เวลาเจอปัญหา คุณมีวิธีรับมือยังไง?… เชื่อว่าหลายคนอาจจะรู้สึกเหนื่อยที่ต้องต่อสู้และแก้ปัญหาที่ดาหน้าเข้ามาในชีวิต ถ้าใจพัง สมองและร่างกายจะยังมีแรงได้อย่างไร  จะดีแค่ไหนหากมีใครสักคนคอยรับฟังอย่างเข้าใจ

“เด็กขาดโอกาส” ซึ่งเป็น “นักเรียนทุนมูลนิธิยุวพัฒน์” ก็เช่นกัน พวกเขาไม่ได้มีแค่ปัญหายากจน แต่น้องๆ บางคนยัง ขาดการดูแลจากครอบครัว มูลนิธิยุวพัฒน์จึงเกิดไอเดียจัดกิจกรรม “พี่เลี้ยงอาสา” เปิดรับบุคคลทั่วไปที่มีใจอาสาสมัคร เข้ามาร่วมช่วยเหลือดูแลประคับประคองเด็กๆ เพื่อไม่ให้พวกเขาหลุดจากโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาตนเอง

น้องต้องพยายามต่อไป
อย่าหยุด สู้ๆ นะ

คือถ้อยคำที่ “สีนวล” นักเรียนทุนยุวพัฒน์จังหวัดเชียงใหม่ มักจะได้ยินจากพี่เลี้ยงอาสาที่เข้ามาดูแลทั้งโทรศัพท์และตอบจดหมายพูดคุยอยู่เสมอ เหมือนเป็นยาใจชั้นดีในวันที่รู้สึกท้อแท้โดยเฉพาะโอกาสในการขอสัญชาติไทย

น้ำเสียงของสีนวลบ่งบอกถึงความสบายใจอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้เธอมักจะมีปัญหาครอบครัว ปัญหาการเรียน รวมทั้งเรื่องปัญหาเพื่อนอยู่เสมอ โดยไม่รู้ว่าจะหาทางออกได้อย่างไร จนมีพี่เลี้ยงอาสาเข้ามาดูแลเหมือน “ยกภูเขาออกจากอก”  

“หนูมักจะมีปัญหาครอบครัว การเรียนและเรื่องเพื่อน ช่วงเตรียมขึ้น ม.4 รู้สึกสับสนว่าจะเรียนสายไหนดี จนได้ปรึกษาพี่ๆ ทำให้หนูมองปัญหาในมุมที่แตกต่าง แนะนำวิธีแก้ไขที่นำไปใช้ได้จริง ทำให้หนูตัดสินใจได้ว่าจะเรียนสายวิทย์-คณิต เพราะอยากเป็นเภสัช ตอนนี้หนูสบายใจมาก มีความสุขขึ้นเยอะ เพราะมีคนคอยรับฟังและเข้าใจจริงๆ”

เมื่อเป็น “ผู้รับ” ก็อยากเป็น “ผู้ให้” คือ ความสมดุลของการดำเนินชีวิตอย่างหนึ่ง เป็นสาเหตุที่ว่าทำไม สีนวล ถึงอยากมาเป็น “พี่เลี้ยงอาสา”

“ถ้าโตขึ้นมีอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ หนูก็จะมาเป็นพี่เลี้ยงอาสาเหมือนพี่ๆ ค่ะ หนูอยากให้คำปรึกษา เป็นแรงบันดาลใจ ช่วยรับฟังอย่างเข้าใจให้น้องๆ นักเรียนทุนที่มีปัญหา เหมือนที่หนูเคยได้รับจากพี่ทุกคน”

ไม่แตกต่างจาก “น้องชมพู่” ชั้น ม.4 นักเรียนทุนยุวพัฒน์ จังหวัดกาญจนบุรี  ช่วงที่ต้องทำงานพิเศษหลังเลิกเรียนเพราะครอบครัวมีปัญหาเรื่องการเงิน ทำให้ผลการเรียนเริ่มแย่ลง เธอหาทางออกด้วยการปรึกษาพี่เลี้ยงอาสา ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำอย่างดี

พอได้คุยกับพี่ๆ ที่ไม่ได้ชี้นำ แต่ให้หนูได้ลองคิดทบทวนด้วยตัวเอง ก็ทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจนทั้งเป้าหมายในอาชีพและวิธีแก้ปัญหาเรื่องผลการเรียนให้ดีขึ้น

“ที่บ้านมีปัญหาเรื่องเงินเลยต้องทำงานพิเศษไปด้วย อีกอย่างทางบ้านสอนว่า… จะต้องรู้จักช่วยเหลือตัวเองให้มาก ไม่ใช่รอเงินทุนอย่างเดียว หรือรอความช่วยเหลือจากคนอื่น ได้ทุนมาก็ให้ใช้ไปกับสิ่งที่จำเป็นจริงๆ พอทำงานก็รู้ว่าเกรดเริ่มแย่ลง และสับสนว่าจะเรียนสายไหนดี พอได้คุยกับพี่ๆ ที่ไม่ได้ชี้นำ แต่ให้หนูได้ลองคิดทบทวนด้วยตัวเอง ก็ทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจนทั้งเป้าหมายในอาชีพและวิธีแก้ปัญหาเรื่องผลการเรียนให้ดีขึ้น”

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงจะยินดีที่น้องๆ นักเรียนทุนสามารถแก้ปัญหาในชีวิตได้และมีความสุขมากขึ้น โดยเฉพาะพี่เลี้ยงอาสาที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาตนเอง “คุณเหมือนฝัน ธารณธรรม” ผู้ที่เชื่อว่า “การศึกษาเปลี่ยนชีวิตได้” นำมาสู่การเป็นอาสาตอบจดหมายน้องมากว่า 3 ปี ด้วยความที่ชอบทำงานอาสาเป็นทุนเดิม เธอจึงตั้งใจแบ่งเวลาในชีวิตประจำวันในการเข้ามาช่วยเหลือน้องๆ

ขอบคุณมากที่ให้การศึกษา

คือประโยคที่น้องๆ เขียนไว้ในจดหมายที่เธอได้อ่านอยู่เสมอ มันคือการอ่านระหว่างบรรทัด ที่ใช้ใจสัมผัสมากกว่าใช้สมอง

“ได้รับรู้ว่าเป็นการขอบคุณจากใจ เพราะถ้าไม่มีเงินทุนเขาก็ไม่ได้เรียน เลยบอกน้องๆ ตลอดว่าอย่าท้อ และทุกครั้งที่ได้อ่านจดหมายเราจะชื่นใจมาก น้องเล่าเรื่องตัวเองอย่างมีความสุข ได้รู้ถึงความใจสู้ของเขา ถึงจะลำบากแต่ก็ไม่ได้ท้อ มีความตั้งใจจริงว่าจะเรียนหนังสือให้จบ คือการที่ต่างฝ่ายต่างได้รับพลังบวก ส่งกำลังใจในกันและกัน”

“การให้” ไม่จำเป็นต้องหวังสิ่งตอบแทน แต่ทุกครั้งที่ได้ให้ไปแล้วก็มักจะได้มาซึ่ง “ความสุข” อยู่เสมอ นี่คือสิ่งที่คุณเหมือนฝันได้รับ 

“เราเข้าใจแล้วว่าทุกอย่างไม่ได้ใช้เงินอย่างเดียวแต่ใช้ใจ ความสุขคือการให้จริงๆ ยิ่งสังคมตอนนี้ต้องการพลังบวกมากๆ ถ้ามีโอกาสก็จะบอกต่อและชวนคนมามีส่วนร่วมกันเยอะๆ”

จาก “ผู้บริจาค” เปลี่ยนมาเป็นพี่เลี้ยงอาสาลงแรงช่วยเหลือ เป็นอีกสเต็ปหนึ่งของ “คุณอลิศ เลิศฤทธิ์เรืองสิน” หน้าที่ของเขาคือ พูดคุย ให้คำปรึกษากับน้องทางโทรศัพท์ แชท และออกแบบเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ในช่องทางของมูลนิธิฯ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำมานานแล้ว เมื่อมีโอกาสจึงรีบคว้าไว้ ซึ่งนั่นถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือน

สิ่งที่ได้กลับมาก็ คุ้มค่า

“เราเห็นความสำคัญของการศึกษา เคยลงพื้นที่ไปมอบสิ่งของตามโรงเรียนต่างจังหวัดได้รู้ถึงปัญหาการขาดแคลนต่างๆ พอโควิดเข้ามาทำให้เรามีเวลามากขึ้น อีกอย่างเราต้องการเป็นตัวอย่างให้กับลูกว่าถ้ามีโอกาสก็ให้ช่วยเหลือคนอื่นตามกำลังและการมีความสุขได้ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่เสมอไป”

แรกเริ่มของการเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงอาสาก็จะเกิดความกังวลว่าจะทำได้ไหม แต่พอได้ลงมือทำก็เหมือนเป็นการได้เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องๆ ปัญหาการเรียน ครอบครัว เพื่อน เป็นปัญหาลำดับต้นๆ ที่เจอในขณะพูดคุยกับเด็กๆ การสร้าง “ความไว้วางใจ” จึงถือเป็นความท้าทาย แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เป็นปัญหา เพราะสิ่งที่ได้กลับมาก็ “คุ้มค่า” 

 “บางคำถามเราไม่รู้ก็ต้องไปหาข้อมูล เพื่อมาแนะนำน้องๆ สิ่งที่เซอร์ไพรส์มากๆ คือ ได้คุยกับน้องคนหนึ่งเขามีความคิดดี เป็นผู้ใหญ่ มีเป้าหมายชีวิตชัดเจนว่าต้องการหาประสบการณ์ ความรู้เพิ่มเติมให้มากๆ ก่อนเรียนจบ เราได้รับรู้ถึงความพยายามของคนๆ หนึ่ง ที่ต้องการเรียนจบ มีอาชีพที่ดีช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวได้”

นี่คือเรื่องราวที่สะท้อนถึงความเห็นอกเห็นใจ และเชื่อมโยงน้องๆ และพี่เลี้ยงอาสาเข้าด้วยกันแบบนี้ จะเป็นประตูอีกบานที่เปิดให้ “คุณ” ได้มีส่วนทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงอาสากับโครงการอาสายุวพัฒน์และเปิดหัวใจรับฟัง “คุณ” ก็จะได้สัมผัสความสุขจากการให้และช่วยแก้ปัญหาการศึกษาไปพร้อมกัน ซึ่งพี่เลี้ยงอาสารุ่นที่ 14 เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึง 18 พฤษภาคม 2565 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.yuvabadhanafoundation.org/th/volunteer/mentor/

เปิดรับสมัครแล้ว!!! พี่เลี้ยงอาสา รุ่นที่ 14

“นอกจากการให้ทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องแล้ว…มูลนิธิฯ พบว่าน้องๆ ยังมีสภาพครอบครัวที่เปราะบาง ขาดที่พึ่งทางใจ และขาดผู้ที่จะแนะนำแนวทางในการใช้ชีวิตที่ถูกต้องได้…”

มูลนิธิยุวพัฒน์ เปิดรับสมัครพี่เลี้ยงอาสา รุ่นที่ 14 … ที่มีอายุ 23 ปีขึ้นไป มีความคิดเชิงบวก และสนใจในการทำงานร่วมกับเยาวชนที่ขาดโอกาส มีทักษะการสื่อสาร สามารถพูดคุยโต้ตอบและเป็นผู้รับฟังที่ดี มีทักษะการทำคอนเทนต์หรือใช้โปรแกรมออกแบบได้ มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงอาสาที่คอยรับฟัง ชวนคิด ชวนคุย และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับนักเรียนทุนยุวพัฒน์ ผ่าน 2 ช่องทางหลัก ทางโทรศัพท์ และกลุ่มปิดเฟซบุ๊ก โดยครอบคลุมข้อมูลพื้นฐาน ดังนี้ การเรียนและการพัฒนาตนเอง, ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ครอบครัว ความรัก ฯลฯ, การรับมือกับภาวะอารมณ์ และความรู้สึก

ระยะเวลาการเป็นพี่เลี้ยงอาสาตั้งแต่ 11 มิถุนายน – 10 ตุลาคม 2565

สมัครเป็นพี่เลี้ยงอาสาได้ตั้งแต่วันนี้ – 18 พฤษภาคม 2565

***อาสาสมัครต้องสามารถร่วมกิจกรรม ดังต่อไปนี้ได้
1. เข้าร่วมการปฐมนิเทศ : วันเสาร์ ที่ 11 มิถุนายน 2565

2.ประเมินผลระหว่างโครงการ ครั้งที่ 1 : วันเสาร์ ที่ 9 กรกฎาคม 2565

3.ประเมินผลระหว่างโครงการ ครั้งที่ 2 : วันเสาร์ ที่ 20 สิงหาคม 2565

4.เข้าร่วมถอดบทเรียน : วันเสาร์ ที่ 15 ตุลาคม 2565

ประกาศผลผู้ที่ผ่านการคัดเลือก
ในวันพุธ ที่ 1 มิถุนายน 2565 (หลัง 18.00 น.)

มูลนิธิยุวพัฒน์สร้างการมีส่วนร่วมผ่านงานอาสาสมัครในการช่วยเหลือดูแลประคับประคองนักเรียนทุน ได้แก่
1. พี่เลี้ยงอาสา
2. Student Volunteer อาสารุ่นเยาวชน
3. Pen Pal อาสาผู้ให้กำลังใจ ตอบจดหมายนักเรียนทุน
โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา มีจำนวนอาสาสมัคร 167 คน ที่ได้ร่วมประคับประคอง ให้กำลังใจและให้คำปรึกษาแก่นักเรียนทุนจำนวน 3,867 คน โดยตรง และผ่านกลุ่มปิดเฟซบุ๊กกว่า 6,000 คน