“มาตรฐานการศึกษาไทย” ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ผล PISA ปี 2565 นักเรียนไทยคะแนนร่วงในทุกทักษะ ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แพ้เพื่อนบ้านอาเซียนอย่างสิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ในทุกทักษะเช่นกัน ขณะที่ EF Education First สถาบันการศึกษาภาษาอังกฤษชื่อดัง สำรวจการใช้ภาษาอังกฤษ ปี 2566 ใน 113 ประเทศทั่วโลก เนเธอร์แลนด์ ครองอันดับหนึ่งอยู่ในระดับเชี่ยวชาญสูง ตามด้วยสิงคโปร์ ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 101 ต่ำกว่าเมียนมา และกัมพูชา ทำให้เกิดคำถามว่า ระบบการศึกษา การเรียนการสอน มีส่วนทำให้ “ทักษะภาษาอังกฤษ” ของคนไทยลดด้อยถอยหลังหรือไม่?

ครูธัญยมัย ขุนกลับ ครูผู้มีประสบการณ์สอนวิชาภาษาอังกฤษมากว่า 24 ปี ปัจจุบันยังสอนวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา ซึ่งมีมุมมองการสอนวิชาภาษาอังกฤษให้เหมาะกับการเรียนรู้ของนักเรียน รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาภาษาอังกฤษอย่างยั่งยืน

3 เหตุผลหลัก
เด็กไทยอ่อนภาษาอังกฤษ

อย่างแรกเลยคือ ภาษาอังกฤษถูกมองว่ายาก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ผู้ปกครองไม่มีทักษะภาษาอังกฤษ เช่น เวลาเด็กมีปัญหาไม่เข้าใจเนื้อหาวิชามาจากโรงเรียน หรือทำการบ้านวิชาภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ไม่มีใครอธิบายให้เข้าใจได้ จึงคิดว่าภาษาอังกฤษยากเกินไปสำหรับพวกเขา ลำดับต่อมา สังคมไทยไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน และลำดับสุดท้ายเป็นเหตุผลที่สำคัญมาก เด็กไม่เข้าใจว่าทำไมวิชานี้มีความสำคัญอย่างไร คือเรียนไปแล้วได้ประโยชน์อย่างไร?

ซึ่งในฐานะของครูจะต้องเข้าไปแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำให้เด็กใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์มากที่สุดหากคนที่บ้านไม่สามารถช่วยอธิบายได้เนื่องจากไม่มีความรู้ด้านภาษา ต่อมาครูจะต้องทำให้เด็กเข้าใจว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญอย่างไร ทั้งในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพในอนาคต และต้องปรับทัศนคติของนักเรียนที่มีต่อภาษาอังกฤษไปในเชิงบวก ด้วยวิธีการแทรกคำศัพท์ภาษาอังกฤษเมื่อพูดคุยกับนักเรียน พานักเรียนไปเข้าค่ายภาษาอังกฤษ หรืออาจจะพานักเรียนไปพบเจอกับคนต่างชาติ เพื่อทำให้นักเรียนเกิดทัศนคติที่ดีต่อการใช้ภาษาอังกฤษ

ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ
ไทยอยู่ในอันดับ 101 จาก 113 ประเทศ
อยู่ลำดับที่ 21 รั้งท้ายกลุ่มอาเซียน

เด็กไทยไม่ได้ด้อยภาษา อาจจะมาจากสถานการณ์โควิด เพราะนักเรียนไม่ได้เจอครูตัวต่อตัว ซึ่งสำคัญมากกับทักษะการอ่านและออกเสียง ต้องเรียนออนไลน์ ในขณะที่บางคนเจอปัญหาระบบอินเตอร์เน็ตไม่มีสัญญาณ ขณะที่ในห้องเรียนก็มีปัญหา นักเรียนบางคนมีทัศนคติในเชิงลบกับวิชาภาษาอังกฤษ แต่ก็คาดว่าปีหน้าคะแนนต้องดีขึ้น เพราะประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ต้องให้กำลังใจเด็กไทยและเชื่อมั่นในความสามารถ

“อาจมาจากช่วงโควิดนักเรียนไม่ได้เจอครู ทำให้มีผลกับวิชาภาษาอังกฤษ เพราะว่าหากจะพูดได้ต้องเริ่มจากการฟังเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับสำเนียงการออกเสียง เรียนรู้คำศัพท์ เรียนรู้ประโยค จากนั้นฝึกพูดตาม แต่เมื่อมีการเรียนออนไลน์ เด็กหลายคนก็เจอปัญหาด้านสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดี บางครอบครัวมีรายได้น้อยก็ไม่มีเงินค่าอินเตอร์เน็ต ครอบครัวเด็กบางคนว่างงานในสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เด็กไม่มาโรงเรียนเพื่อให้พ่อแม่มีภาระน้อยลง เป็นปัญหาที่ทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถเข้าถึงคุณภาพการศึกษาได้”

สำหรับวิธีแก้ปัญหากรณีเด็กมีทัศนคติเชิงลบกับวิชาภาษาอังกฤษ ครูธัญยมัย ยกตัวอย่างวิธีการแก้ปัญหาจากประสบการณ์ของตนเองโดยแนะนำว่า…จำเป็นต้องวิเคราะห์พฤติกรรมของนักเรียนเป็นอันดับแรก พยายามหาสาเหตุของการไม่ชอบภาษาอังกฤษของเด็ก สร้างความไว้วางใจพร้อมกับสร้างบรรยากาศห้องเรียนให้ผ่อนคลาย สนุกสนาน เลือกใช้สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยเหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กในยุคใหม่ ขณะที่การวัดผลก็ต้องพิจารณาไปตามความสามารถของเด็ก แต่ไม่ทิ้งตัวชี้วัดที่เป็นแกนของหลักสูตร ที่สำคัญครูต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

“เด็กบางคนไม่ชอบเพราะคิดว่ายาก อ่านไม่ออก พอถึงคาบเรียนก็ไม่สนใจ นั่งเหม่อลอย บางคนหนีเรียน ครูต้องรีบแก้ปัญหา ตรวจสอบว่าเด็กแต่ละคนมีพฤติกรรมอย่างไร ชอบเรียนแบบไหน เช่น เด็กในห้องเรียนของครูจะรู้สึกผ่อนคลายเวลาทำกิจกรรมที่ต้องทำเป็นคู่กับเพื่อน ครูก็จะใช้วิธีจัดการเรียนการสอนแบบให้ทำงานเป็นคู่ สร้างบรรยากาศห้องเรียนให้ผ่อนคลาย ใช้สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยเหมาะสมกับเด็กในยุคใหม่ ผลลัพธ์ที่ออกมาเด็กมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเชิงบวก เข้ามาเรียนมากขึ้น”

ใช้ “เทคโนโลยี” มาช่วยเติมทักษะ
การเรียนภาษาอังกฤษให้กับเด็กไทย

เทคโนโลยีในยุคนี้มีมากมาย ในสมัยก่อนถ้าต้องการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษสักเล่มต้องเดินไปร้านหนังสือ แต่ยุคนี้แตกต่างออกไปเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท เด็กต้องได้รับการสนับสนุนให้สามารถหาความรู้จากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียม ขณะเดียวกันในโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนห่างไกลก็ควรเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างครอบคลุม เช่น ห้องเรียนภาษาอังกฤษผ่าน E-learning ซึ่งในปัจจุบันทางโรงเรียนที่ครูธัญยมัยสอนอยู่ก็ได้นำเข้ามาช่วยครูและเด็กๆ ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้มีคุณภาพมากขึ้น

นั่นก็คือ สื่อดิจิทัลภาษาอังกฤษ “วินเนอร์อิงลิช” โดย บริษัท เอ็ดดูเทค อินโนเวชั่น จำกัด หนึ่งในภาคีเครือข่ายโครงการร้อยพลังการศึกษา โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ ซึ่งได้ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ E-learning แบบครบวงจรทั้ง ฟัง พูด อ่าน เขียน และไวยากรณ์ สามารถเรียนตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปถึงการใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยคุณครูในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย ให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วและมีประสิทธิภาพ สะท้อนผ่านเสียงของนักเรียนที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วยให้การเรียนภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

“น้องเบล” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เด็กหญิงผู้มีความฝันในเส้นทางอาชีพล่ามภาษา เพราะความชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิม เมื่อมีห้องเรียนภาษาอังกฤษผ่าน E-learning ก็ยิ่งได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษมากขึ้น

“ภาษาอังกฤษมีความสำคัญมากทำให้เรามีโอกาสในอาชีพที่หลากหลายในอนาคต ซึ่งหลังได้เรียนภาษาอังกฤษของโปรแกรมวินเนอร์อิงลิช ก็ทำให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เช่น ได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ฝึกการฟัง การออกเสียง คะแนนในวิชาภาษาอังกฤษดีขึ้นมาก ซึ่งการเรียนภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องใช้เวลาฝึกฝน และเปิดใจ”

“น้องแบงค์” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้เรียนโปรแกรมวินเนอร์อิงลิช ทำให้พัฒนาการด้านไวยากรณ์ดีขึ้น ซึ่งการเรียนภาษาอังกฤษการเข้าใจไวยากรณ์สำคัญแต่ไม่สำคัญเท่ากับการสื่อสารให้รู้เรื่อง

“ผมชอบบทเรียนแกรมมาในโปรแกรมวินเนอร์อิงลิช ทำให้คะแนนของผมออกมาดีมาก แต่การใช้ไวยากรณ์ในภาษาอังกฤษสำคัญแต่ไม่เท่ากับการที่เราสามารถสื่อสารให้เข้าใจ และนอกจากมีเทคโนโลยีมาช่วยให้เรามีพัฒนาการด้านภาษาดีขึ้น ผมยังมองว่าครูก็มีส่วนสำคัญ ถ้าได้เรียนกับครูที่เข้าใจนักเรียน สร้างบรรยากาศที่ดีในการสอน ครอบครัวที่ให้การสนับสนุน จะช่วยกระตุ้นให้เรามั่นใจและอยากพัฒนาด้านภาษา”

“น้องภา” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อธิบายความแตกต่างก่อนและหลังได้เรียนโปรแกรมวินเนอร์อิงลิชสิ่งที่เห็นชัดเจนคือได้เรียนรู้ “คำศัพท์” ใหม่มากขึ้น 

“คำศัพท์ที่ครูสอนอาจเป็นคำเดิมๆ แต่พอเรียนโปรแกรมวินเนอร์อิงลิชได้คำศัพท์ใหม่ๆ มากขึ้น ได้ฝึกการออกเสียง ทำให้มั่นใจเวลาสื่อสารกับครู หรือต้องสื่อสารกับคนต่างชาติ ส่วนผลการเรียนก็ทำออกมาได้ดี จาก 3.5 ขึ้นมาเป็นเกรด 4”

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า… การยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในประเทศไทย เพื่อให้เด็กทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีการเรียนออนไลน์ และการปรับการเรียนการสอนแบบใหม่มีความสำคัญ อย่างที่มูลนิธิฯ ได้ขยายภารกิจในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนขาดโอกาสเพิ่มขึ้น ผ่านโครงการต่างๆ จากการดำเนินงานโดยตรงและการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการขยายผลและสร้างผลลัพธ์ที่ดี เพราะเราเชื่อว่าระบบการศึกษาที่ดีต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม