ชีวิตหลังเรียนจบจะไม่น่ากลัวหรือเคว้งคว้างและไม่ใช่ช่วงเวลาที่ยากลำบากของนักศึกษาจบใหม่ หรือแม้แต่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของนักเรียนหลายคน เพราะจะต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยและค้นหาตัวเองว่าในอนาคตจะเลือกเรียนสาขาวิชาอะไรที่จะสามารถอยู่และใช้วิชาความรู้เหล่านั้นหาเลี้ยงชีพได้ในอนาคต เรียกได้ว่าเป็นคลาสเรียนสุดท้ายก่อนออกไปใช้ชีวิตจริง

สำหรับคนที่มีสาขาวิชาและมหาวิทยาลัยในฝันก็คงเบาใจได้บ้าง ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ทุ่มกำลังความพยายามเพื่อทำให้ความฝันเป็นจริง แต่ก็มีอีกหลายคนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเรียนต่อคณะอะไรหรือมหาวิทยาลัยไหนดี คำถามมากมายวนเวียนอยู่หัวถึงกับเครียดขาดความมั่นใจเพราะยังคิดไม่ตกกับอนาคตข้างหน้า การหาคำตอบนี้อาจจะยากกว่า เพราะการบริการข้อมูลเพื่อทำให้สามารถมองเส้นทางอนาคตไม่ได้ขยายกว้างมากนัก หรือมีประสบการณ์ตรง ไม่ว่าจะการได้รับข้อมูลจำกัด มีเพียงไม่กี่อาชีพที่ได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูล

หนักกว่านั้นวิชาแนะแนวมักจะถูกแทนที่ไว้เพื่อทำงานวิชาอื่นๆ จึงเป็นเหตุผลว่าที่ผ่านมา มีความเห็นบางส่วนที่มีต่อวิชาแนะแนวในสถานศึกษา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการแนะแนวในไทยปัจจุบันอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการผู้เรียนได้เท่าที่ควร จึงไม่แปลกหากผู้เรียนจะรู้สึกสงสัยหรือคิดตั้งคำถามว่า “มีวิชาแนะแนวไว้ทำไม?”

“ครูอิง” สอนระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดน่าน ทำหน้าที่ครูประจำชั้นและครูที่ปรึกษาในเวลาเดียวกัน เมื่อหลายปีก่อนเคยเข้าร่วม Workshop รุ่นที่ 1 ของ “a-chieve” ธุรกิจเพื่อสังคม เครื่องมือสร้างโอกาสทางการศึกษาที่ทำงานร่วมกับโครงการร้อยพลังการศึกษา มีเป้าหมายสร้างเครื่องมือช่วยให้เด็กมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ให้สามารถเลือกเส้นทางการเรียนและอาชีพที่ตนเองรักได้อย่างมั่นใจและตรงกับความชอบ ความถนัดและเห็นคุณค่าในชีวิต พร้อมพัฒนาระบบการแนะแนวในโรงเรียน

“วิชาแนะแนว” เป็นส่วนหนึ่งของการแนะแนวอาชีพในไทย ภายใต้การกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยโรงเรียนมีหลายรูปแบบ การจัดแนะแนวอาชีพจึงแตกต่างกันไปตามทรัพยากร ความสามารถ และแหล่งข้อมูลของโรงเรียน ซึ่งก็สอดคล้องความเห็นของครูอิง ที่สะท้อนว่าทุกวันนี้บทบาทของครูแนะแนวมีความหลากหลายตามบริบทของสถานศึกษา ทำให้บางครั้งบทบาทสำคัญของการบริการให้คำปรึกษาที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านอารมณ์หรือจิตใจของเด็กอาจถูกจำกัดด้วยระยะเวลา ทั้งที่แท้จริงแล้วการให้คำปรึกษาเป็นกระบวนที่สำคัญต่อนักเรียน ซึ่งต้องเริ่มจากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและนักเรียนจนเกิดความไว้วางใจที่จะปรึกษาเมื่อนักเรียนต้องการคำตอบ โดยไม่ชี้นำ ไม่ปิดกั้นความคิด จึงจะเกิดการร่วมมือกันจัดการปัญหาเพื่อให้พวกเขาสามารถพัฒนาตัวตนและรู้จักตัวเองได้

“ครูแนะแนวที่โรงเรียนมี 2 คน ดูแลเรื่องทุนและแนะแนวการศึกษาต่อ เพราะต้องสอนวิชาเอกด้วย และที่โรงเรียนไม่มีห้องแนะแนวที่ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก เพราะเป็นโรงเรียนเล็ก ไม่เหมือนโรงเรียนในเมือง โดยส่วนใหญ่เมื่อเด็กมีปัญหาจะเป็นครูประจำชั้นหรือครูที่สนิทดูแล ส่วนคาบเรียนแนะแนวก็มักถูกกิจกรรมในโรงเรียนเข้ามาแทรก ส่วนตัวมองว่าการมีห้องแนะแนวในโรงเรียนก็จำเป็น เพราะครูและห้องแนะแนวเป็นเซฟโซนที่รู้สึกปลอดภัย สบายใจ กรณีที่เด็กต้องการที่พึ่ง แต่ปัจจุบันการแนะแนวกลายเป็นเรื่องแนะแนวทุนการศึกษาหรือการสมัครเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลขาดการให้ความสำคัญกับวิชาแนะแนวกว่าโรงเรียนในเมือง จะให้ความสำคัญกับนโยบายมากกว่า”

สิ่งที่ครูอิงบอกเล่าเป็นภาพสะท้อน ปัญหาคลาสสิกของระบบการศึกษาไทย คือการขาดทรัพยากร แม้แต่เรื่องงบประมาณที่จะเข้ามาดูแลเยาวชน และยังทำให้เห็นว่าการแนะแนวไม่ใช่แค่การพูดถึงข้อมูลอาชีพเพียงอย่างเดียว แต่คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้นักเรียนซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติต่อไป โลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ไม่สิ้นสุด นั่นหมายถึงการปลูกฝังให้เด็กๆ มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“ช่วงที่ไปอบรมได้นำแผนมาปรับใช้ เช่น ตุ๊กตาขนมปัง เพื่อให้เด็กได้ทบทวนตัวเองรอบด้าน มีการสร้างข้อตกลงว่าจะทำตุ๊กตาขนมปังทุกปี เพราะนำมาเปรียบเทียบได้ว่าความคิดของเขาเปลี่ยนไหม เพราะโลกเดินไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอด ความฝันอาจจะเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ เหมือนกัน เราก็เก็บข้อมูลไว้ในแฟ้ม แต่ปัญหาคือโรงเรียนของเราสลับครูที่ปรึกษาตลอด ตุ๊กตาที่เก็บไว้ก็อาจไม่มีประโยชน์” ครูอิงอธิบาย

ในมุมมองที่มีต่อวิชาแนะแนวของผู้เรียนอย่าง “น้องน้อย” นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 ถ้าถามว่าวิชาแนะแนวยังจำเป็นอยู่ไหมคำตอบคือ “จำเป็น” และมีความสำคัญเป็นส่วนช่วยให้เด็กกำหนดอนาคตของตนเองได้

“วิชาแนะแนวที่โรงเรียนของหนูจะเป็นคาบสุดท้าย มีครูประจำชั้นดูแล ปัญหาที่เจอคือติดต่อครูยากมาก เพราะครูงานเยอะ ทำให้ต้องติดต่อไปที่ครูแนะแนวของโรงเรียน แต่ครูไม่รู้ข้อมูล เช่น บางครั้งไปศึกษาในเว็บไซต์แล้วไปถามครูก็ไม่ได้คำตอบ เพราะครูส่วนใหญ่เพิ่งบรรจุมาไม่มีข้อมูลให้ เจอแบบนี้รู้สึกวุ่นวายมาก ยิ่งช่วงนี้ ม.6 ต้องเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย จึงเกิดความไม่มั่นใจ เพื่อนบางคนตัดสินใจไม่ไปเรียนต่อแล้วก็มี สำหรับหนูคิดว่าคาบเรียนวิชาแนะแนวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรากำหนดอนาคตของตัวเองได้ จะได้ไม่สับสนว่าอยากเรียนอะไรกันแน่ มีห้องแนะแนวก็จำเป็นและไม่ควรมีกิจกรรมอะไรมาแทรกแซง”

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า “วิชาแนะแนว” ยังมีความสำคัญไม่แพ้ “ครูแนะแนว” ซึ่งโรงเรียนต้องมีไว้เพื่อให้นักเรียนได้อุ่นใจ ที่มีคนคอยให้คำแนะนำ เพื่อช่วยให้พวกเขารู้จักตัวเองและตอบคำถามได้ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร”