“ทำไมโลกหมุนเร็วจัง” คิดอย่างไรกับประโยคนี้ “โลกหมุนรอบตัวเองเร็วขึ้นกว่าเดิม” หรือ “การเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ บนโลกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว” ถ้าลองสังเกตให้ดี จะเห็นว่าสิ่งรอบตัวมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในโลกของเทคโนโลยีและการสื่อสาร แล้วถ้าโลกเปลี่ยนไปทุกวัน แต่เรายังอยู่กับที่ คิดว่าเราจะเป็นอย่างไรกัน

การเรียนรู้ตลอดชีวิต
ทำให้เราปรับตัวได้
และมีชีวิตอยู่ในวันที่
โลกเปลี่ยนแปลง

สิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวันมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง

เมื่อก่อนเรานั่งดูทีวี ตอนนี้เราใช้มือถือแทนทีวี
– เมื่อก่อนเราติดต่อกันทางจดหมาย ตอนนี้เราแชทคุยกันได้ทันที ไม่ต้องเขียนจดหมาย
– เมื่อก่อนเราไปเรียนที่โรงเรียน ตอนนี้เราได้เรียนหนังสือออนไลน์
– เมื่อก่อนเราจ่ายค่าสินค้าด้วยเงินสดเท่านั้น ตอนนี้เราจ่ายเงินซื้อของผ่านแอปพลิเคชันไม่ต้องใช้เงินสด
– เมื่อก่อนเราทำไข่เจียวเพียงแบบเดียว ตอนนี้เรามีสูตรไข่เจียวใหม่ๆ เยอะมาก

บางทีสิ่งที่เราเรียนรู้ในวันนี้ พรุ่งนี้อาจกลายเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว แต่เราสามารถเรียนรู้เพื่อปรับตัวได้เสมอ ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านตำราหรือในห้องเรียน เราสามารถนำความรู้ไปต่อยอดให้กลายเป็นทักษะใหม่ๆ เพื่อให้ทันต่อความต้องการของโลก ดังนั้น การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เป็นสิ่งที่ควรมี เราถึงจะก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) คืออะไร

คือ การเรียนรู้บางสิ่งบางอย่าง โดยเริ่มต้นจากความอยากรู้ในเรื่องนั้น และเราต้องการหาความรู้หรือหาคำตอบด้วยตัวเอง (Self-initiated study) เรื่องที่อยากรู้นั้นไม่จำเป็นต้องนั่งเรียนในห้องเรียนไม่่จำเป็นต้องเอาความรู้ไปใช้ในการสอบ แต่อาจจะเป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เสริมทักษะบางอย่าง หรือเพื่อให้เราสนุกกับการได้ลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงทุกวัน และไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ทุกคนสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นี่คือการเรียนรู้ตลอด ชีวิต

เพราะอะไรจึงต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต

– การเรียนรู้ตลอดชีวิตทำให้เราปรับตัว และชีวิตอยู่ได้ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีหลายอย่างถูกนำมาใช้ทำงานแทนมนุษย์ ลองคิดเล่นๆ ว่า
– จะเกิดอะไรขึ้นกับเรา ถ้าวันนี้เรามีอินเทอร์เน็ตใช้ แต่เราใช้อินเทอร์เน็ตไม่เป็น?
– เราจะเป็นอย่างไร ถ้าวันนี้เรามีโทรศัพท์มือถือใช้ แต่เราใช้โทรศัพท์มือถือไม่เป็น?
– เราจะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างไร ถ้าวันหนึ่งงวิชาความรู้ที่เคยเรียนมาใช้ไม่ได้แล้ว เพราะมีความรู้ที่ทันสมัยกว่า

หากตอบคำถามเหล่านี้ได้ จะทำให้เราเข้าใจว่าเพราะอะไรจึงต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้ตลอด ชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นอย่างไร

ความรู้หลายอย่างในวันนี้
จะล้าสมัยในอนาคต

การเรียนรู้มักจะเริ่มต้นจากสิ่งที่เราสนใจ มาทบทวนกันดูว่า เรื่องอะไรบ้างที่เราสนใจ แล้วลองสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับตัวเอง

5 เทคนิค สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับตัวเอง

1. ฝึกตัวเองให้มี Growth Mindset คือพร้อมที่จะเรียนและปรับตัวในทุกสถานการณ์  และคิดอยู่เสมอว่าเราสามารถพัฒนาได้ แม้ไม่เก่งก็ฝึกได้จากการทำงานหนัก การเรียนรู้ และการลองทำสิ่งใหม่ๆ ต่างจากคนที่มี Fixed Mindset ที่เชื่อว่าความฉลาดหรือความเก่งเป็นเรื่องที่ติดตัวมาแต่กำเนิด คนที่ไม่ฉลาดหรือไม่เก่งจะไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ จนทำให้ไม่กล้าออกไปลองทำสิ่งใหม่ๆ เพราะมักคิดว่าแบบเดิมดีอยู่แล้ว ถ้าลองไปทำสิ่งใหม่แล้วผิดพลาด ผลลัพธ์อาจจะแย่กว่าเดิม

2. พาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางคนที่หมั่นพัฒนาตัวเอง  ถ้าคนรอบข้างเก่ง เราก็ยิ่งอยากเก่งตามคนกลุ่มนั้น ถ้าคนรอบข้างเราเป็นคนที่หมั่นขยันหาความรู้ตลอดเวลา เชื่อว่าอย่างน้อย เราก็ต้องได้รับนิสัยเหล่านั้นมาจากเขาอย่างแน่นอน เพราะเขาจะเป็นเหมือนแรงบันดาลใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือจุดประกายให้เราได้เห็นมุมมองในอีกหนึ่งมุมที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อน ลองเอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ เช่น ถ้าอยากรู้เรื่องงานศิลปะให้ลองไปงานนิทรรศการศิลปะต่างๆ ถ้าอยากมี แรงบันดาลใจให้ลองฟังคลิปของคนที่มีทัศนคติ  หรือมีมุมมองด้านดีๆ หรือถ้าสนใจอยากรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็พาตัวเองเข้าไปอยู่ในเพจที่มีคนสนใจในเรื่องนั้นเหมือนกันกับเรา

3. Active Learning เรียนรู้จากการลงมือทำ การลงมือทำจะทำให้เกิดการเรียนรู้มากกว่าฟังหรือท่องจำ เราควรใช้การเรียนรู้แบบ Active Learning หรือการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ได้ใช้ทั้งกระบวนการคิดและปฏิบัติ เพื่อให้พัฒนาศักยภาพที่แท้จริงของเรา สามารถเชื่อมโยงความรู้ที่เคยเรียนมาในอดีต เพื่อมาประยุกต์ต่อยอดในการทำงาน พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น จะทำให้เราเห็นมุมมองของเขา และเกิดความสงสัยขึ้นว่า เราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเขา เพราะอะไร ทำให้เราได้คิดตาม ช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และหาคำตอบ

อย่าให้วันที่คุณจบการศึกษา เป็นวันสุดท้ายของการเรียนรู้ แต่ขอให้เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดของคุณ

– Kritsc –

เช่น เราเรียนทำอาหารแล้วนำกลับมาลงมือทำจริง ตอนอยู่ในห้องเรียนมีครูคอยสอน คอยชี้แนะวิธีการทำอาหาร บอกขั้นตอนว่าควรจะเลือกวัตถุดิบอย่างไร เราสามารถทำตามที่ครูสอนได้เลย แต่เมื่อกลับมาที่บ้าน ถ้าเราไม่ลงมือทำอาจจะทำให้เราลืมขั้นตอนการทำเหล่านั้นได้

เพราะฉะนั้นอย่าให้การเรียนรู้จบอยู่แค่ในห้องเรียน ถ้าเรานำความรู้ที่ได้มาลองทำ อาจทำให้เราเป็นคนที่ทำอาหารเก่ง มีเสน่ห์ปลายจวักจนสามารถต่อยอดพัฒนาเป็นสูตรอาหารของเราเองและกลายเป็นธุรกิจได้ในที่สุด

4. Self-directed learning การเรียนรู้ในแบบของตัวเอง การเรียนรู้ในแบบที่เหมาะสมกับตัวเองทำให้เราสามารถกำหนดลำดับ วิธีการ เวลา และเป้าหมายการเรียนรู้ของตัวเองได้ดีและสนุกกับการได้เรียนรู้ เพราะทำให้เรามีอิสระ สามารถเลือกทางของตัวเอง และพัฒนาศักยภาพที่เรามีอยู่ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

แต่ละคนชอบการเรียนรู้ที่ต่างกัน เช่น บางคนชอบเรียนรู้ด้วยตัวเอง หาหนังสืออ่านเอง บางคนชอบเรียนออนไลน์ เพราะชอบที่จะมีคนมาอธิบายให้ฟัง บางคนก็ชอบเล่าอธิบายเรื่องที่อ่านมาให้คนอื่นฟังเพื่อจะได้ช่วยให้จดจำสิ่งนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น บางคนชอบเรียนรู้ด้วยการจดโน้ตเพื่อที่จะได้กลับมาทบทวนอีกครั้ง การเรียนรู้ของแต่ละคนมักได้ผลดีในเวลาที่แตกต่างกัน เช่น บางคนชอบอ่านหนังสือตอนเช้า เพราะรู้สึกว่าสมองปลอดโปร่ง พร้อมรับความรู้ใหม่ๆ แต่บางคนชอบอ่านหนังสือตอนกลางคืน เพราะรู้สึกสงบกว่า และทำให้เกิดการเรียนรู้ ได้ดีกว่า ลองดูว่าการเรียนรู้แบบไหนที่เป็น Self-directed Learning ของเรา

5. กระตุ้นตัวเองเพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ เมื่อเราก้าวออกจากโรงเรียนหรือวิทยาลัย จะไม่มีใครมาคอยกระตุ้นให้เราเรียน เพราะฉะนั้นเราต้องกระตุ้น และผลักดันตัวเองให้ไปอยู่ในที่ๆ ทำให้โอกาสในการหาความรู้มีเพิ่มขึ้น และแม้ว่าบรรยากาศในการเรียนรู้จะหมดไป เพราะเราไม่ได้อยู่ในห้องเรียน แต่การเรียนรู้ ใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้เสมอ ทำให้โอกาสในหาการความรู้มีเพิ่มขึ้น เช่น อินเทอร์เน็ตที่เราสามารถหาความรู้ได้ตลอดเวลา งานเสวนาหรืองานฝึกอบรมต่างๆ ทำให้เรามีโอกาสในการพบปะผู้คนใหม่ๆ มากขึ้น

สนุกกับการเรียนรู้ ด้วยการเริ่มต้นจากสิ่งที่เราสนใจ

เริ่มต้นจากการสำรวจตัวเองในสิ่งที่สนใจจริงๆ จากนั้นเริ่มหาข้อมูลเจาะลึกลงไปเปิดโลก มองเห็นสิ่งใหม่ๆ ออกไปพบปะผู้คนที่หลากหลาย เราจะได้เจอคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน หรือข้อมูลที่กำลังค้นหาอยู่ ต่อยอดข้อมูลเหล่านั้น การเรียนรู้จะไม่มีวันสิ้นสุด

ตัวอย่างเช่น เราชอบดูละครย้อนยุคมากๆ ซึ่งเนื้อหาในละครมักจะอิงมาจากความจริง จากแค่การดูซีรีส์หรือละครก็ทำให้เราอยากรู้เพิ่มมากขึ้นว่า ทำไมตัวละครแต่งตัวแบบนี้ ทานอาหาร หรือใช้ชีวิตประจำวันแบบนี้ นั่นก็ทำให้เราสามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ ยิ่งทำให้รู้ว่ายุคสมัยที่ตัวละครอยู่คือยุคไหน ถ้าหากหาข้อมูลไปเรื่อยๆ ในเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น อ่านข้อมูลเกี่ยวกับการแต่งตัวในแต่ละยุค แค่การดูละครก็ทำให้เราเป็นคนที่ชอบหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไปเลยก็ได้

นอกจากนั้น การออกไปท่องเที่ยว ก็ช่วยให้เราได้เปิดโลกให้กว้างขึ้น เราจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และทำสิ่งหนึ่งขึ้นมาให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ หรือการเข้าร่วมกลุ่มกับคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน เช่น การทำธุรกิจ การทำงานกราฟิก รีวิวหนังสือ การทำอาหาร พื้นที่นั้นจะมีการแลกเปลี่ยน แบ่งปันข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือเทคนิคต่างๆ ให้เราได้เรียนรู้ก็จะช่วยกระตุ้น ให้เราอยากเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ มากยิ่งขึ้น

ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต

Learn สิ่งที่เรารู้อยู่แล้วจากการเรียนรู้ในอดีตที่ผ่านมา
Unlearn สิ่งที่เคยเรียนรู้มาในอดีต อาจไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้วก็ได้ ลองเปลี่ยนดูไหม
Relearn เรียนรู้สิ่งที่เราเคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น สิ่งที่เราเคยรู้ จะได้เปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่