หลายคนมักจะคิดว่า…สำหรับคนที่มีโอกาสน้อย ความสำเร็จช่างเป็นเรื่องยาก… แต่ความสำเร็จของใครหลายคนบนโลกใบนี้ได้ยืนยันแล้วว่า ความสำเร็จเป็นของขวัญสำหรับทุกคนที่มีความตั้งใจและทุ่มเทจริงๆ เพื่อสิ่งนั้น

“ฉันจะต้องสร้างชีวิต ที่ดีกว่าด้วยตัวของฉันเอง”

ลิซ เป็นเด็กข้างถนน ไร้ที่อยู่อาศัย เธอเกิดในปี ค.ศ. 1980 ก่อนหน้านั้น เธออาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งติดยาเสพติดและพี่สาว ในอะพาร์ตเมนต์เก่าๆ ไม่มีแม้ความสะอาด ในย่านชุมชนแออัด เขตบร็องซ์ รัฐนิวยอร์ก เธอเคยไม่มีเงินแม้แต่เพนนีในกระเป๋า (เพนนี คือ หน่วยเงิน : 1 เพนนี เท่ากับ 43 สตางค์)

เมื่ออายุ 9 ขวบ เธอหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการตระเวนขออาหารตามร้านชำ ขณะที่พ่อและแม่เสพโคเคนอยู่กับบ้าน เมื่ออายุ 15 ปี พ่อของเธอย้ายเข้าไปอยู่สถานพักพิงสำหรับผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ส่วนแม่เสียชีวิตลงเพราะติดเชื้อเอดส์ ลิซจึงกลายเป็นเด็กข้างถนน กลางคืนเธอใช้วิธีแอบงีบหลับบนม้านั่งยาวในสวนสาธารณะ สถานีรถไฟใต้ดิน หรือถ้าโชคดีก็ได้นอนโซฟาบ้านเพื่อน

ในวันฝังศพแม่ ลิซยืนดูอยู่ห่างๆ ด้วยความอนาถใจ ร่างของแม่ถูกใส่ในโลงกระดานไม้อัด แม้แต่ป้ายหน้าหลุมศพก็เขียนด้วยปากกาเคมี เธอเริ่มครุ่นคิดถึงอนาคตของตัวเอง บางคนอาจท้อแท้กับชีวิต บางคนอาจใช้เป็นข้ออ้างที่จะเลือกทำผิด แต่ลิซใช้ความล้มเหลวของพ่อแม่เป็นเครื่องเตือนใจ ถ้าเธอใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมาย อนาคตของเธอคงไม่ต่างจากผู้ให้กำเนิด เธอตั้งปณิธานว่า… เธอจะต้องสร้างชีวิตที่ดีกว่าด้วยตัวเอง

การศึกษาเท่านั้น
ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิต

แรงบันดาลใจ คือ พลังให้เราไขว่คว้าความสำเร็จ

ลิซมีเพื่อนต่างวัยคนหนึ่ง เขามอบหนังสือสารานุกรมเก่าๆ ชุดหนึ่งให้เป็นของขวัญ ลิซหยิบขึ้นมาพลิกดูภาพประกอบอย่างสนใจทุกครั้งที่มีเวลา อยากรู้ว่าตัวอักษรที่บรรยายใต้ภาพบอกอะไรบ้าง ไม่นานเพื่อนคนนั้นได้ซื้อตั๋วพาลิซไปทัวร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สิ่งที่ได้พบเห็นสร้างแรงบันดาลใจให้ลิซอยากเรียนหนังสือ และตั้งความหวังว่าสักวันหนึ่งเธอจะต้องเข้ามายืน ในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้ได้หลังกลับจากทัวร์ลิซตัดสินใจสมัครเข้าเป็นนักเรียนในโปรแกรมพิเศษสำหรับผู้ด้อยโอกาส เธอทุ่มเทเพื่อการเรียนอย่างมุมานะและบริหารเวลาอย่างเป็นระบบ เพราะต้องทำงานเลี้ยงชีพ พร้อมกับการลงวิชาเรียนเป็นสองเท่าของเพื่อนร่วมชั้น เธอทำถึงขนาดเอาหนังสือเรียนห้อยติดผนัง และอ่านไปด้วยขณะรับจ้างล้างจานในเวลาเพียงสองปี ลิซสามารถสอบข้ามชั้นแบบก้าวกระโดด จนไล่ทันเพื่อนวัยเดียวกัน และอีกสองปีเธอจบไฮสกูล (ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย) ได้สำเร็จ พร้อมเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ครูที่ รับผิดชอบการเรียนของลิซเอ่ยชมว่า เธอเป็นนักเรียนที่ตั้งใจที่สุดเท่าที่เห็นมา

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไม่ได้รับเด็กทุกคนที่จบไฮสกูล

ถ้าดูพื้นฐานครอบครัว ประวัติการศึกษา และเงินออมที่เตรียมไว้เพื่อการศึกษา โอกาสที่คณะกรรมการของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะคัดเลือกเธอเข้าเป็นนักศึกษาแทบจะเป็นศูนย์ แต่ลิซไม่ยอมแพ้ เธอสมัครชิงทุนการศึกษาทุกแห่งที่ทำได้

วันหนึ่งเธอทราบว่า หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ มีโครงการมอบทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนที่เรียนดี จำกัดเพียงหกทุนเท่านั้น โดยจะส่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เธอจึงมุมานะเรียนหนักขึ้นเพื่อจะชิงทุน เป็นความฝันที่สูงมากสำหรับเด็กข้างถนน การเรียนหนังสือโดยใช้ริมถนนนิวยอร์กเป็นโต๊ะเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย การชิงทุนการศึกษาเดอะนิวยอร์กไทมส์ ยิ่งยากเย็นแสนเข็ญ โดยเฉพาะสำหรับเด็กด้อยโอกาสอย่างเธอ ต้องใช้ความมุ่งมั่นและกำลังใจแรงกล้าที่จะฝ่าอุปสรรคจากประโยคที่ว่า “เรียนไปทำไม ยังไงก็ไม่มีอะไรดีขึ้น”

บ่อยครั้งเธอต้องนอนบนขบวนรถไฟจากเขตเดอะบรองซ์ แต่เธอไม่ทิ้งการเรียน เมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กวุ่นวายเกินกว่าจะมีใครก้มลงมองเด็กจรจัดข้างถนนคนหนึ่ง ในฤดูหนาว สภาพแวดล้อมยิ่งทารุณ เมื่อป่าคอนกรีตปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ไม่ใช่สวรรค์สำหรับคนจรจัดแน่นอน แต่เธอก็ยังฮึดสู้ต่อไป เธอบอกว่า “ฉันต้องการมากเหลือเกินที่จะประสบความสำเร็จ เข้าเรียนฮาร์วาร์ดด้วยเงินทุนจากเดอะนิวยอร์กไทมส์ สิ่งที่ต้องการคือความศรัทธานิดหน่อยและการลงมือทำ”

เมื่อรู้ตัวอีกครั้งเธอกำลังนั่งอยู่ในห้องพักของเธอที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่ออายุสิบเก้าปี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้เปิดประตูต้อนรับเด็กสาวจากกองขยะให้เข้าศึกษาต่อทางด้านจิตวิทยาคลินิกภายหลังเธอเล่าความรู้สึกขณะนั่งในหอพักนักศึกษาวันนั้นว่า “…ความเปล่าเปลี่ยวเฆี่ยนตีฉันอย่างหนัก มันไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านที่ง่ายดายเลย” ในที่สุดเธอก็สานฝันสำเร็จระหว่างการศึกษา ลิซใช้เวลาว่างเดินทางไปบรรยายตามแหล่งสลัม เพื่อให้เด็กวัยรุ่นได้เห็นตัวอย่างว่า แม้จะเป็นเด็กจรจัดไร้ที่พักพิง ไม่มีเงิน กินอาหารจากกองขยะ ทุกคนอาจมีชีวิตที่ดีได้ถ้าตั้งใจจริง

ได้อะไรจากเรื่องราวของลิซ เมอร์เรย์

– ลิซ กล่าวว่าเธอไม่รับพรจากนางฟ้าองค์ใด ความสำเร็จเกิดจากการมีเป้าหมายชีวิตที่แน่นอน เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองบวกกับความอุตสาหะ

– อย่ามัวแต่มองคนอื่นและคิดว่าพวกเขาทำได้ เพราะเขามีบางอย่างเหนือคุณ มนุษย์ทุกคนมีเท่ากัน เพียงแต่จะใช้สิ่งที่มีให้เกิดประโยชน์เต็มร้อยหรือไม่ คุณต้องเชื่อว่าอนาคตอยู่ในกำมือของคุณ และคุณเป็นผู้กำหนดเอง

– เธอบอกว่า “ฉันอยากให้คุณมองภาพกว้าง เราทุกคนเชื่อมโยงกัน มันเป็นวงจร ผู้คนสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตผู้คน ความฝันที่ปราศจากการเกื้อหนุนก็เหมือนเครื่องบินไร้ปีก… ฉันอยากให้วิสัยทัศน์ของฉันเป็นตัวกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในโลก”

– เธอพยายามบอกให้คนอื่นหัดมองว่า ต่อให้ชีวิตทนทุกข์ทรมานเพียงไร จงอย่าสิ้นหวัง “เมื่อทุกข์ทรมาน ฉันต้องมองว่าสิ่งต่างๆ สามารถที่จะไม่เหมือนเดิมได้ ฉันเริ่มไขว่คว้าคุณค่าของบทเรียน ซึ่ง ฉันเรียนจากการอาศัยอยู่ตามข้างถนน”

– ครั้งหนึ่งเธอพูดให้คนอื่นฟังว่า “เหตุผลที่ฉันกำลังยืนที่นี่ต่อหน้าพวกคุณในวันนี้ก็เพราะฉันเลือก “ทางสายบน ซึ่งเป็นทางสายที่ทุกคนเลือกได้” คนบางคนสามารถสร้างชีวิตจากศูนย์ บางคนสร้างจากชีวิตติดลบ และบางคนไม่ยอมสร้างอะไรเลยจากสิ่งที่มีมากมาย บางทีความแตกต่างของทางสายบนกับทางสายล่างอยู่ที่การมองเห็นคุณค่าชีวิตของตัวเองหรือไม่

ชีวิตของ ลิซ เมอร์เรย์ ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ เรื่อง Homeless to Harvard

ภาพประกอบ
https://dribbble.com/shots/5772378-Homeless-to-Harvard-The-Liz-Murray-Story