เวลาหวนคิดถึงชีวิตในวัยอนุบาล เรามักมีความทรงจำเกี่ยวกับความสนุก ได้เล่นกับเพื่อนๆ โดยไม่ต้องนึกถึงความเครียดหรือปัญหาอะไรเมื่อเทียบกับการเป็นผู้ใหญ่ นั่นเป็นเพราะประสบการณ์ในวัยนั้นโดยเฉพาะ “ช่วงปฐมวัย” ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี คือ ช่วงเวลาแห่งการหล่อหลอมกล่อมเกลา เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นความทรงจำระยะยาวของคนๆ หนึ่งไปตลอดชีวิต ถ้าเป็นความทรงจำที่ดีจะเป็นต้นทุนที่ดีให้ชีวิต เมื่อย้อนนึกถึงเมื่อไหร่ก็อบอุ่นใจ แต่ถ้าเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดี ก็จะเป็นแผลบาดลึกในใจตลอดไป

เร่งอ่าน เร่งเขียน เร่งติว ยิ่งเร่งปัญหา

เด็กในปัจจุบันถูกผลักเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างรวดเร็ว หลายครอบครัวส่งลูกไปโรงเรียนตั้งแต่เตรียมอนุบาล แม้จะมีกระบวนการ “เรียนรู้และลงมือทำ (Learn by Doing)” แต่ก็ยังไม่มากพอถ้าเทียบกับการสอนแบบวิชาการที่เด็กๆ ต้องอ่านออกเขียนได้ รู้จักตัวเลขและคำนวณเป็น ผ่านการเรียนรู้ในห้องเรียนที่เด็กต้องนั่งอยู่กับโต๊ะเรียน ทั้งที่ในความเป็นจริงด้วยวัยของพวกเขาอาจจะยังมีสมาธิโฟกัสไม่มากพอ แถมเลิกเรียนก็ยังมีการบ้านกลับไปทำอีก เด็กบางคนต้องทำแบบฝึกหัดหลากหลายวิชาเพื่อเตรียมตัวสอบเลื่อนระดับขึ้นเรียนในชั้นประถมศึกษา

สภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่รวดเร็ว ส่งผลต่อความพร้อมของเด็กปฐมวัยที่จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้หลงลืมไปว่าสิ่งสำคัญที่กำลังถูกลดทอนลงไปจนน่าเป็นห่วงในช่วงปฐมวัย ก็คือ “การเล่น” นั่นก็หมายความว่าโอกาสที่เด็กจะได้เชื่อมต่อกับโลกหายไปด้วย

งานของเด็ก คือ “การเล่น”

การได้วิ่งเล่นในสนามเด็กเล็กอย่างอิสระตามจินตนาการกับสนามหญ้ากว้าง ได้ออกไปสำรวจหรือทดลองทำอะไรใหม่ๆ โดยที่ไม่ต้องกังวลผิดถูก หรือห้องเรียนที่ถูกออกแบบให้มีกิจกรรมสนุกๆ ของเล่นที่น่าสนใจเสริมพัฒนาการ จะสร้างความจดจ่อกับเด็กได้มากกว่า เป็นโอกาสในการพัฒนาตั้งแต่ปฐมวัย ที่สามารถเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ได้ถึง 12 เท่า เหล่านี้จะช่วยเพิ่มทักษะชีวิตอย่างรอบด้านให้กับพวกเขาไม่ว่าจะเป็น ทักษะการสื่อสาร ทักษะชีวิต ทักษะการแก้ไขปัญหา และการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ เพื่อน พ่อแม่ ครู และคนอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมกับการเล่น

“มุมประสบการณ์” ในห้องเรียน ช่วยสร้างพัฒนาการเด็กปฐมวัย

ห้องเรียนของเด็กวัยนี้ ควรมีหลากหลายมุมที่เป็นประสบการณ์ดีๆ ให้กับพวกเขา ทั้งมุมเล่น มุมอ่าน มุมเขียน มุมศิลปะ และสันทนาการที่ส่งเสริมให้เด็กๆ เกิดจินตนาการเหมาะสมตามวัย

โครงการ ICAP หรือ โครงการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัยแบบบูรณาการโดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง (Integrated Child – Centered Active Learning Project) โดย มูลนิธิยุวพัฒน์ เป็นอีกตัวอย่างของโครงการที่เห็นความสำคัญของการสร้างพัฒนาการของเด็กตั้งแต่ปฐมวัยช่วง 2-6 ปี ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน

ภายใต้รูปแบบห้องเรียนที่เป็นแบบ Active Learning ตามแนวทาง High Scope / RIECE Thailand เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ โดยเน้นให้เด็กๆ เป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมให้ใช้ประสาทสัมผัสครบทุกด้าน ผ่านการเล่นที่มีชีวิตชีวา โดยมีครูเป็นผู้สนับสนุนให้เด็กลงมือทำด้วยตนเอง มีทั้งหมด 6 กิจกรรมหลักของกระทรวงศึกษาธิการ

ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการด้วยการเรียนรู้ การเล่น มีครูคอยอยู่ข้างๆ เพื่อให้เด็กๆ ลงมือทำด้วยตนเองอย่างสร้างสรรค์ ปลูกฝังพฤติกรรมสุขอนามัยพื้นฐานเพื่อสุขภาพกายและจิตใจที่ดี ผสานความร่วมมือระหว่าง คุณครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ปกครอง เพื่อการพัฒนาเด็กร่วมกัน และสร้างระบบ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ครู” ร่วมปรึกษาในประเด็นต่างๆ เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้วยต้นทุนต่ำอย่างเท่าเทียมกัน

ปี 2564 โครงการ ICAP ทดลองทำโมเดล ใช้หลัก Design Thinking ออกแบบการเลี้ยงดูเด็กในชุมชนในลักษณะสังคมชนบท เน้นการเลี้ยงดูที่เหมาะสมตามวัย สร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ทดลองและนำไปสู่การปฏิบัติในชุมชนตำบลบางคู้ ตำบลลาดสาลี่ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี มีการขยายพื้นที่โครงการ ICAP โดยการฝึกอบรมครูผู้ดูแลเด็กในสถานศึกษาต่างๆ และขยายความร่วมมือกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศรวมถึง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และมูลนิธิยุวพัฒน์ ภายใต้โครงการ “การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนและการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในเมืองชนบท”

นอกจากนั้นยังประสานความร่วมมือการทำงาน ทางวิชาการ เชื่อมโยงภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน และให้คำปรึกษากับครู ผู้ปกครอง ที่สงสัยว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้าหรือเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามวัย เพื่อให้เด็กได้รับการช่วยเหลือดูแลที่เหมาะสมและเป็นความร่วมมือการทำงานร่วมกัน ระหว่างโครงการ ICAP ครู และผู้ปกครองเด็กในการส่งข้อมูลให้โครงการฯ ได้ลงเยี่ยมบ้านเด็ก

โครงการ ICAP ยังไม่หยุดพัฒนาเพื่อส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับเด็กๆ โดยวางแผนขยายพื้นที่และสร้างเครือข่ายของศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยทั่วประเทศ ผลักดันให้โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญของประเทศ

ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 64 แห่ง แบ่งเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดลพบุรี / ต่างจังหวัด รวม 46 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 1 แห่ง ส่วนโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในจังหวัดลพบุรี จำนวน 16 แห่ง และโรงเรียนเอกชนในจังหวัดลพบุรี จำนวน 1 แห่ง

เหล่านี้เป็นความสำคัญของพัฒนาการ “เด็กปฐมวัย” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่เหมาะสม ซึ่งมาจากการจัดการศึกษาปฐมวัยด้วยความเข้าใจความต้องการของเด็กๆ ผ่านการเล่นและลงมือทำอย่างสร้างสรรค์ หากเราเห็นพ้องตรงกันว่าเบ้าหลอมที่ดีและเหมาะสมจะสร้างเด็กๆ ให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ก็น่าจะเป็นหมุดหมายที่ดีของการร่วมมือกันทั้งจาก ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน และคนในสังคม เพื่อให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นในสนามเด็กเล็กตามพัฒนาการก่อนออกไปสู่โลกกว้าง

เด็กอายุ 2-6 ปี เป็นช่วงวัยที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยเรียน มีความพร้อมในการเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รอบตัวจากการเล่นสนุกสนาน เราทุกคนคือบุคคลที่สำคัญในการช่วยปลูกฝัง สร้างเสริมทักษะเพื่อให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีคุณภาพ ด้วยการสร้างเสริมการเล่นเพื่อการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย เพื่อให้พวกเขาเป็นผู้รักการเรียนรู้ พร้อมพัฒนาตนเอง สามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมกับผู้คนในสังคม เติบโตเป็นเด็กเก่งและมีจิตใจดี จนเกิดความสุขจากภายในที่แท้จริงอย่างยั่งยืน