ในปีการศึกษา 2563 โครงการร้อยพลังการศึกษา ร่วมผลักดันโรงเรียนเครือข่ายในการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับนักเรียน จากการทำงานอย่างเข้มข้นเราได้เห็นว่าแต่ละโรงเรียนนั้นมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทักษะด้านต่างๆ โดยเฉพาะทักษะด้านอาชีพของนักเรียน เราจึงชวนโรงเรียนในเครือข่าย มหาวิทยาลัย องค์กรธุรกิจทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ทำงานอาชีพต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับ “โครงการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชนเพื่อบูรณาการการเรียนรู้สู่การพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียน” (Community Engagement) ซึ่งเป็นโครงการพิเศษจากโครงการร้อยพลังการศึกษา

การดำเนินงานโครงการ Community Engagement

เราเริ่มต้นโครงการด้วยการลงพื้นที่เก็บข้อมูลขององค์กรธุรกิจและอาชีพต่างๆ ในพื้นที่ใกล้โรงเรียน รวมไปถึงการชักชวนองค์กรที่สนใจเข้ามาร่วมมือกัน เพื่อช่วยโรงเรียนในการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับนักเรียน โดยมีองค์กรและสถานประกอบการที่ตอบรับและยินดีให้ความร่วมมือจำนวน 5 องค์กร ได้แก่ ไฉไล ออร์คิด รีสอร์ท จ.เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์, โรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.กาญจนบุรี, ธารปุญญ์เมล่อนฟาร์ม จ.กาญจนบุรี และร้านสุวิทย์การยาง จ.กาญจนบุรี ซึ่งทั้ง 5 องค์กรจะให้ความร่วมมือในการเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้เข้าไปศึกษาและได้ลงมือปฏิบัติงานเกี่ยวกับอาชีพต่างๆ ในองค์กร และสนับสนุนพนักงานมาเป็นวิทยากรให้ความรู้กับนักเรียนในโรงเรียนเพิ่มเติมอีกด้วย

3 โรงเรียนนำร่องชวนชุมชนร่วมร้อยพลังฯ

ในช่วงของการเริ่มต้นโครงการฯ มีโรงเรียนในเครือข่ายร้อยพลังการศึกษาและองค์กรในแต่ละชุมชนที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันแล้วจำนวน 3 โรงเรียน และ 5 องค์กร ดังนี้

ร่วมพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน

โรงเรียนแม่วินสามัคคี จ.เชียงใหม่ และ โรงเรียนรวมมิตรวิทยา จ.บุรีรัมย์ 2 ใน 3 โรงเรียนนำร่องที่เน้นการพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษของนักเรียน มุ่งหวังให้เด็กๆ มีทัศนคติที่ดี กล้าพูด กล้าใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น และสามารถนำไปสื่อสารในงานอาชีพของตัวเองได้ในอนาคต โดยอาศัยความร่วมมือของชุมชนและองค์กรในท้องถิ่นที่มีประสบการณ์ตรงในด้านต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับโรงเรียนในการช่วยเหลือและพัฒนานักเรียนไปด้วยกัน

1.ชุมนุม “ภาษาสู่อาชีพ” English for Hospitality ฝึกภาษาอังกฤษในการทำงานจริง

ไฉไล ออร์คิด รีสอร์ท ร่วมกับโรงเรียนแม่วินสามัคคี จ.เชียงใหม่ ในการช่วยพัฒนาภาษาอังกฤษเพื่อทักษะอาชีพให้กับนักเรียนที่อยู่ในชุมนุม “ภาษาสู่อาชีพ” ด้วยการสนับสนุนพนักงานมาเป็นวิทยากรให้กับน้องๆ นักเรียนในคาบชุมนุมตลอดทั้งปีการศึกษา เพื่อแนะนำและสอนการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษด้านอาชีพที่ใช้จริงๆ ในรีสอร์ท และช่วงปลายภาคเรียนก็ได้นำพานักเรียนในชุมนุมไปเสริมประสบการณ์ด้านอาชีพในรีสอร์ท เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติ หรือแขกที่มาเข้าใช้บริการ และแผนการพัฒนาในอนาคตอาจจะมีชาวต่างชาติเข้าไปเสริมทักษะการใช้ภาษาให้กับนักเรียนในคาบชุมนุมของโรงเรียนแม่วินสามัคคีอีกด้วย ซึ่งนักเรียนในชุมนุม “ภาษาสู่อาชีพ” จะได้รับการฝึกทักษะด้วยวิธีต่างๆ ทั้งในและนอกห้องเรียน และสามารถนำไปสู่การพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียนเองได้ในอนาคต

คุณอเล็กซานดร้า แพม เจ้าของไฉไล ออร์คิด รีสอร์ท เชื่อว่า…การช่วยเหลือจะช่วยพัฒนาสังคมและชุมชนให้ดีขึ้นได้…จึงสนใจโครงการและให้ความร่วมมือกับเราทันที เนื่องจากเธอนั้นได้ไปแนะนำและสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ ในชุมชนที่อยู่ใกล้บริเวณรีสอร์ทอยู่แล้ว จึงยินดีและเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยพัฒนานักเรียนที่อยู่ในชุมนุม “ภาษาสู่อาชีพ” และนักเรียนในชุมนุมก็จะได้ฝึกงานโดยใช้ภาษาอังกฤษในแผนกต่างๆ ของรีสอร์ท เช่น พนักงานต้อนรับ ผู้ช่วยไกด์ ผู้แนะนำแพคเกจในโรงแรม ผู้แนะนำชุมชนแม่วินให้กับนักท่องเที่ยว ฯลฯ

ถอดบทเรียนเพื่อการพัฒนาห้องชุมนุม “ภาษาสู่อาชีพ” ในภาคเรียนต่อไป

ห้องเรียนชุมนุม “ภาษาสู่อาชีพ” มีอะไร?

ชมนุม “ภาษาสู่อาชีพ” เป็นวิชาที่เรียนแล้วสนุกมากๆ ค่ะ แล้วก็ได้ความรู้ ได้ทำกิจกรรมหลายๆ อย่าง หนูชอบที่ได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษกับเพื่อนๆ ทำให้เราได้ฝึกซ้อมและจะทำให้เราพูดเก่งขึ้นและยังได้คำศัพท์ใหม่ๆ มากขึ้นด้วย เมื่อก่อนหนูเป็นคนขี้อายมาก วิชานี้ทำให้หนูกล้าแสดงออกมากขึ้น ก่อนหน้านี้หนูไม่ชอบภาษาอังกฤษเลย ตอนนี้ชอบมากๆ อยากอยู่ชุมนุมนี้จนเรียนจบเลยค่ะ และหนูก็อยากเรียนต่อด้านภาษาอังกฤษและอยากเป็นคุณครูสอนภาษาอังกฤษ เพราะหนูได้รับแรงบันดาลใจมาจากพี่สาว เพราะว่าเขาพูดกับชาวต่างชาติเก่งมาก หนูสงสัยว่า…ทำไมพี่สาวพูดเก่งจัง และเราก็อยากทำได้บ้าง พี่สาวบอกว่า…ภาษาต้องฝึกฝนเยอะๆ ค่ะ

น้องณัชชา นักเรียนชั้น ม.2/2

ชุมนุม “ภาษาสู่อาชีพ” สนุก ทำให้เราเก่งภาษาขึ้นด้วย หนูชอบกิจกรรมการฝึกพูดค่ะ เช่น การพูดทักทายเมื่อเจอชาวต่างชาติ และชอบที่คุณครูชวนสรุปการเรียนรู้ในห้องเรียนค่ะ เพราะช่วยทบทวนและทำให้เราจำได้ว่าเราเรียนอะไรไปบ้างในแต่ละคาบ ตลอด 1 ปีการศึกษาที่ได้เข้าชุมนุม หนูรู้สึกว่าตัวเองกล้าหาญมากขึ้นด้วย เช่น คุณครูให้หนูถามเป็นภาษาอังกฤษกับครูคนอื่นๆ ในโรงเรียน หนูไม่อายเลย หนูกล้าถามทันที และคุณครูก็ตอบโต้เป็นภาษาอังกฤษกลับมา ฟังรู้เรื่องบ้างนิดหน่อย ถ้าฟังไม่เข้าใจ หนูก็จะถามครูอีกรอบ และหนูอยากอยู่ชุมนุมนี้ไปเรื่อยๆ จนเรียนจบเลยค่ะ และในอนาคตหนูอยากเป็นไกด์เหมือนพี่สาว เพราะว่าพี่พูดกับนักท่องเที่ยวเก่งมากๆ เวลาที่พี่กลับมาบ้าน พี่ก็จะช่วยฝึกภาษาให้หนู ด้วยการโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษกับหนูด้วย

น้องจิตรานุช นักเรียนชั้น ม.2/2

ชุมนุม “ภาษาสู่อาชีพ” ได้เรียนแล้ว หนูชอบค่ะ เพราะทำให้กล้าพูดมากขึ้น โดยปกติหนูไม่กล้าพูดกับคนอื่นๆ เลย ตอนนี้หนูกล้าจะพูดกับเพื่อนๆ มากขึ้น คุยกับครูก็ยังมีเกร็งๆ อยู่บ้าง แต่หนูก็ชอบเข้าเรียนชุมนุม “ภาษาสู่อาชีพ” ได้เรียนแล้วสนุกกว่าคาบเรียนปกติ เพราะวิชาปกติเครียดและเนื้อหายาก เราได้เรียนและเล่นไปด้วย ชอบตอนที่มีวิทยากรภายนอกเข้ามาแนะนำและฝึกให้เราพูด ถึงจะพูดผิดก็ไม่มีใครว่าอะไร พี่เขาจะแนะนำให้เราฝึกและลองพูดไปก่อน และชอบเล่นเกมตามฐานกับพี่จ้า พี่เกนเน่อ (วิทยากรจากไฉไล ออร์คิด รีสอร์ท) และหนูก็อยากจะอยู่ในชุมนุมนี้ต่อไปจนเรียนจบเลย และอยากเรียนต่อด้านภาษาอังกฤษด้วย ชุมนุมนี้ทำให้หนูชอบภาษาอังกฤษมากขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น ทำให้อยากเข้าเรียนมากขึ้น ทำให้หนูอยากเรียนรู้เพิ่มขึ้น และในอนาคตหนูจะเป็นไกด์หรืออาจจะเป็นพนักงานต้อนรับในโรงแรมค่ะ

น้องกฤติยา นักเรียนชั้น ม.5

ในภาคเรียนต่อไป โรงเรียนแม่วินสามัคคี และ ไฉไล ออร์คิด รีสอร์ท จะมีการวางแผนกิจกรรมและแผนการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาของนักเรียนในชุมนุมให้ครอบคลุมมากขึ้น และคาดหวังให้นักเรียนทุกคนมีความมั่นใจ กล้าพูด กล้าออกเสียง ทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้ เข้าใจการออกเสียง พูดเป็นประโยคได้ ใช้ Verb ได้ ออกเสียงสูงต่ำได้ และมีนักเรียนคนอื่นๆ ในโรงเรียนสนใจและเข้าร่วมชุมนุมมากขึ้น สิ่งสำคัญนักเรียนในชุมนุมอยากเข้าเรียน มีแรงบันดาลใจในการเรียนต่อและเห็นความสำคัญของการศึกษามากยิ่งขึ้น

2.ร่วมพัฒนาหลักสูตรวิชาภาษาอังกฤษ English for Everyday Life” การเรียนรู้ทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน

มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมกับโรงเรียนรวมมิตรวิทยา จ.บุรีรัมย์ ซึ่งสาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์นั้นมีนโยบายที่จะเข้าไปช่วยเหลือชุมชนและมีกลุ่มนักศึกษาที่ทำค่ายภาษาอังกฤษอยู่แล้ว จึงสนใจในเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการ เพราะในอนาคตภาษาอังกฤษจะจำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ ซึ่งการทำงานของมหาวิทยาลัยกับโรงเรียนรวมมิตรวิทยานั้น จะเป็นการจัดค่ายและกิจกรรมเสริมความรู้ และให้คำปรึกษาด้านหลักสูตรภาษาอังกฤษกับครูประจำวิชาภาษาอังกฤษในโรงเรียน โดยการมีส่วนร่วมในครั้งนี้จะไม่เน้นการพัฒนาแค่นักเรียนเท่านั้น แต่จะช่วยพัฒนาครอบคลุมไปถึงผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบุคลากรในโรงเรียนรวมมิตรวิทยาจะสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนได้ เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กิจกรรมภาษาอังกฤษของโรงเรียนรวมมิตรวิทยา

โดยกิจกรรมในค่ายเตรียมความพร้อมในการเรียนภาษาอังกฤษนั้น เริ่มต้นกิจกรรมการละลายพฤติกรรมเพื่อให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีกับการเรียนภาษาอังกฤษ มีทั้งกิจกรรม ร้องเล่นเต้นรำและทดสอบพื้นฐานภาษาอังกฤษของนักเรียน เพื่อจะได้พัฒนาหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษให้เหมาะสมกับนักเรียน และเมื่อเด็กๆ มีทัศนคติที่ดีกับการใช้ภาษาอังกฤษแล้ว ในอนาคตโครงการร้อยพลังฯ จะนำพาองค์กร โรงแรม และธุรกิจด้านท่องเที่ยวเข้ามาช่วยเสริมการสื่อสารด้านทักษะอาชีพให้กับนักเรียนต่อไป

“ความรู้สึกของนักเรียนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายภาษาอังกฤษ”

หนูชอบเล่นเกมภาษาอังกฤษ อยากได้ความรู้ อยากรู้คำศัพท์เยอะๆ อยากพูดภาษาอังกฤษได้ เพราะเวลาได้ไปต่างประเทศเราจะได้พูดคุยได้ เวลามีชาวต่างชาติมาที่โรงเรียน หนูก็อยากจะพูดแนะนำให้เขารู้จักโรงเรียนของเราด้วยค่ะ

– น้องเบญ นักเรียนชั้น ป.5 –

เพราะทุกวันนี้ภาษาอังกฤษจำเป็นมากๆ ครับ ผมอยากพัฒนาเรื่องภาษาอังกฤษของตัวเองให้มากขึ้น อยากเรียนรู้คำศัพท์เยอะๆ อยากสื่อสารภาษาอังกฤษให้เก่ง อยากโต้ตอบภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติได้ และอยากให้วิชาภาษาอังกฤษเรียนแล้วสนุก เพราะจะทำให้เพื่อนๆ คนอื่นๆ หันมาสนใจภาษาอังกฤษมากขึ้น

– น้องรพีพัฒน์ นักเรียนชั้น ม.3 –

ถอดบทเรียนเพื่อการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในภาคเรียนต่อไป

ความรู้สึกของอาจารย์และนักศึกษา
มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ

อาจารย์พรภวิษย์ ชะนวนชัย
หัวหน้างานความร่วมมือและสารสนเทศ
สำนักงานต่างประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์

มองผลลัพธ์ของการเข้าร่วมโครงการอย่างไรและอยากเห็นอะไร?
อยากเห็นเด็กๆ และนิสิตนักศึกษา มีจิตอาสา มีความเป็นผู้ให้ และกล้าแสดงออก และอยากเห็นจังหวัดบุรีรัมย์มีโรงเรียนนำร่องโครงการดีๆ ที่ทำให้เด็กๆ ทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยฯ ได้รับการพัฒนามากขึ้น

รู้สึกอย่างไรกับโครงการฯ
โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากๆ โดยปกติทางมหาวิทยาลัยก็ให้ความช่วยเหลือกับโรงเรียนอยู่แล้ว แต่เมื่อมีโครงการอื่นๆ เข้ามาช่วยด้วย ช่วยคนในบ้านเกิดของเราเองก็มีความยินดีมากๆ และสิ่งนี้ก็เป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยในเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาเด็กๆ พัฒนาองค์กรต่างๆ เรามองว่าเป็นความร่วมมือที่ดีมากๆ และทำให้ตัวเราเองมีไฟในการเข้ามาช่วยเหลือเรื่องนี้อีกด้วย

อยากบอกอะไรกับเด็กๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษ
ภาษาอังกฤษจะมีความสำคัญมากขึ้นในการดำรงชีวิต เพราะภาษาก็เหมือนพาสปอร์ตใบหนึ่งในการเปิดโลก ภาษาจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เราไปได้ไกล ถ้าเปรียบตัวเราเป็นเครื่องยนต์ ภาษาก็เปรียบเสมือนน้ำมัน ยิ่งเติมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เราไปได้ไกลมากขึ้น ฝึกทุกวัน เก่งขึ้นทุกวัน

อยากให้น้องๆ รู้สึกว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสนุก ไม่ใช่เรื่องที่น่าอายในการใช้ภาษาอังกฤษ  ถ้าจะวัดความสำเร็จในระยะสั้น แค่น้องรู้สึกสนุกในการทำกิจกรรมและสนใจอยากจะไปหาความรู้ต่อ แต่ถ้าในระยะยาวก็อยากจะลงรายละเอียดในการสอนน้องๆ เพิ่มขึ้น

นางสาวน้ำฝน ครุฑแก้ว
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์

เราเป็นคนชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว ก็เลยสนใจโครงการนี้ การได้เข้ามาช่วยเหลือในครั้งนี้ ก็เหมือนเราได้ฝึกฝนเรื่องภาษาของตัวเองไปด้วย เพราะได้เข้ามาช่วยอาจารย์ เรื่องการทำสื่อการสอนและได้สอนน้องๆ ด้วย อยากให้น้องๆ ได้ภาษากลับไป ได้ความสุขกลับไป ถ้ามีกิจกรรมอีกก็อยากจะมาทำอีก เพราะเราก็ได้ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่นและการมีจิตอาสาด้วย

เพ็ญพิชชา เพ้งธรรม
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์

3.เริ่มต้น “ค้นหาตัวตน ค้นพบอาชีพ” ในคาบวิชาแนะแนว

โรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา, ธารปุญญ์เมล่อนฟาร์ม, ร้านสุวิทย์การยาง ร่วมกับโรงเรียนห้วยกระเจาพิทยาคม จ.กาญจนบุรี แต่ในปีการศึกษานี้ทั้ง 3 องค์กรจะยังไม่เข้ามามีส่วนร่วมกับโรงเรียน เนื่องจากทางโรงเรียนมองว่า ก่อนจะให้นักเรียนรู้จักกับการทำงานของอาชีพต่างๆ ต้องทำให้นักเรียนรู้จักวิธีค้นหาความถนัดของตัวเองให้ได้ก่อน

สำหรับเทอมการศึกษานี้ โรงเรียนห้วยกระเจาพิทยาคม ใช้คาบวิชาแนะแนวในการจัดกิจกรรม “ค้นหาตัวตน” โดยกิจกรรมจะเน้นให้นักเรียนได้รู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้นทั้งด้านความชอบ ความไม่ชอบ ความสนใจ ความไม่สนใจ ความถนัด ความไม่ถนัด ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะอาชีพที่มีอยู่ในชุมชน

เล่าเรื่องจากห้องแนะแนว

วิชาแนะแนวทำให้รู้จักเพื่อนมากขึ้น ทำให้เรารู้จักการยอมรับความแตกต่าง มีคนที่ชอบอะไรๆ ที่ไม่เหมือนกับเรา แต่ก็มาอยู่ร่วมกันได้

น้องสลาทิพย์ นักเรียนชั้น ม.1

วิชาแนะแนวทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่สำคัญในชีวิตเรามีอะไรบ้าง ทำให้เราคิดก่อนว่ากว่าจะไปถึงจุดนั้นเราต้องทำอะไรก่อน แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ เป็นลำดับขั้นตอนไปจนกว่าเราจะได้สิ่งนั้น

น้องสิริกัญญา นักเรียนชั้น ม.1

จากกิจกรรมคุณครูทำให้เห็นเป้าหมายชีวิตชัดขึ้น จากเมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าเราต้องทำอะไร  เราต้องการอะไร ต้องรู้เกี่ยวกับอะไรบ้าง พอได้มาเรียนก็ทำให้รู้มากขึ้น เช่น อยากเป็นอะไร อยากทำอะไรบ้าง รู้ความฝัน เมื่อก่อนเรายังไม่ได้คิด เมื่อได้มาเรียนความชัดเจนเรื่องที่อยากจะทำ อยากจะเป็น เพิ่มขึ้นเป็น 70% เลยค่ะ

น้องอติกานต์ นักเรียนชั้น ม.3

เรียนวิชาแนะแนว ทำให้ได้รู้ว่าเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ทำให้เราอยากใฝ่หาความรู้มากขึ้น ได้สร้างความมั่นใจให้เรา เพราะเราได้ลองคิด ลองทำ ได้ศึกษาในห้องเรียนนี้ ได้พูด ได้แสดงออกทางความคิดของเรา ทำให้เรารู้สึกมีความมั่นใจในตัวเอง

น้องบัณฑิตา นักเรียนชั้น ม.4

ชอบวิชาแนะแนว อิสระแล้วก็มีความสุข ไม่เคร่งเครียด คิดในแบบที่ตัวเราเป็นเอง ไม่ต้องเหมือนคนอื่น แบบอยากพูดอะไรก็เป็นสิทธิของเรา เพราะนี่คือความเป็นตัวเรา

น้องพรชิตา นักเรียนชั้น ม.5

วิชาแนะแนวทำให้ได้ค้นพบตัวเอง ครูให้ทำตามที่เราถนัด ถามว่าเราอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร เวลาว่างชอบทำอะไร สามารถทำเป็นอาชีพได้หรือเปล่า เรียนแล้วไม่เครียด ได้พูดอะไรที่เป็นตัวเอง ทำให้คนอื่นรู้จักตัวเรามากขึ้น ได้ทำอย่างที่เราคิด จะทำอะไรก็พูดได้ ให้เพื่อนรู้ว่าเราชอบอะไรไม่ชอบอะไร ตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง

น้องอารยาภรณ์  นักเรียนชั้น ม.5

ถอดบทเรียนเพื่อการพัฒนาวิชาแนะแนวในภาคเรียนต่อไป

หลังจากการเรียนการสอนวิชาแนะแนวจบไปแล้ว 1 ภาคเรียน ทางโครงการฯ จึงชวนผู้บริหารโรงเรียน คุณครูและนักเรียนมาถอดบทเรียนร่วมกัน ในช่วงเช้าจะเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้บริหารและคุณครูผู้สอนวิชาแนะแนวมาพูดคุยถึงความสำเร็จ ปัญหา และสิ่งที่ต้องพัฒนาวิชาแนะแนวให้ดีขึ้นในภาคเรียนต่อไป และช่วงบ่ายน้องๆ นักเรียนก็จะมาเล่น และมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคาบวิชาแนะแนว

ความคิดเห็นจากนักเรียนชั้น ม.1

นักเรียนได้สะท้อนว่า เมื่อได้เรียนวิชาแนะแนวทำให้ได้รู้จักตนเอง รู้ว่าถนัดและชอบอะไรมากขึ้น ได้ค้นหาตัวเอง รู้ว่ามีอาชีพที่หลากหลาย รวมถึงทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น มีการตั้งเป้าหมายในการเรียนต่อ มีความพยายามในเรื่องต่างๆ มากขึ้น  สิ่งเหล่านี้ เกิดจากที่คุณครูสอน พาเล่นเกม แนะนำเรื่องต่างๆ ในคาบแนะแนว และได้พูดคุยกับเพื่อนๆ

ความคิดเห็นจากนักเรียนชั้น ม.3

นักเรียนได้สะท้อนว่า ทำให้ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น บางคนแม้จะยังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร ชอบอะไรจริงๆ แต่วิชาแนะแนวเป็นวิชาที่เรียนสนุก ไม่เครียด ทำให้ค้นหาตนเองว่าชอบอะไร สนใจอะไร และได้เห็นการทำงานของอาชีพต่างๆ ที่ครูได้แนะนำและพาทำกิจกรรมในคาบเรียน จนทำให้มีความมั่นใจในสิ่งที่ชอบมากยิ่งขึ้น  และได้แสดงออกในสิ่งที่คิดได้อย่างอิสระ โดยมีครูเปิดพื้นที่ให้ได้พูดคุยและคอยแนะนำทำให้ไม่อยากโดดเรียนวิชาแนะแนว

ความคิดเห็นจากนักเรียนชั้น ม.4

นักเรียนได้สะท้อนว่า ถึงแม้ว่านักเรียนอาจจะไม่รู้ว่าตนเองชอบอะไร พอมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ทำให้รู้จักตนเองมากขึ้น ทราบในข้อดี หรือข้อเสียของอาชีพที่สนใจ ทำให้นักเรียนมีความมั่นใจมากขึ้น ได้เรียนรู้ความชอบที่แท้จริงของตนเอง ชวนให้มองเห็นคุณค่าตนเองในการใช้ชีวิตและอนาคตในวันข้างหน้า ต้องเรียนแบบไหนถึงจะเรียนจบและได้ทำงานที่ตนเองถนัดได้

ความคิดเห็นจากนักเรียนชั้น ม.5

นักเรียนได้สะท้อนว่า วิชาแนะแนวทำให้รู้จักตนเองมากขึ้น ได้ตั้งคำถามกับตัวเอง ควรทำสิ่งที่ชอบด้วยตนเอง รวมถึงทำให้รู้แนวทางในการเรียน การเลือกอาชีพในอนาคต สนใจอนาคตของตนเองมากขึ้น การที่ได้รู้จักอาชีพที่ชอบมีความเข้าใจไปอีกขั้นหนึ่ง ทำให้มีความตั้งใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น และได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตเพื่อน ทำให้เข้าใจผู้อื่นและคนรอบ ๆ ตัวมากขึ้นอีกด้วย

และในเทอมการศึกษาหน้า จะให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาเกี่ยวกับอาชีพที่หลากหลายผ่านการสืบค้นข้อมูลออนไลน์ การทำแบบทดสอบบุคลิกภาพ/ความชอบ/ความถนัด การฟังจากบอกเล่าของวิทยากรต้นแบบอาชีพ การสังเกตการทำงานในแต่ละอาชีพ และการได้ทดลองทำ เพื่อให้นักเรียนสามารถวางแผนและตั้งเป้าหมายสำหรับตัวเองได้ โดยคุณครูและทั้ง 3 องค์กรที่ตกลงให้ความร่วมมือกับโรงเรียน ได้แก่ โรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา, ธารปุญญ์เมล่อนฟาร์ม, ร้านสุวิทย์การยาง จะเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ วางแผนการปฏิบัติงาน และดำเนินการตามขั้นตอนที่ออกแบบไว้ร่วมกัน

โรงเรียนในเครือข่ายร้อยพลังการศึกษาที่สนใจในโครงการ
สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
โทร : 02 301 1080 หรือ 02 301 1143
อีเมล : ybf@ybf.premier.co.th
เปิดทำการ วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 17.00 น.
(หยุดเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)