เคยเป็นไหม เวลาคำนวณตัวเลขทีไรต้องปวดหัวทุกที อะไรที่เกี่ยวกับ “คณิตศาสตร์” สำหรับใครหลายคนน่าจะเป็นเหมือน “ยาขม” นำไปสู่การหลีกหนีเรื่องเกี่ยวกับตัวเลขชวนกุมขมับ ยิ่งถ้าเป็นวิชาเรียนแล้ว อาจเป็นเรื่องสนุกและท้าทายสำหรับเด็กนักเรียนบางคน แต่อาจจะเป็นประสบการณ์ที่ให้ความรู้สึกตรงกันข้ามสำหรับเด็กนักเรียนคนอื่น

เด็กๆ หลายคนโหวตให้วิชาคณิตศาสตร์เป็นอันดับต้นๆ ที่ไม่ชอบมากที่สุด อาจเพราะคณิตศาสตร์มักถูกมองว่าเป็นวิชาที่มีเพียงคำตอบที่ “ถูก” หรือ “ผิด” เท่านั้น แถมวิชานี้ก็ยังต้องเพิ่มทักษะไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ ทั้งบวก ลบ คูณ หาร และอื่นๆ ตามมามากมาย

กับบางคนเห็นโจทย์เลขทีไรรู้สึกกดดัน เหงื่อออกขึ้นมาทันที อาการแบบนี้เกิดจากความรู้สึกกลัวและกังวล หรือ ที่เรียกว่า “อาการกลัวคณิตศาสตร์” หรือ Math Anxiety ตามข้อมูลของ oxfordlearning อาการนี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในห้องเรียนและชีวิตประจำวัน โดยที่บางทีเราอาจไม่รู้ตัว ซึ่งอาจไม่ใช่การไม่มีความสามารถในการแก้โจทย์เลข แต่เป็นภาวะทางจิตอย่างหนึ่ง เพราะอย่าลืมว่าเด็กบางคนต้องแบกความกดดันและคาดหวังจากครอบครัว รวมไปถึงคนรอบข้างอีกด้วย

ข้อมูลจาก Oxfordlearning ยังพูดถึงอาการวิตกกังวลทางคณิตศาสตร์ ที่มีอาการแตกต่างกันออกไป เช่น ประหม่าผิดปกติเมื่อทำหรือคิดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ หรือแม้แต่การคิดแต่เรื่องคณิตศาสตร์ก็เพียงพอที่จะทำให้นักเรียนเกิดความเครียดได้ มีพฤติกรรมเฉยเมย นักเรียนบางคนอาจกลัวความล้มเหลวมากเกินไป หรือแค่คิดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ก็ทำให้เกิดอารมณ์ด้านลบมากมาย จนไม่เต็มใจแม้แต่จะพยายาม มีความรู้สึกของการอยู่คนเดียว หรือนักเรียนรู้สึกว่าเป็นคนเดียวที่ไม่สามารถหาคำตอบได้

พวกเขาจะเริ่มเชื่อตัวเองไม่เก่งคณิตศาสตร์โดยธรรมชาติ และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ดังนั้นจึงล้มเลิกความพยายามที่จะปรับปรุง ขาดความมั่นใจ ตื่นตระหนกระหว่างการทดสอบหรือเมื่อถูกเรียกให้ตอบคำถาม สุดท้ายห้องเรียนก็กลายเป็นแหล่งความเครียดสำหรับนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขากำลังทำการทดสอบหรือการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด หากใครที่เคยดู “ซีรีส์ Crash Course in Romance”  ทางสตรีมมิ่ง Netflix ซีรีส์ที่ตีแผ่ระบบการศึกษาในเกาหลีใต้ได้อย่างครบรส ปรุงแต่งและถูกถ่ายทอด ทั้งที่เกิดจากภาวะกดดันจากครอบครัว สังคม เรื่องราวการแข่งขันที่ดุเดือด ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา เจาะลึกวงการติวเตอร์ อาชีพที่ใครๆ ก็อยากเป็น ผ่านตัวละครเอกอย่าง “ชเวชียอล” ครูติวเตอร์คณิตศาสตร์ระดับท็อปของประเทศ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในวงการศึกษา ทำให้เห็นภาพอย่างหนึ่งว่า วิชาคณิตศาสตร์ คือวิชาที่เด็กและพ่อแม่ส่วนใหญ่เป็นกังวลมากที่สุด

บางช่วงบางตอนของซีรี่ส์ ติวเตอร์ตัวท็อปได้ให้กำลังใจเด็กนักเรียนในคลาส สื่อถึงการที่เด็กรู้สึกกลัวคณิตศาสตร์ไม่ใช่เพราะว่าไม่สามารถแก้โจทย์เลขได้ เพียงแต่ความกลัวความผิดพลาดและต้องการทำออกมาให้ดีเท่านั้นเอง จากความคาดหวังในตนเองหรือความกดดันจากการถูกเปรียบเทียบกับคนรอบข้างก็ตาม

Crash Course In Romance

เรื่องราวในซีรีส์ไม่เพียงสะท้อนการศึกษาภายในประเทศเกาหลีใต้ แต่ยังสะท้อนความเป็นจริงของระบบการศึกษาทั่วโลก ในขณะที่ประเทศไทยเองก็เช่นกัน ผู้ปกครอง ครอบครัว สังคม ยังมีค่านิยมว่าต้องเรียนคณิตศาสตร์ แก้โจทย์เลขยาก ๆ ได้แล้วจะเป็นเด็กเรียนเก่ง ค่านิยมด้านการศึกษาของประเทศไทยซึ่งก็รวมถึงหลาย ๆ ประเทศที่ผลักให้เด็กต้องเรียนพิเศษอย่างหนักเพื่อสามารถเรียนวิชาคณิตศาสตร์ได้เก่ง ๆ

หากมองในมุมของเด็ก การกดดันเรื่องเรียนมากเกินไป เป็นเหมือนกรอบที่จำกัดทั้งตัวตนและความเป็นอิสระ ส่งผลเสียตามมา ไม่ว่าจะเป็น ไม่มีความสุขกับการเรียน  ผลการเรียนตก ความคิดและพฤติกรรมเปลี่ยนไป มีความเครียดสะสม มีอาการซึมเศร้า

ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา ก็คือ “การสอบ” จากที่เพื่อวัดผลและเลื่อนชั้น กลายเป็น “สนามการแข่งขัน” ที่ดุเดือดระหว่างนักเรียน ครอบครัว ไปจนถึงสถาบันการศึกษาด้วยกันเอง สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ข้อสอบต่างๆ คือ “ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” คนที่มีโอกาส มีทรัพยากรเยอะกว่าจะได้รับโอกาสและความได้เปรียบทางการศึกษามากกว่าคนที่มีฐานะยากจน อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีทรัพยากรน้อย

ซีรีส์ Crash Course In Romance คือภาพสะท้อนปัญหาของระบบการศึกษาในเกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งอาจไม่ต่างอะไรกับระบบการศึกษาไทยที่เป็นเหมือนสังคมแห่งการแข่งขัน การต้องเอาตัวรอดและต้องอยู่กับความวิตกกังวล และนอกจากการเรียนวิชาคณิตศาสตร์อาจทำให้เกิดอารมณ์ด้านลบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสภาพจิตใจและความสามารถในการแสดงออกของเด็กนักเรียน ยังส่งผลทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ และความสามารถด้านอื่น ที่สำคัญเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็กๆอย่างน่าเสียดาย

ทุกวันนี้การศึกษาเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน เเต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่เเละยังไม่เปลี่ยนไปคือ “ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” ส่งผลทำให้เด็กจำนวนมากเข้าไม่ถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ดังนั้นจึงต้องอาศัยพลังจากหลากหลายภาคส่วนมาร่วมกันพัฒนาการศึกษา โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ ยังคงมุ่งหวังและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างและส่งต่อโอกาส พร้อมพัฒนาการศึกษาให้เกิดพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างเด็กดีสู่การเป็น “คนคุณภาพ” ของสังคม ซึ่งทุกคนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของในการสร้างโอกาสทางการศึกษาได้เช่นกัน