็ได้ แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ก็คือนอกจากการให้ทุนการศึกษาแล้ว มูลนิธิยุวพัฒน์ยังมีโครงการเพื่อดูแลและพัฒนาเยาวชนอีกหลายโครงการ

ถ้าถามว่ามูลนิธิยุวพัฒน์เดินทางมาแบบไหน คงต้องเท้าความไปเมื่อ ปี 2535 ยุวพัฒน์ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา จากการให้ความสำคัญของการศึกษาและปณิธานที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยให้การสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชนไทยที่ขาดโอกาส  และในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2536 ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็น “มูลนิธิยุวพัฒน์” องค์กรสาธารณกุศล ลำดับที่ 300 แรกเริ่มมีเพียงโครงการทุนการศึกษาต่อเนื่องให้เด็กๆ ได้เรียนต่อตั้งแต่มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 จนจบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 (สายสามัญ) และปวช.1 ถึง ปวช.3 (สายอาชีพ)

จากวันที่เริ่มต้นด้วยนักเรียนทุน 100 คน
สู่การขยายโอกาสที่เพิ่มมากขึ้น

 

“พี่จัน-จันจีรา โสะประจิน” อดีตนักเรียนทุนมูลนิธิยุวพัฒน์ คนที่ 50 ในจำนวน 100 คน ซึ่งถือเป็นนักเรียนทุนรุ่นแรกของมูลนิธิฯ เธอเล่าเรื่องราวเหมือนกับว่ามันเพิ่งเกิดขึ้น จำได้แม่นแม้แต่เลขรหัสนักเรียนทุนของตัวเอง เธอบอกว่ามันคือความภาคภูมิใจและตอกย้ำว่าครั้งหนึ่งได้รับโอกาสทางการศึกษาจนทำให้มีอนาคตที่ดีจนมาถึงวันนี้

สมัยนั้นพี่ตั้งใจเขียนประวัติและเรียงความมากจริงๆ จนในที่สุดก็ได้รับทุน ดีใจมาก เพราะเหมือนเป็นการจุดประกายให้เราได้ไปต่อคือได้เข้าเรียนในโรงเรียนระดับอำเภอ และพี่ก็ตั้งมั่นมาตลอดว่าจะตั้งใจเรียน เป็นคนดี ชีวิตครอบครัวจะต้องดีกว่านี้เพราะเราจะได้เรียนหนังสือสูงๆ ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ตอนนี้พี่มีอาชีพที่มั่นคง ส่งน้องๆ ได้เรียนหนังสือทุกคน ได้ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่ามันคือสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้

พี่จันพูดด้วยน้ำเสียงที่อบอุ่นเมื่อถามถึงกระบวนติดตามนักเรียนของมูลนิธิยุวพัฒน์ในสมัยที่การสื่อสารมีเพียงการเขียนจดหมายตอบโต้กันระหว่างเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ และนักเรียนทุน

“สิ่งที่สำคัญกว่าเงินทุนที่ได้ก็คือกำลังใจแบบเต็มร้อยจากพี่ๆ มูลนิธิฯ เวลาที่รู้สึกท้อแท้ เครียด โดยเฉพาะเรื่องการเรียนก็จะเขียนจดหมายไปหาพี่ๆ ที่ดูแล ซึ่งก็จะได้รับการตอบกลับมาด้วยจดหมายที่เขียนจากลายมือ ได้คำแนะนำที่ดีมาก มีเป็นประโยชน์เอาไปใช้ได้จริง”

การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับพี่จันมาก ปัจจุบันพี่จันมีอาชีพรับราชการเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยงานแห่งหนึ่ง เธอบอกว่าเมื่อได้รับโอกาสที่ดีก็ย่อมต้องการส่งต่อโอกาสให้คนอื่น โดยเฉพาะการช่วยเหลือเด็กขาดโอกาสทางการศึกษา

“ต้องยอมรับว่าสังคมเราไม่เท่าเทียมกัน ฐานะ รายได้ ไม่เท่ากัน ต่างคนต่างอาชีพ ต่างบริบท ถามว่า มีเด็กยากจนที่อยากเรียนไหม มันมีเยอะมากอยู่แล้ว ยิ่งตอนนี้มีโควิด เศรษฐกิจก็ย่ำแย่ แน่นอนว่าต้องมีเด็กๆอีกจำนวนมากเสี่ยงหลุดจากระบบ พี่ก็อยากให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเด็กเหล่านี้เพื่อเขาจะเป็นอนาคตของชาติต่อไป”

มูลนิธิยุวพัฒน์เริ่มเดินตามความตั้งใจของตัวเองทุกวัน จากวันแรกที่เริ่มต้นช่วยเหลือเด็กขาดโอกาสด้วยจำนวนนักเรียนทุนหลักร้อย ขยับขึ้นเป็นหลักพัน ปัจจุบันมีนักเรียนทุนที่อยู่ในความดูแลจำนวน 8,173 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2564) และจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา 6 หรือเทียบเท่ามากกว่า 8,000 คน

ส่งน้องเรียนต่อไปพร้อมกับการดูแลและพัฒนาเยาวชน

การให้ทุนการศึกษาเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ช่วยให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะเด็กที่ขาดโอกาสส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่เปราะบาง ขาดที่พึ่ง ดังนั้นการดูแลและการประคับประคองให้เด็กๆ ได้อยู่ในระบบจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงมีความสำคัญด้วยเช่นกัน หากแต่การดูแลนักเรียนทุนจำนวนมากให้ทั่วถึงจะทำได้อย่างไร? จึงเป็นที่มาของการเปิดโอกาสให้คนในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมดูแลเด็กๆ ผ่านการทำงานอาสาสมัครกับมูลนิธิยุวพัฒน์

“พี่เลี้ยงอาสา”
พี่ๆ อาสาที่จะคอยโทรศัพท์ติดตามและดูแลน้องๆ ผ่านสื่อออนไลน์ ในเฟซบุ๊คกลุ่มปิดของนักเรียนทุน เพื่อให้คำปรึกษา แนะแนว รับฟัง ชวนคิด ชวนคุย ทั้งในเรื่องการเรียนและชีวิตประจำวัน  ปัจจุบันกิจกรรมนี้เข้าสู่รุ่นที่ 12 แล้ว

Student Volunteer”
เดินทางมาถึงรุ่นที่ 7 ให้อาสารุ่นเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 17 – 25 ปี ใช้เวลาช่วงปิดภาคเรียนมาช่วย โทรติดตามให้ข้อมูลเรื่องทุนการศึกษา พูดคุยและเขียนตอบจดหมายนักเรียนทุน

“กิจกรรม Pen Pal Day”
เปิดรับสมัครอาสาผู้ให้กำลังใจ ตอบจดหมายน้องๆ นักเรียนทุน

จำนวนอาสาสมัครที่อาสาไม่ต่ำกว่าร้อยคนในแต่ละปีเข้ามาช่วยเหลือดูแลนักเรียนทุน ไม่ใช่แค่น้องๆ จะได้รับการดูแล หากแต่พี่ๆ อาสาก็ได้รับความรู้สึกและประสบการณ์ที่ดีกลับไปเช่นกัน

“ตั้งแต่แรกที่ได้รู้จักมูลนิธิยุวพัฒน์ ได้เห็นโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์และช่วยเหลือได้โดยตรง น่าสนใจมากๆ เป็นสิ่งที่อยากทำมาตลอด ตอนได้รับคัดเลือกไปทำ ดีใจมาก รู้สึกว่าเป็นงานที่น่าทึ่ง ที่เราได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ เช่น การให้แนวทางสำหรับน้องที่ชอบดนตรี ชอบภาษา รับฟังเค้าและให้คำปรึกษาอย่างถูกต้อง โบรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากๆ ที่เราได้ใช้เวลาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่น สนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะเป็นอนาคตของประเทศ พอได้คุยกับน้องๆ จริงจังขึ้น ยิ่งเห็นจุดเด่นของแต่ละคน อยากช่วยผลักดันเค้าในด้านการศึกษา การแก้ปัญหาและวิธีคิด ตลอดระยะเวลา 4-5 เดือนที่ได้ทำงานกับที่นี่ รู้สึกประทับใจและภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอาสายุวพัฒน์ค่ะ”

คุณพัชรฎา สุรภาพ
พี่เลี้ยงอาสา รุ่นที่ 11

ล่าสุดเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ริเริ่มโครงการ “ชุมนุมนักเรียนทุนยุวพัฒน์” ในโรงเรียนเพื่อนักเรียนทุนจะได้รู้จักกันและทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ พี่ๆ นักเรียนทุนในโรงเรียนเดียวกัน เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองต่างๆ แต่ละคนจะได้ค้นพบตนเองว่าชอบและถนัดอะไร กล้าแสดงความคิดเห็น ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

และหากมีประเด็นปัญหาที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ มูลนิธิฯ จะได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานท้องถิ่น ในพื้นที่ที่นักเรียนอาศัยอยู่และมีศักยภาพในการช่วยเหลือนักเรียนทุน เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นต้น

ในด้านของการพัฒนาการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ ได้ร่วมเป็นเครือข่ายกับภาคีการศึกษา ได้แก่ เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น, เอ็ดดูเทค อินโนเวชั่น, มูลนิธิทีชฟอร์ไทยแลนด์ และอาชีฟ ภายใต้โครงการร้อยพลังการศึกษา ทำงานเป็นทีมร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายโดยมุ่งช่วยเหลือ 3 ด้านหลักคือ ด้านการเข้าถึงการศึกษา ด้านคุณภาพการศึกษา และด้านการพัฒนาทักษะชีวิต โดยมีเครื่องมือต่างๆ ให้โรงเรียนได้เลือกใช้ตามความต้องการพัฒนานักเรียนที่ตรงกับบริบทการจัดการศึกษาของโรงเรียน อาทิ ทุนการศึกษา ห้องเรียนดิจิทัล ครูทีชฟอร์ไทยแลนด์ ครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ ปัจจุบันมีโรงเรียนในเครือข่าย 85 โรงเรียน ใน 30 จังหวัด และมีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 38,000 คน

สิ่งสำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ การปลูกจิตสำนึกที่ดีในเยาวชน โดย สถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม ภายใต้ มูลนิธิยุวพัฒน์ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนผ่านการทำโครงงานคุณธรรม ที่เด็กๆ ช่วยกันคิดและเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ในปี 2564 มีโรงเรียนในเครือข่ายโรงเรียนคุณธรรม รวม 555 โรงเรียน

การเดินทางที่ยังคงไปต่อ…
เพื่อเยาวชนขาดโอกาส

เหมือนต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านตอนนี้เกิดโครงการต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน ด้วยแนวคิดที่ต่อยอดจากการมอบทุนการศึกษา และได้เรียนรู้ว่าการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้เด็กคนหนึ่งเพื่อจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพและเป็นกำลังสำคัญของประเทศนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญจริงๆ และเพราะการแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ทุกคนมีส่วนร่วมที่จะช่วยให้การศึกษาไทยดีขึ้นได้ หลายปีที่ผ่านมา มูลนิธิยุวพัฒน์ ได้ เป็นจุดเล็กๆ ที่เชื่อมต่อคนจำนวนมากที่เชื่อในเรื่องเดียวกัน นั่นคือ “การศึกษา” ทำให้เกิดความร่วมมือจากพันธมิตรมากมาย ทั้งบุคคลทั่วไป องค์กรขนาดเล็กใหญ่ ที่ร่วมสนับสนุนงานและโครงการต่างๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือจำนวนเด็กที่ได้รับโอกาสมีเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี

เรื่องราวการเดินทางของมูลนิธิยุวพัฒน์ มีหลายเรื่องที่ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ยังคงเป็นความทรงจำที่ประทับอยู่ในใจของพวกเราทุกคน สำหรับมูลนิธิฯ แล้ว ความพิเศษระหว่างทางคือการได้เห็นชีวิตของเด็กๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากการได้รับโอกาส ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกคนในสังคมที่ช่วยส่งให้พวกเขาได้เติบโตไปพร้อมกับอนาคตที่ดีกว่าเดิม ขอขอบคุณ “คุณโอกาส” ทุกท่านที่ร่วมสนับสนุนตลอด 28 ปีที่ผ่านมา และมูลนิธิยุวพัฒน์จะก้าวสู่ปีที่ 29 ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเช่นเดิมเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนเยาวชนที่ขาดโอกาส เพราะยังมีเด็กที่ลำบากอีกจำนวนมากรอคอยโอกาสในการเริ่มต้นก้าวเล็กๆ ของพวกเขาอยู่