อยากให้เด็กทำธุรกิจเป็น
ไม่ต้องทำใหญ่ เริ่มจากตัวเอง
จากที่บ้าน แล้วค่อยโต
ไม่ใช่กู้เงิน 5 ล้าน 10 ล้าน
มาทำโดยไม่มีความรู้

คุณครูนันท์นภัส ไสยาทา หัวหน้าฝ่ายวิชาการ โรงเรียนห้างฉัตรวิทยา จ.ลำปาง เล่าถึงภาพฝันประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียน เมื่อโรงเรียนร่วมมือกับไร่เยาวรัตน์และร้อยพลังการศึกษาใน “โครงการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชนเพื่อบูรณาการการเรียนรู้สู่การพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียน หรือ Community Engagement (CE)”

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ร้อยพลังการศึกษาได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่นหลายแห่ง ชวนคุณครูนันท์นภัสและคณะครูไปพูดคุยกับหน่วยงานเหล่านั้นเพื่อหาโอกาสที่จะพัฒนานักเรียนร่วมกัน นำมาสู่ความร่วมมือกับไร่เยาวรัตน์ เนื่องจากโรงเรียนมองว่าที่นี่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่จะทำให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติทักษะเกษตรกรยุคใหม่ เด็กที่ไม่เก่งด้านวิชาการก็เรียนได้ เป็นวิถีเกษตรที่ไม่กว้างหรือแคบไป ได้เรียนรู้ตั้งแต่การแก้ปัญหาดิน เพาะปลูก เก็บเกี่ยว จนถึงแปรรูป และการทำตลาด ทั้งยังได้เรียนรู้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกหรือโซล่าร์เซลล์  โรงเรียนจึงมาวางแผนการบริหารจัดการ เช่น จัดตั้งเป็นชุมนุม Smart Farming จัดสถานที่เรียน หาอุปกรณ์ คิดวิธีดูแลโรงเรือน เป็นต้น

มาวันนี้ “ศูนย์การเรียนรู้ Smart Farming ฟาร์มเห็ดอัจฉริยะและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์” กำลังกลายเป็นพื้นที่บ่มเพาะประสบการณ์ให้เด็กๆ รู้จักหารายได้เสริม “อยู่ชุมนุมนี้ ต้องเอาเห็ดไปขายค่ะ บางทีก็ไปเติมน้ำรดเห็ด” น้องปราณปริยา นักเรียนชั้น ม.4 เล่า ขณะที่น้องวรวิทย์ นักเรียน ชั้น ม.3 บอกว่า เลือกอยู่ชุมนุมนี้เพราะเห็นว่าน่าสนใจ ได้ทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำ และอยากลองหาเงิน ซึ่งน้องวรวิทย์เองมีหน้าที่คอยช่วยเติมน้ำลงเห็ด เก็บเห็ด และบางวันก็ช่วยนำเห็ดไปขายด้วย

คุณนพดล สันเทพ ปราชญ์ชาวบ้านจากไร่เยาวรัตน์ กล่าวว่า ดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ ปีที่ผ่านมาเขาเริ่มเห็นผล เห็นความคืบหน้า ทำให้มีแนวคิดว่าในภาคเรียนต่อไป อยากทำให้เด็กๆ เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เช่น ถ้าห้องพักครูไม่ใช้ไฟเลย แต่ใช้ไฟจากโซล่าเซลล์ จะลดค่าใช้ค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่ ให้เด็กๆ ได้เห็นแล้วลองไปทำต่อที่บ้าน ไปติดตั้ง หรือรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ เป็นรายได้ ขณะที่ฟาร์มเห็ด เขาก็อยากเพิ่มแปลงเกษตรที่ปลูกคะน้า ผักชี ต้นหอมด้วย ให้เด็กๆ ขายผัก ขายเห็ด ให้กับโรงครัวของโรงเรียน เด็กๆ จะได้มีกำลังใจ กระตือรือร้นที่จะสร้างรายได้ นำความรู้ไปแนะนำพ่อแม่เรื่องต้นทุน ปุ๋ยอินทรีย์ได้ “บางคนบ้านไม่มีพื้นที่ แต่อยากปลูกผัก ปลูกเห็ด” คุณนพดลกล่าว

ประโยชน์ที่ปราชญ์ชาวบ้านอย่างคุณนพดลคาดหวังให้เด็กๆ ได้รับจากชุมนุมนี้สอดคล้องกับคุณครูธนโชติ วงค์ดวง ครูผู้ดูแลชุมนุม Smart Farming กล่าวว่า “อย่างเรื่องโซล่าเซลล์ ปัจจุบันราคาวัสดุ การเลือกซื้อ สามารถซื้อมาทำได้ง่าย บางบ้านหรืออาจจะเป็นที่ไร่ ที่สวน ไม่มีไฟฟ้า ถ้านักเรียนมีความรู้ตรงนี้อาจจะเอาไปทำในชุมชนได้ ให้เห็นว่าเราที่เรียนไม่เก่ง ได้เกรด 1 กว่า 2  ก็สามารถเอาความรู้ด้านโซลาเซลล์นี้ไปต่อยอดได้ สร้างคุณค่าให้กับตัวของเขาเอง จากพฤติกรรมที่เกเรก็อาจนำเขากลับมาสู่การเป็นพลเมืองที่ดีได้”

นอกจากความรู้ด้านเกษตรที่เด็กๆ ได้รับแล้ว คุณครูธนโชติกล่าวว่าชุมนุมนี้ยังช่วยให้เด็กเห็นภาพ เห็นบริบทในการประกอบอาชีพมากขึ้น ได้ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกกระบวนการทำงาน เพราะเด็กๆ จะได้รับมอบหมายหน้าที่ที่ต้องดูแลเป็นประจำ และยังได้ลองหาเงินด้วยตัวเอง

ในส่วนของการจัดการเรียนการสอน คุณนพดลเล่าว่า ปกติที่ไร่เยาวรัตน์มีนักเรียนจากโรงเรียนอื่นๆ มาทำกิจกรรมเรื่อยๆ แต่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แต่เมื่อร่วมมือกับโรงเรียนห้างฉัตรฯ เปิดรับเด็กที่อยากเรียนรู้เรื่องนี้จริงๆ มาเรียนรู้ตลอด 1 ภาคเรียน เขาจึงออกแบบการสอนที่เน้นฝึกปฏิบัติ ให้เด็กได้เล่น และสัมผัสประสบการณ์จริงจากกิจวัตรของเขา ทั้งยังปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรด้วย เพราะตัวเขาเองจากนักธุรกิจในกรุงเทพฯ แต่เมื่อต้องกลับมาอยู่บ้านที่ลำปาง มาเป็นเกษตรกรก็สามารถอยู่ได้ ด้วยการรู้จักคิดนอกกรอบ รู้จักใช้โซเชียลมีเดียสื่อสาร การสร้างแบรนด์ การมีตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรของตัวเอง

สำหรับบทบาทของคุณครูธนโชติ ผู้ดูแลชุมนุมจะอยู่ในเวลาที่คุณนพดลสอนด้วย และช่วยสรุปหรือทบทวนให้เด็กๆ เพิ่มเติมถ้าเด็กไม่เข้าใจ เพราะครูจะใกล้ชิดกับเด็กมากกว่า ชุมนุมนี้มีเด็กประมาณ 15 คน อยู่ในวัยที่ต่างกัน มีตั้งแต่ ม.1 – ม.6 ช่วงแรกครูจึงต้องรับผิดชอบหน้าที่ต่างๆ ในโรงเรือนเป็นหลัก แต่วันนี้เขาฝึกเด็กๆ ให้ทำหน้าที่ต่างๆ ได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานร่วมกันก็มีความท้าทาย คุณนพดลกล่าวว่า การมาอบรมให้เด็กๆ ต้องมีทุนในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนอุปกรณ์ ถ้าเป็นไปได้อยากมีผู้สนับสนุน ที่ผ่านมาเขาใช้อุปกรณ์เท่าที่มีจากที่บ้านไปให้เด็กก่อน ด้านคุณครูธนโชติก็พยายามแก้ไขอุปสรรคนี้ ด้วยการชวนญาติๆ ที่เป็นเจ้าของธุรกิจมาร่วมบริจาคเงินสนับสนุนกิจกรรมให้แก่โรงเรียน และคุณครูหวังว่าถ้ากิจกรรมนี้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างรายได้เพื่อกลับมาเป็นทุนหมุนเวียนได้ในอนาคต แม้จะขาดทุนแต่ “กำไรที่ได้ก็คือความรู้ที่นักเรียนและชุมชนได้รับ”

เพราะความรู้เหล่านี้
นำไปสู่วิชาต่างๆ ได้ อาทิ
ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
ไปเสริมกับวิชาฟิสิกส์ได้
เรื่องเห็ดก็สอดแทรก
ไปกับวิชาชีวะได้
เรื่องเกษตรก็นำเข้าไป
ในวิชาด้านการเกษตรได้
การแปรรูปผลิตภัณฑ์
ก็นำเข้าไปในกลุ่มวิชาคหกรรมได้

สำหรับโรงเรียนห้างฉัตรวิทยา นอกจาก Smart Farming แล้ว ยังมีโครงการสร้างความร่วมมือฯ หรือ CE ที่มุ่งพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพด้านการท่องเที่ยวด้วย ได้แก่ English for Tourism โดยร่วมมือกับสถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ สังกัดองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง โดยทั้ง 2 โครงการมีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

คุณครูนันท์นภัส หัวหน้าฝ่ายวิชาการ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการทำงานร่วมกันในโครงการ CE ว่า English for Tourism อยู่ระหว่างการหาแนวทางฝึกฝนเด็กๆ ให้ได้สนทนาภาษาอังกฤษมากขึ้นหรือมีทัศนคติที่ดีกับการเรียนภาษาอังกฤษ ขณะที่ Smart Farming หลังจากที่คุณนพดลจากไร่เยาวรัตน์เข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอน ทางโรงเรียนพยายามให้ครูผู้รับผิดชอบเขียนเป็นหลักสูตร เพื่อถ่ายทอดให้ครูท่านอื่นๆ ได้ด้วย ก่อนหน้านี้หากโรงเรียนดำเนินการคาบชุมนุมนี้เองก็อาจทำได้ไม่เต็มศักยภาพ เพราะไม่มีหลักสูตร และจากวันแรกที่ร่วมมือกันจนมาถึงวันนี้คุณครูนันท์นภัสมองว่ามาไกลกว่าที่คิด เพราะความรู้เหล่านี้กำลังจะเข้าไปสู่วิชาต่างๆ อาทิ ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สามารถนำไปเสริมกับวิชาฟิสิกส์ได้ เรื่องเห็ดก็สามารถสอดแทรกไปกับวิชาชีวะได้ เรื่องเกษตรก็สามารถนำเข้าไปในวิชาด้านการเกษตรได้ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ก็นำเข้าไปในกลุ่มวิชาคหกรรมได้

มาไกลมากนะ เริ่มต้นที่เราอยากได้คุณค่าจากตรงนั้น แล้วตอนนั้นก็ทำไม่ได้ ทำแบบไม่มีหลักเกณฑ์ เลยให้ครูกลับไปดูหลักสูตรว่าเหมาะกับชั้นไหน ม.ไหน ที่จะเรียนเรื่องนี้

คุณครูนันท์นภัสได้ให้ข้อคิดทิ้งท้ายถึงปัจจัยที่จะทำให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกประสบความสำเร็จว่า ส่วนใหญ่บุคลากรจากหน่วยงานที่มาร่วมมือกันเป็นคนในท้องถิ่นอยู่แล้ว และบางคนก็รู้จักมีสายสัมพันธ์ที่ดีกันมาก่อน จึงมีใจที่จะทำงานด้วยกัน เหลือเพียงการลงมือทำว่าจะวางแผนทำงานอย่างไร มีการบริหารจัดการเรื่องเวลา และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งตอนริเริ่มโครงการ ทางโรงเรียนไม่ได้วางแผนงานนี้ไว้ตั้งแต่ต้น ทำให้การดำเนินงานมีอุปสรรคหรือไม่เข้าใจกันอยู่บ้าง ดังนั้น คนประสานจึงสำคัญที่จะต้องคอยบริหารจัดการให้งานมีพัฒนาการไปข้างหน้า มีความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ และเมื่อทุกฝ่ายเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก อุปสรรคก็จะลดลง

“ครูมองที่ตัวเด็ก เด็กได้อะไรในสิ่งที่เราทำ และจะประสานยังไงไม่ให้เกิดรอยร้าวหรือความขัดแย้ง ต้องไม่มีคำว่าสิ่งนี้ทำไม่ได้ และต้องทำให้ดีที่สุด ประโยชน์สูงสุดไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา” คุณครูนันท์นภัสกล่าวและย้ำว่า “ใจของคนทำ” คือปัจจัยความสำเร็จของความร่วมมือครั้งนี้

นี่คือหนึ่งในผลลัพธ์ของความร่วมมือระหว่างคุณครูและคนในพื้นที่ที่เข้ามาช่วยกันพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะอาชีพซึ่งเป็นอีกทักษะสำคัญ และทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ตามกำลังและศักยภาพที่มี เพื่อพัฒนาเยาวชนให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญของชุมชนต่อไป

ขอขอบคุณเรื่องราวดีๆ จากโรงเรียนห้างฉัตรวิทยา จ.ลำปาง ใน “โครงการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชนเพื่อบูรณาการการเรียนรู้สู่การพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียน” (Community Engagement)

องค์กรหรือหน่วยงานที่สนใจการสร้างความร่วมมือ
เพื่อบูรณาการการเรียนรู้สู่การพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
เบอร์โทร : 02 301 1117 | อีเมล : tcfe@ktf.premier.co.th
Line Official Account : https://lin.ee/CKKQo3g

เปิดทำการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 17.00 น.
(หยุดเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)